วันนี้ (10 พ.ย.2566) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบเพิ่มเติมโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือน วงเงิน 56,321.07 ล้านบาท มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2566/67 ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร 4.68 ล้านครัวเรือน ระยะเวลาโครงการตั้งแต่ 1 ต.ค2566 - 30 ก.ย.2567
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.)
สำหรับการให้เงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาทกระทรวงพาณิชย์จะเสนอเพื่อขออนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันอังคารที่ 14 พ.ย.นี้ และเริ่มจ่ายเงินให้ชาวนาให้ได้ภายในเดือน พ.ย.2566
ปีหน้าจะยกเลิกเงินจ่ายขาด ช่วยชาวนา 1,000 บาทแบบเดิม แต่ละปรับรูปแบบ เน้นการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าผลผลิตแทน โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปคิดวิธีการมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ครม.ไฟเขียวออก 2 มาตรการอุ้มชาวนาพยุงราคาข้าว
"สมคิด" เผย ครม.จ่อถกมาตรการดึงราคาข้าวช่วยชาวนา
นายภูมิธรรม กล่าวต่อว่า นบข.ได้เห็นชอบตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา ในโครงการสินเชื่อชะลอขายข้าวเปลือกนาปี 2566/2667 ได้แก่
- เห็นชอบราคารับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิสด ความชื้นไม่เกินร้อยละ 25 จะให้สินเชื่อตันละ 12,000 บาท และให้ค่าเก็บรักษาคุณภาพ ระยะเวลา 5 เดือน ตันละ 1,500 บาท
ดังนั้น หากเกษตรกรที่เก็บรักษาผลผลิตด้วยตัวเองจะได้เงินสินเชื่อ 13,500 บาทต่อตัน แต่กรณีชาวนาไม่มีที่เก็บต้องไปฝากสถาบันเกษตรหรือสหกรณ์ช่วยเก็บให้ สหกรณ์จะได้เงิน 1,000 บาท ส่วนเกษตรกรได้ 500 บาท โดยมีเป้าหมายดูดซับเปลือกหอมมะลิ ประมาณ 3,000,000 ตัน - โครงการสินเชื่อสถาบันการเกษตร เข้าไปแทรกแซงตลาดหรือแย่งซื้อข้าวเปลือกในราคานำร่อง สำหรับข้าวเปลือกหอมมะลิความชื้นไม่เกินร้อยละ 25 ตันละ 12,200 บาท เพื่อให้สูงกว่าราคาตลาดและเมื่อนำมาซื้อและขายได้แล้วจะต้องแบ่งกำไรให้กับชาวนา ตันละ 200-300 บาท เป้าหมายดูดซับ 1,000,000 ตัน
โดยทั้ง 2 โครงการใช้งบประมาณจ่ายขาด 10,600 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นสินเชื่อ 44,437 ล้านบาท ซึ่งในส่วนแรก ดอกเบี้ย ธ.ก.ส. รัฐบาลช่วยจ่าย แต่ในโครงการที่ 2 ดอกเบี้ยร้อยละ 4.50-4.85 รัฐบาลจะช่วย ชดเชยร้อยละ 3.50-3.85 ขณะที่สถาบันการเงินจะชดเชยให้ร้อยละ 1 ซึ่ง 3 โครงการ คิดเป็นวงเงินรวม 66,000 ล้านบาท
อ่าน : ไทยส่งออกข้าวเพิ่ม 10% ยังติดหล่มพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ช้า