วันนี้ (16 พ.ย.2566) นายสุทธิพงษ์ แกมทับทิม ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (สาขาสระบุรี) พร้อมทีมเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าลพบุรี จำนวน 16 คน ทีมสัตวแพทย์ สัตวบาล นำอุปกรณ์จับ “อิกัวนาเขียว” โดยใช้สารพัดวิธี ทั้งแหดัก บ่วงคล้อง ปีนต้นไม้สูงและนำพืชผัก เช่น กวางตุ้งกะหล่ำ ผักกาดขาวและอาหารเป็ด มาใช้เป็นเหยื่อล่อ
จุดแรก บ้านเลขที่ 209 บ้านห้วยบง ซอย 15 อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี จุดนี้ชาวบ้านบอกว่ามีอิกัวนาหลายรุ่น มากกว่า 30-40 ตัว อาศัยอยู่บนต้นไม้ ท้องร่องและตามชายน้ำ ซึ่งจุดนี้บนต้นมะขามที่สูงกว่า 20 เมตร พบมีอิกัวนานอนตามกิ่งไม้หลบแดดถึง 6 ตัว มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่
เจ้าหน้าที่ต้องปีนขึ้นไปและใช้ห่วงคล้อง ถือว่าค่อนข้างยากและใช้เวลาไล่จับตัวอิกัวนานานเกือบครึ่งชั่วโมง เนื่องจากอิกัวนามีความไว สามารถกระโดดไปตามกิ่งไม้ กระโดดลงน้ำและวิ่งหนีไปอย่างรวดเร็ว โดยตัวแรกที่เจ้าหน้าที่จับได้พบว่ามีลำตัวยาวจากหัวจรดหางเกือบ 1 เมตร น้ำหนักคาดว่าเกือบ 10 กก.และปราดเปรียว จากนั้นเจ้าหน้าที่ใช้สายรัดขาไพร่หลังเพื่อไม่ให้ดิ้นไปมา โดยวันนี้มีการเตรียมกรงเหล็กใส่สัตว์ประมาณ 5 กรงเพื่อจับอิกัวนาและจะนำไปไว้ที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 1 นครนายก
ด้านนายสุทธิพงษ์ ยอมรับว่าเป็นภารกิจที่ค่อนข้างยาก แต่ได้มีการประยุกต์ใช้จากการจับตัวเงินตัวทองและสัตว์เลื้อยคลานชนิดอื่นๆ แต่อิกัวนามีขนาดเล็กกว่า ทำให้ต้องใช้ความระมัดระวัง เนื่องจากอิกัวนามีเชื้อซาโมเนลลา เชื้อโรคอื่นปะปน เจ้าหน้าที่ต้องใช้ถุงมือยางและถุงมือหนังอย่างหนา ป้องกันหนามบริเวณลำตัว เล็บและป้องกันการแว้งกัด
เบื้องต้นจะต้องทำความเข้าใจกับชุมชนในพื้นที่ถึงปัญหาว่าต้องจับออก ยังไม่สามารถกำหนดระยะเวลา เพราะจากรายงานพื้นที่นี้มีประชากรค่อนข้างเยอะ เฉพาะบ้านหลังแรก ต้นมะขามต้นเดียวมีเกือบ 10 ตัวและมีขนาดต่างกัน
เมื่อถามว่าหากชาวบ้านต้องการให้พัฒนาเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศเป็นไปได้หรือไม่ นายสุทธิพงษ์ ระบุว่า ตามหลักกฏหมายไม่สามารถทำได้ เนื่องจากสัตว์ชนิดนี้อยู่ในบัญชีสัตว์ควบคุมของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน หรือเอเลียนสปีชีส์ ในบัญชี 3 ซึ่งเคยเป็นปัญหาในต่างประเทศ เช่น รัฐฟลอริดา มาแล้ว
อ่านข่าว : รู้จัก "อิกัวนาเขียว" เอเลียนสปีชีส์ เบอร์ต้น
ส่วนของไทย หลังจากนี้จะมีทีมนักวิชาการเข้ามาประเมินความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้อาจต้องตรวจสอบว่าฟาร์มที่เคยเพาะเลี้ยงอิกัวนาในพื้นที่ จ.ลพบุรี และใกล้เคียงยังประกอบการอยู่หรือไม่ เพราะอาจเป็นแหล่งที่ปล่อยอีกัวหน้าออกมา ซึ่งเอเลียนสปีชีส์ หากปล่อยไว้อาจจะกระทบกับสิ่งแวดล้อมและผลผลิตการเกษตรของชุมชนในอนาคต พร้อมยอมรับว่ายังไม่สามารถรู้จำนวนประชากรอิกัวนาที่ระบาดในพื้นที่ว่ามีมากน้อยแค่ไหน ต้องส่งทีมเข้าสำรวจและทยอยจับออก
ชาวบ้านบอกเห็นมานาน กัดกินพืชสวนครัวเสียหาย
นายสมศักดิ์ ยิ้มเนียม ชาวบ้านห้วยบง ซอย 15 ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม บอกว่า อยู่ที่นี่มา 10-20 ปี พบอิกัวนา 40-50 ตัว อาศัยอยู่ตามต้นกามปู ต้นมะขาม ต้นมะม่วงและแหล่งน้ำ มักมากัดกินผัก เช่น พริก มะเขือ ถั่วฟักยาว หน่อไม้ ที่ปลูกไว้ขาย ส่วนใหญ่จะลงมาหากินตอนช่วงเช้าและเย็น
นายสมศักดิ์ เชื่อว่า จับอิกัวนาในพื้นที่อย่างไรก็ไม่หมด เพราะมีประชากรมาก โดยเฉพาะช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. ลูกอิกัวนาจะฟักจากไข่จำนวนมาก แต่ไม่เคยพบว่าทำร้ายคน หากไม่ไปจับตัว
มันก็น่ารัก แต่ก็กินผัก กินพริก มะเขือ ที่ปลูกไว้หมด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กองทัพ "อิกัวนา" บุกลพบุรี เก็บขี้หาเชื้อโรค-ใครปล่อยโทษ 6 เดือน
อุทยานฯ ประกาศจับ "อิกัวนา" ก่อนนิเวศพัง พบ 3 พิกัดปชก.พรึ่บ
เมื่อก่อนเคยเท่ ตอนนี้โดนเท จากใจคนเคยเลี้ยง "อิกัวนา"
สมาคมผู้นิยมสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ คาดอีกัวนา "หลุด" สู่ธรรมชาติ ไม่ใช่การปล่อย