รศ.ดร.รัชดา เครสซี่ ผู้ช่วยคณบดี คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิดเผยว่าโครงการนับหนึ่งต้องการให้ผู้ที่สงสัยว่าตัวเองจะติดเชื้อไม่ว่าจะเป็น HIV หรือ ซิฟิลิส สามารถจะไปรับการตรวจได้ด้วยตัวเอง โดยเฉพาะกลุ่มที่เราเป็นห่วงมากๆ ก็คือกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15 ถึง 25 ปี ที่อาจจะไปมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายเสี่ยงที่จะติดเชื้อ และ ต้องการการตรวจยืนยัน แต่อาจจะไม่พร้อมที่จะไปทำในสถานบริการทางการแพทย์
โดยในปัจจุบันการติดเชื้อ HIV อาจจะไม่ค่อยมีคนพูดถึงกันมากนัก แต่ทราบหรือไม่ว่าปีที่มา จำนวนคนที่ติดเชื้อHIV รายใหม่ มีมากถึง 9,000 คน และ ในปีที่ผ่านมาก็มีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อ HIV ถึง 10,000 คน โรคนี้จึงยังเป็นปัญหาอย่างต่อเนื่องขณะที่กระทรวงสาธารณสุขก็มีเป้าหมายว่าในปี 2573 เราตั้งเป้าให้โรคนี้หายไป คือมีอุบัติการณ์การตายที่น้อยกว่า 4,000 คน โครงการนับหนึ่งของเราจึงจะเป็นโครงการหนึ่งที่จะช่วยให้ประเทศของเราไปถึงจุดเป้าหมายได้
สำหรับช่วงทางการตรวจในโครงการนี้ ทำได้ 2 ช่องทาง ก็เข้ามาตรวจที่ศูนย์บริการคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ สมัครผ่านทางออนไลน์ผ่านเว็บไซด์ https://www.napneung.org/th
ทางโครงการจะส่งชุดตรวจไปให้ถึงที่บ้าน พร้อมมีคลิปวิดีโอสาธิตการตรวจด้วยตัวเอง พร้อมกับการอ่านผลที่สามารถทำคนเดียวที่บ้านได้
โรคเอดส์เป็นปัญหามานาน เราใกล้ที่จะสามารถควบคุมมันได้ เพียงแต่จะต้องทำให้ผู้ติดเชื้อไม่เกิดความรู้สึกว่าเขาจะต้องปิดบัง และ สามารถที่จะเข้ารับการดูแล และ ได้รับคำแนะนะในการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง
Jonathan Brenes จากมูลนิธิยูนุสประเทศไทย ระบุว่า การรณรงค์วันเอดส์โลกปีนี้ คือ Let communities lead “ถึงเวลาให้ชุมชนนำทางมุ่งสู่การยุติเอดส์” การตรวจคัดกรองโดยศูนย์บริการชุมชนมีประสิทธิภาพดีมากที่ทำให้ตรวจพบการติดเชื้อ เอช ไอ วี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แต่เนิ่นๆ เราคิดว่านวัตกรรมการตรวจคัดกรองแบบโครงการนับหนึ่ง น่าจะขยายผลไปทั่วประเทศไทย ซึ่งสามารถทำให้ตรวจพบการติดเชื้อได้โดยเร็ว
มูลนิธิยูนุสประเทศไทย จึงเสนอแนวทางในการทำธุรกิจเพื่อสังคมในด้านการคัดกรองและการให้การปรึกษาการตรวจเอช ไอ วีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สำหรับประเทศไทย เราเชื่อว่าการทำธุรกิจเพื่อสังคมซึ่งนำเสนอโดยศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนูส ผู้ได้รับรางวัลโนเบล จะช่วยปิดช่องว่างอย่างแท้จริงในการให้บริการสุขภาพในกลุ่มประชากรชายขอบที่มีความเสี่ยง และ ยังมีอุปสรรคในการเข้าถึงการบริการคัดกรอง
มูลนิธิยูนุสประเทศไทย เชื่อว่าการทำธุรกิจเพื่อสังคมเป็นทางออกหนึ่งที่จะไปตอบสนองความต้องการของชุมชน ประชากรเหล่านี้ ได้แก่ LGBT หญิงและชายข้ามเพศ แรงงานข้ามชาติ ผู้ให้บริการทางเพศ ผู้ใช้ยา ผู้ต้องขัง เราทราบแล้วว่าครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อมาจากเยาวชนที่มีอายุน้อยกว่า 25 ปี
การทำธุรกิจเพื่อสังคมไม่ได้เป็นคู่แข่งการบริการสาธารณสุขที่มีอยู่แล้ว แต่เป็นการเสริมให้มีการบริการที่เป็นมิตร ปิดช่องว่าง และให้ทุกคนเข้าถึงการบริการคัดกรองอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วงชีวิต และในกลุ่มประชากรเสี่ยงสามารถตรวจได้บ่อยตามความเหมาะสม มีความเป็นมิตร เข้าถึงง่ายด้วยราคาที่สามารถจ่ายได้
พยุงศักดิ์ ศรีวิชัย ผู้สื่อข่าวอาวุโสไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ