กลุ่มบ้านบริวาร บ้านสันเจริญ ต.แม่ยาว อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย ประกอบด้วยหมู่บ้าน 20 หมู่บ้านและกลุ่มบ้านบริวารอีก 40 กลุ่มบ้าน ประชากรที่นี่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ชาวอาข่า เข้ามาตั้งรกรากที่นี่ราวปี 2540 เมื่อมีประชากรในหมู่บ้านมากขึ้นก็เผชิญกับปัญหายาเสพติด มีทั้งผู้เสพและผู้จำหน่าย ไปจนถึงเป็นพื้นที่พักยาเสพติด
นายอาซือ เซกองอากู่ ผู้นำชุมชน เล่าว่า คนในหมู่บ้านเริ่มมีพฤติกรรมเสพยาเสพติดจนส่งผลให้ครอบครัว ชุมชนเดือดร้อน จึงได้ระดมแนวคิดจากคนในชุมชนเพื่อช่วยกันแก้ปัญหา ในช่วงแรกใช้ไม้แข็ง ขู่ผู้เสพ ผู้ค้า หรือผู้ที่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดว่า หากไม่เลิกยุ่งเกี่ยวกับยาเเสพติดห้ามเข้าหมู่บ้าน ส่วนผู้เสพก็ให้คนในครอบครัวช่วยเกลี้ยกล่อม เพื่อเข้าบำบัดฟื้นฟู ใช้เวลาเป็นปี กว่าจะได้รับความร่วมมือ
ผู้นำต้องทำความเข้าใจกับครอบครัวไม่ให้ตำหนิซ้ำเติมคนที่ก้าวพลาด ทำความเข้าใจคนในชุมชนให้ช่วยกัน เปิดโอกาสให้ลูกหลาน โอบกอดพวกเขา
ไม่นานคนในชุมชนเห็นผลของการบำบัด ผู้เสพเห็นความเปลี่ยนแปลงของผู้ที่หันหลังให้ยาเสพติด ทำให้มีผู้สมัครใจเข้าร่วมการบำบัดมากขึ้น
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. เปิดเผยว่า ที่นี่เป็นพื้นที่เส้นทางผ่านของกลุ่มขบวนการค้ายาเสพติด เข้ามาฝังตัวสร้างอิทธิพลในหมู่บ้านชาวไทยภูเขาบนดอยสูง ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของยาเสพติดในวงกว้าง แต่ที่นี่เป็น 1 ในแบบอย่างชุมชนเข้มแข็ง คนในชุมชนรู้ถึงปัญหาและพยายามช่วยกันแก้ไข ช่วยกันผลักดันให้เกิดการบำบัดฟื้นฟู โดยมีหน่วยงานภาครัฐเข้าไปให้การสนับสนุน
โดย ป.ป.ส.ได้ให้งบประมาณสนับสนุน ภายใต้โครงการบำบัดฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติดโดยชุมชนเป็นฐาน หรือ Community Based Treatment หรือ CBTx เพื่อส่งเสริมการบำบัดฟื้นฟู
แต่การแก้ปัญหาเรื่องนี้ต้องรวมมือกันทุกฝ่าย เริ่มที่ครอบครัว ชุมชน ผู้นำชุมชน ระบบสาธารณสุขที่ดูแลการบำบัดฟื้นฟู การจัดหางาน สร้างอาชีพ เปิดโอกาสให้พวกเขาได้สร้างอนาคต
ภาคชุมชนจะมีการทำเวทีประชาคมในชุมชน ผู้นำชุมชนและคณะกรรมการหมู่บ้าน ทำประชาคมหมู่บ้าน เพื่อสำรวจความต้องการของคนที่รับการบำบัด และมีมติให้ไม่มีการขายยาเสพติดในหมู่บ้าน เพื่อลดจำนวนผู้เสพและจัดทำข้อตกลงร่วม โดยกฎชุมชนที่ทุกคนถือปฏิบัติ ผู้ที่ใช้สารเสพติดต้องไปบำบัดรักษา ให้โอกาสผู้ใช้สารเสพติดกลับตัวเป็นสมาชิกที่ดีของชุมชน หากเป็นผู้ค้ายาเสพติด ชุมชนจะตักเตือนก่อน แต่หากยังมีพฤติกรรมเช่นเดิมขอให้ย้ายออกหมู่บ้าน
ส่วนการดูแลผู้ใช้สารเสพติด คณะผู้ให้ดูแลการบำบัดจาก รพ.สต.แม่ยาว รวบรวมข้อมูลจากการคัดกรองของผู้ใช้สารเสพติดที่สมัครใจเข้าบำบัด ประสานนำส่งข้อมูลให้กับมินิธัญญารักษ์ รพ.แม่ลาว พร้อมทั้งขอสนับสนุนรถตู้เพื่อรับผู้บำบัดเดินทางพร้อมกันไปยังโรงพยาบาลแม่ลาว โดยมีตัวแทนชุมชน หมู่บ้านไปส่งเพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง และขวัญกำลังใจ
ในระหว่างการบำบัด ผ่านไป 7 วัน ผู้นำศาสนาและญาติผู้บำบัด จะเข้าเยี่ยมเพื่อส่งกำลังใจให้กับผู้บำบัดให้อดทนต่อความอ่อนล้า เจ็บป่วยและความรู้สึกน้อยใจ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้กับผู้บำบัดที่อยู่ระหว่างการถอนพิษยาเสพติด
จากนั้น รพ.สต.และชุมชน ร่วมกันจัดเตรียมความพร้อมเพื่อการต้อนรับกลับบ้านอย่างอบอุ่น โดยจัดให้มีการอบรมให้ความรู้และเข้าใจตัวผู้บำบัดและเรื่องพิษภัยของยาเสพติด ให้แก่ครอบครัวและคนในชุมชน
ที่นี่จะมีการจัดพิธีต้อนรับกลับบ้าน โดยมีหลายหน่วยงานในพื้นที่ ต.แม่ยาว เข้าร่วมแสดงความยินดีและให้กำลังใจผู้บำบัดและครอบครัว ขณะเดียวกันจะยังมีการติดตามเยี่ยมบ้านผู้บำบัดและครอบครัว เพื่อรับฟังความต้องการให้การช่วยเหลือ
อีกทั้งจัดทำทะเบียนข้อมูล โดยเทศบาลตำบลแม่ยาว กลุ่ม ฅ ฅน เพื่อการเปลี่ยนแปลง ในชุมชนดำเนินการคัดการค้นหา คัดกรอง บำบัดรักษา ช่วยเหลือฟื้นฟู ติดตาม แยกกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง ในกลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มผู้ใช้สารเสพติด เพื่อเพิ่มโอกาสในการช่วยเหลือ และที่สำคัญคือการปรับเปลี่ยน สร้างภาวะแวดล้อมเชิงบวก ทั้งการกีฬา การออกกำลังในเด็กและเยาวชน ณ ลานสนามกีฬาหมู่บ้าน
จัดอบรมความรู้ สร้างแกนนำ พัฒนาศักยภาพ อบรมความรู้เรื่องพิษภัยยาเสพติด ในเครือญาติ ครอบครัวและเยาวชนเพื่อสร้างเกราะป้องกัน เพื่อให้มีความเข้าใจสภาพร่างกายและจิตใจของผู้บำบัด ยอมรับไม่รังเกียจหรือตีตรา ให้กำลังใจแก่ผู้บำบัดอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม
กระบวนการทั้งหมดนี้ แม้จะต้องใช้เวลาและต้องดำเนินการอย่างสม่ำเสมอจากทุกฝ่าย แต่สุดท้ายแล้ว ถ้าทำได้ ก็จะสามารถแก้ปัญหายาเสพติดได้อย่างยั่งยืน
อ่านข่าวอื่นๆ
"บิ๊กต่อ" ฟ้องหมิ่นฯ "ทนายตั้ม" ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้อง 10 มิ.ย.นี้
สตม.รวบหนุ่มเกาหลี “หัวหน้าแก๊งคอลเซ็นเตอร์” หนีกบดานพัทยา
เร่งสอบปมโจรกรรมทรัพย์สิน "อควาเรียมหอยสังข์" สงขลา สูญนับร้อยล้าน