เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2567 ไทยพีบีเอสจัดงาน "Brainstorm Soft Power สร้างพายุหมุน ส่งซอฟต์พาวเวอร์ไทย ไปสู่สากล" ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิในหลากหลายวงการ มาร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับ ทิศทาง และวิธีการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ไทยที่มีคุณภาพ ได้แก่
- ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ด้านภาพยนตร์
- คุณชุมพล แจ้งไพร ประธานอนุกรรมการคณะกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ด้านอาหาร
- คุณชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ด้านละคร และซีรีส์
- คุณวิเชียร ฤกษ์ไพศาล คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ด้านดนตรี
- ศาสตราจารย์พรรัตน์ ดำรุง คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ด้านศิลปะ
- คุณลักขณา คุณาวิชยานนท์ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ด้านศิลปะ
- คุณคำหอม ศรีนอก คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ด้านหนังสือ
- นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์แห่งชาติ และผู้ทรงคุณวุฒิจากอีกหลากหลายภาคส่วน
รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. กล่าวว่า ในปี 2567 นี้ ไทยพีบีเอส ได้ปักหมุดยุทธศาสตร์ทางเนื้อหาขององค์กรในเรื่องของการผลักดันทุนทางวัฒนธรรม และซอฟต์พาวเวอร์ โดยจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันเรื่องนี้ให้ไปสู่ในระดับนโยบาย ไปสู่เป้าหมายในการสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้เกิดขึ้นและวัดผลได้จริง รวมไปถึงการร่วมสนับสนุน ส่งเสริม ผู้ผลิตอิสระ หรือ Content Creator ของสังคมไทย ให้ได้มีโอกาสและพื้นที่ในการเผยแพร่ผลงานด้วย
ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ด้านภาพยนตร์ กล่าวว่า การผลักดันอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ มี Pain Point ในทุกด้าน ไม่ใช่เพียงเฉพาะด้านภาพยนตร์ โดยมองปัญหา หรือจุดอ่อนในการผลักดันอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์หลัก ๆ มีอยู่ 3 ประเด็น คือ เรื่องของการควบคุมสื่อ หรือเรื่องของกฎหมายที่มาควบคุม, เงินทุน และเรื่องของสิทธิ เสริภาพ อิสระในการสร้างสรรค์ผลงาน
ด้านชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ด้านละคร และซีรีส์ กล่าวถึงปัญหาของวงการละคร และซีรีส์ ว่า ด้วยปัจจุบัน มีความต้องการซีรีส์เพิ่มสูงมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้มี Content ที่จะนำมาสร้างเป็นซีรีส์ค่อนข้างที่จะขาดแคลน และเนื้อหายังวนเวียนอยู่ในเรื่องแบบเดิม ๆ มองว่าประเทศไทย มีองค์ความรู้จากท้องถิ่นที่จะสามารถนำมาเล่าได้อีกเยอะ แต่ยังคงติดปัญหาการเข้าไม่ถึงผู้ลงทุน ที่จะสามารถนำเสนอไอเดียต่าง ๆ เหล่านี้ได้ รวมไปถึงโอกาสในการนำเอาผลงานไปนำเสนอในตลาดระดับสากล ที่ยังคงต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐด้วย
อ่านข่าวอื่น : ปคม.จับกุม 15 แรงงานเมียนมาลักลอบ "นวดแฝง" ร้านย่านลาดพร้าว
เชฟชุมพล แจ้งไพร ประธานอนุกรรมการคณะกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ด้านอาหาร กล่าวว่า โอกาสของอาหารไทยในตลาดโลกยังมีอีกเยอะ แต่ยังติดปัญหาในเรื่องของบุคลากรด้านอาหารในระดับมืออาชีพ ซึ่งจำเป็นต้องเร่งส่งเสริมให้มีการ Reskill และ Upskill ในส่วนนี้ และนอกจากในเรื่องของอาหารแล้ว เห็นว่า โอกาสของเครื่องดื่มไทย ในตลาดระดับโลก ก็ยังมีศักยภาพในการขยายตัวได้อีกสูงมาก จึงอยากให้คนที่มีศักยภาพ และเห็นโอกาสตรงนี้ ลงมือทำเลย
ส่วน นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวถึงการผลักดันทุนทางวัฒนธรรม ให้ไปสู่อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ในเวทีสากลในครั้งนี้ ว่า จะต้องเป็นการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนชีวิตของคนไทยได้เลย ซึ่งการที่จะสร้างระบบนิเวศ เพื่อให้เกิดการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์อย่างจริงจัง ต้องสร้างคน สร้างอุตสาหกรรม และสร้างตลาดโลก
นอกจาก ความเห็นจากเหล่ากูรูซอฟต์พาวเวอร์ ที่ร่วมกันแลกเปลี่ยนภายในงานแล้ว ยังได้มีการแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยน ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานซอฟต์พาวเวอร์ อีกหลายท่าน
โดยมีข้อสรุปถึงปัจจัยที่มีผล และเป็นทางออกของการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ให้ไปถึงระดับโลกได้ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงตั้งแต่ฐานราก, รัฐให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง, การสร้างระบบนิเวศของซอฟต์พาวเวอร์, การสร้าง Mindset ความคิดสร้างสรรค์ ทันโลก มีความเป็นสากล, การสร้างโอกาสสู่การต่อยอด และแลกเปลี่ยน จนสามารถผลักดันไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย ซึ่งจะต้องเป็นการทำงานร่วมกันของทั้ง 3 ภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
อ่านข่าวอื่น : แพทย์เตือนควรเปลี่ยน "กางเกงใน" ทุกครึ่งปี เพื่อสุขอนามัยที่ดีในร่มผ้า