การยื่น "ภาษีเงินได้ประจำปี" เป็นการยื่นปีละ 1 ครั้ง ในช่วงเดือน ม.ค. - มี.ค. ของทุกปี โดยมีทั้งการยื่นภาษี "แบบเอกสาร" ผ่านสำนักงานสรรพากรใกล้บ้าน และยื่น "แบบออนไลน์" นั้นเพื่อแสดงรายได้ และแหล่งที่มาของรายได้ โดยสามารถนำสิทธิต่าง ๆ เช่น เลี้ยงดูพ่อ แม่ ลูก บริจาคให้มูลนิธิ กองทุน ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ มาลดหย่อนภาษี เพื่อรับเงินคืนได้
ปี 2567 "การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90/91 ประจำปีภาษี 2566" กรมสรรพากรเปิดให้ยื่น มาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 โดยผู้ยื่นแบบเอกสาร กำหนดภายในวันที่ 1 เม.ย.2567 ส่วนการยื่นแบบออนไลน์ ให้ถึงวันที่ 9 เม.ย.นี้
ฉะนั้นใครที่ยังไม่ได้ยื่นซึ่งอาจเป็นไปได้ทั้งหลงลืม หรือ ติดภารกิจ ไม่สามารถยื่น ได้ตามกำหนดเวลา หลายคนอาจกังวลว่าจะมีผลอย่างไรบ้าง วันนี้รอบรวมข้อมูลไว้ให้แล้ว
อ่าน : รายได้ขนาดไหน ต้องจ่ายภาษีให้รัฐ
กรณียื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เมื่อพ้นกำหนดเวลา
บุคคลธรรมดาที่มีหน้าที่ในการยื่นแบบภาษีเงินได้ แต่ยื่นไม่ทันเวลาที่กำหนดภายในวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี จะต้องไปยื่นด้วยตนเองอีกครั้งที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา โดยจะต้องเตรียมเอกสารประกอบไปด้วย ดังนี้
- แบบฟอร์ม ภ.ง.ด.91 หรือ ภ.ง.ด.90
- หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ)
- เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการลดหย่อนภาษี เช่น หนังสือรับรองการจ่ายเบี้ยประกันชีวิต หนังสือรับรองการจ่ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ
- เอกสารยืนยันสิทธิค่าลดหย่อนบิดามารดา (ใบ ล.ย. 03)
อ่าน : อัปเดต 2567 ปรับขึ้น "เงินเดือนข้าราชการ" เริ่ม 1 พ.ค.
นอกจาก เตรียมเอกสารเพื่อยื่นภาษีแล้ว ต้องเตรียมเงินเพื่อชำระเงินภาษี และเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับตามกฎหมายสรรพากร ดังนี้
1.ยื่นเกินกำหนดเสียค่าปรับ 2,000 บาท
กรมสรรพากร ระบุว่าเตือนเรื่องค่าปรับกรณียื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เมื่อเกินกำหนดเวลาต้องระวางโทษค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร แต่สามารถขอลดค่าปรับได้
2.ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 /91 ผ่านอินเทอร์เน็ต กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ
หากมิได้ชำระเงินภาษีภายในวันที่ 31 มี.ค.ของทุกปี ถือว่ามิได้ยื่นแบบ ท่านต้องไปยื่นแบบ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา และชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับตามข้อ 1
3.ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เกินกำหนดเวลา
- กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับตามข้อ 1
- กรณีไม่มีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระค่าปรับเพียงอย่างเดียว
4.ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เพิ่มเติมภายหลังกำหนดเวลาการยื่นแบบ
- กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ โดยไม่ต้องเสียค่าปรับ
- กรณีไม่มีเงินภาษีต้องชำระ ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มและค่าปรับ
5.ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ขอผ่อนชำระเงินภาษี
หากมิได้ชำระภาษีงวดใดงวดหนึ่งภายในกำหนดเวลา จะหมดสิทธิ์การผ่อนชำระและต้องชำระภาษีอากรที่ค้างอยู่ทั้งหมด โดยต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินภาษีงวดที่เหลือ
6.ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 มีภาษีชำระไว้เกิน
ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 มีภาษีชำระไว้เกิน แต่ไม่ได้แจ้งความประสงค์ขอคืนเงิน ไม่ว่าจะเป็นการยื่นแบบฯ ผ่านอินเทอร์เน็ต หรือยื่นแบบฯ ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา
ให้ยื่นคำร้องขอคืนเงินตามแบบ ค.10 ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ท้องที่ที่มีภูมิลำเนาอยู่ ภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี โดยแนบเอกสารแล้วแต่กรณี ดังนี้
- หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย
- แบบ ล.ย.03 (ถ้ามี)
- ใบเสร็จรับเงินหรือหนังสือรับรองค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดา/มารดา (ถ้ามี)
- ใบเสร็จรับเงินหรือหนังสือรับรองค่าเบี้ยประกันชีวิตของปีภาษีที่ขอคืน (ถ้ามี)
- หนังสือรับรองการจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพของปีภาษีที่ขอคืน (ถ้ามี)
- ใบเสร็จรับเงินหรือหนังสือรับรองค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ/กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (ถ้ามี)
- หนังสือรับรองการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัยของปีภาษีที่ขอคืน (ถ้ามี)
- หนังสือรับรองการจ่ายเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม (ถ้ามี)
- ใบเสร็จรับเงินบริจาคการกุศลของปีภาษีที่ขอคืน (ถ้ามี)
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- ใบสำคัญการสมรส (ถ้ามี)
- หนังสือแสดงการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล (ถ้ามี)
- ใบเสร็จรับเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
- หลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องกับประเด็นขอคืน
7.รับคืนเงินภาษีอากรเกินไป ต้องคืนหรือไม่
กรณีรับคืนเงินภาษีอากรเกินไป และได้รับหนังสือทวงถามให้นำเงินไปคืน
ให้ผู้ขอคืนนำเงินไปคืนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือทวงถาม หากผู้ขอคืนไม่นำส่งเงินคืนที่ได้รับเกินไปภายในกำหนดเวลา ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามมาตรา 224 แห่งประมวลแพ่งและพาณิชย์ โดยนับตั้งแต่วันที่เริ่มผิดนัด
อ้างอิงข้อมูล : กรมสรรพากร
อ่านข่าวอื่น ๆ
เช็กขั้นตอนลงทะเบียนรับ "พันธุ์ข้าวพระราชทาน" ถึง 25 เม.ย.