หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ โลกเข้าสู่ยุคสงครามเย็น "จีน" ในขณะนั้นที่กำลังอยู่ในช่วงความพยายามสถาปนาประเทศภายใต้การปกครองของ "ประธานเหมา เจ๋อตง" และ "โจว เอินไหล" ผู้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 ของจีน และ รมว.ต่างประเทศ เขาถูกยกย่องเป็นมหาบุรุษผู้ที่มีคนจีนนับล้านให้ความเคารพ เชิดชู
นายกฯ โจว เอินไหล และ ประธานเหมา เจ๋อตง
โจว เอินไหล สุภาพบุรุษนักการทูต
หลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน (1 ต.ค.1949) โจว เอินไหล คือ ผู้กุมบังเหียนด้านการทูตของจีนทั้งในด้านนโยบายและในทางปฏิบัติ นายกฯ โจว ได้รับความไว้วางใจจากประธานเหมาจากผลงานที่ทำมาในอดีต ในฐานะผู้แทนการเจรจาระดับสำคัญ อาทิ การปรับความเข้าใจระหว่างจีนกับอดีตสหภาพโซเวียต ในการแก้ไขสนธิสัญญาอยุติธรรมที่จีนเคยเซ็นกับโซเวียตเมื่อปี ค.ศ.1945 การเจรจาทางการทูตกับนานาประเทศที่กรุงเจนีวา ปี ค.ศ.1954 ที่ถือว่าเป็นก้าวแรกของจีนในเวทีการประชุมนานาชาติ
หลังปี 1958 ถึงแม้ชายผู้นี้จะมิได้ดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศของจีนแล้วก็ตาม ทว่านายกฯ โจวยังคงเป็นมีบทบาทสำคัญในการบัญชาการรบใน "หมาก" ทางการทูตของจีนและยังเข้าร่วมอยู่ในการเจรจาทางการทูตวาระสำคัญๆ ทั้งหมดด้วย
นายกฯ โจว เอินไหล ขณะอยู่ที่กรุงเจนีวา
"สัปดาห์เปลี่ยนโลก" อินทรีย์เยือนถิ่นมังกรครั้งแรก
21-25 ก.พ.1972 ถือเป็น "สัปดาห์เปลี่ยนโลก" ที่แท้จริง เมื่อ "ริชาร์ด นิกสัน" ปธน.สหรัฐฯ เดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ หลังจากที่เคยประกาศในช่วงหาเสียงว่าต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนให้ดีขึ้น ถึงกับเคยให้สัมภาษณ์กับนักข่าวนิตยสารไทม์ของสหรัฐฯ ในปี 1970 ว่า
ถ้าหากว่ามีอะไรที่ผมจะต้องทำก่อนหมดลมหายใจ สิ่งนั้นก็คือไปประเทศจีน
เมื่อ โจว เอินไหล ทราบข่าว เขาเข้าปรึกษากับประธานเหมาทันที และได้ส่งจดหมายกลับไปที่ทำเนียบขาวว่า "จีนยินดีและพยายามที่จะให้มีการเจรจาด้วยสันติวิธี ... ทูตพิเศษของ ปธน.นิกสัน จะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นที่ปักกิ่ง" จากนั้นนิกสันจึงส่งที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ "เฮนรี คิสซินเจอร์" เข้าพูดคุยเบื้องต้นเสมือนต่างฝ่ายต้องการวัดใจ และทดสอบมุมมองของแต่ละฝ่ายที่มีต่อกัน
นายกฯ โจว เอินไหล พบปะ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ เฮนรี คิสซินเจอร์
16 ก.ค.1971 จีนและสหรัฐฯ ออกคำแถลงประกาศข่าว ริชาร์ด นิกสัน เตรียมเยือนจีน ซึ่งเป็นข่าวที่สั่นสะเทือนไปทั่วโลก เพราะถือเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ ที่ผู้นำสหรัฐฯ เดินทางเยือนประเทศที่ไม่ถึงกับเป็นศัตรู แต่ก็ไม่ได้เป็นมิตรที่ดีต่อกันสักเท่าไหร่
คิสซิงเจอร์ เดินทางไปจีนนำแถลงการณ์ร่วมการเยือนของนิกสันให้โจวอ่านคร่าวๆ ใจความคือ "อำพรางความเห็นที่แตกต่างระหว่าง 2 ประเทศมหาอำนาจ" เมื่อโจวได้อ่านจึงไม่เห็นด้วยพร้อมให้เหตุผลว่า เนื้อความเช่นนี้ไม่ส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาของจีนและสหรัฐฯ ในอนาคต และแนะนำให้คิสซิงเจอร์พักผ่อนสักครู่ในเมืองจีน
ในที่สุด ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งสหรัฐฯ ก็เข้าใจความหมายของนายกฯ โจวว่า "การเปิดเผยความแตกต่างจะมีผลทำให้พันธมิตรวางใจได้ โดยเห็นว่าผลประโยชน์ของพวกเขาจะได้รับการคุ้มครอง แม้แต่บุคคลฝ่ายต่างๆ จะมีความแน่ใจว่าคำแถลงร่วมนั้นเป็นของจริงมิใช่หรือ?"
นายกฯ โจว เอินไหล ให้การต้อนรับ ปธน.นิกสัน
และแล้วในวันที่ 20 ก.พ.1972 ปธน.สหรัฐฯ และภริยา เดินทางถึงประเทศจีน โดยมี นายกฯ โจว เอินไหล เป็นผู้ให้การต้อนรับ 1 สัปดาห์ที่นิกสันอยู่ในเมืองจีนด้วยความปลอดภัย เป็นสัปดาห์ที่เปลี่ยนโลกไปจริงๆ เพราะ ญี่ปุ่นที่เป็นอริกับจีน กลับมีท่าทีที่อ่อนลงหลังจากการเยือนของนิกสัน
ไม่เฉพาะสหรัฐฯ เท่านั้น แต่การทูตการเจรจาของโจว เอินไหล ยังสานสัมพันธ์กับอีกหลายประเทศมากมาย โซเวียต อินเดีย เมียนมา เขาได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดนักการทูตคนหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน
ข้อความจากบทความ "ถ้าไม่มีโจว เอินไหล… ก็ไม่มีมหาอำนาจจีนในวันนี้" ของ อ.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิอาเซียน (ASEAN Foundation) ที่ปรากฏใน www.the101.com ระบุว่า ผลงานสุดท้ายของนักเจรจา โจว เอินไหล คือ การเดินทางไปเจรจากับประธานเหมา ทั้งที่ตนเองก็ป่วยหนักด้วยโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เพื่อขอร้องให้ผู้นำรุ่นที่ 2 ของประเทศ คือ คนหนุ่มซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกขับออกจากพรรคในสมัยปฏิวัติวัฒนธรรมได้กลับมาเป็นผู้นำของประเทศ "เติ้ง เสี่ยวผิง" อีกหนึ่งมหาบุรุษผู้พาให้เกิดการปฏิรูปเศรษฐกิจจีน จนจีนกลายเป็นมหาอำนาจอย่างทุกวันนี้
ปธน.นิกสัน และ นายกฯ โจว เอินไหล ในการเลี้ยงต้อนรับการเยือนของผู้นำสหรัฐฯ
สิ้น "โจว เอินไหล" มหาบุรุษไร้ทายาท คนนับล้านไหว้เช็งเม้ง
ภูมิลำเนาของเขาเป็นชาวเมืองเส้าชิง มณฑลเจ้อเจียง เกิดในวันที่ 5 มี.ค.1898 ในครอบครัวชาวนา แม่ของเขาจากไปด้วยโรควัณโรค ปู่ของโจวจากไปเมื่ออายุ 50 ปีโดยปราศจากทรัพย์สมบัติใดๆ ให้ลูกหลาน เขาต้องโตมากับพ่อและอา ด้วยชีวิตที่ยากลำบาก รับผิดชอบครอบครัวตั้งแต่อายุ 10 ขวบ เขาได้รับการศึกษาครั้งแรกจากอาสะใภ้
โจว เอินไหล นายกฯ คนแรกของจีน
จนอายุ 12 ปี ชะตาชีวิตได้เปลี่ยนไป จากสิ่งแวดล้อมครอบครัวชาวนาแบบเดิมๆ เขาได้เจอระบบการศึกษาแบบตะวันตก ได้เรียนหนังสือเกี่ยวกับการปฏิวัติจากครูสอนประวัติศาสตร์ผู้มีหัวใจปฏิวัติ แล้วเริ่มเข้าสู่การมีส่วนร่วมทางการเมืองในวัย 15 ปี นอกจากรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของจีน รมว.ต่างประเทศ แล้ว โจว เอินไหล ยังควบรองประธานพรรค รองประธานคณะกรรมาธิการ ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาทางการเมือง อีกด้วย
โจวเข้าพิธีแต่งงานในปี 1925 และเป็นคู่ทุกข์คู่ยากจวบจนวาระสุดท้าย เขาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะในวันที่ 8 ม.ค.1976 ที่กรุงปักกิ่ง
การถึงแก่อสัญกรรมของนายกฯ โจว ทำให้ประชาชนชาวจีนร่วม 2 ล้านคน เดินทางมาที่กรุงปักกิ่ง พร้อมวางพวงหรีด ช่อดอกไม้ เครื่องเซ่นไหว้บรรพบุรุษในวันที่ 4 เม.ย.1976 ซึ่งเป็นวันเช็งเม้ง พวกเขาร่วมกันแสดงความเคารพต่อมหาบุรุษผู้สร้างชาติ พร้อมกับตะโกนก้องทั่วจัตุรัสเทียนอันเหมินว่า
ผู้ใดคัดค้าน โจว เอินไหล เราโค่นล้มผู้นั้น
ประชาชนจีนนับล้านในพิธีเช็งเม้งไหว้โจว เอินไหล ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน
นอกจากการแสดงความไว้อาลัยของคนในชาติแล้ว โจว เอินไหล ถือเป็นผู้นำคนแรกของโลกที่ UN ลดธงครึ่งเสาเพื่อไว้อาลัยให้อีกด้วย สร้างความสงสัยให้กับนักการทูตหลายชาติ มีการไปชุมนุมกันที่ลานหน้าประตูสหประชาชาติ กับคำถามที่ว่า เมื่อผู้นำชาติของพวกเขาจากไป ทำไม UN ไม่ลดธงลงบ้าง ซึ่ง "เคิร์ท วัลไฮม์" เลขาธิการสหประชาติเวลานั้น ออกมาแถลงสั้นๆ ไม่ถึง 1 นาทีด้วย 2 เหตุผล คือ
- ประการแรก จีนเป็นอาณาจักรเก่าแก่ ทรัพย์สินเงินทองของอาณาจักรนี้มีมากมายก่ายกอง เงินหยวนที่คนในชาตินี้ใช้กันอยู่นั้นก็มีมากจนสุดคณานับ แต่นายกฯโจว เอินไหล กลับไม่มีเงินฝากธนาคารเลยแม้แต่หยวนเดียว
- ประการต่อมา จีนมีประชากรกว่า 1,000 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากรโลก แต่นายกฯ โจว เอินไหลของพวกเขาไม่มีทายาทเลยแม้แต่คนเดียว
ประมุขแห่งชาติของพวกท่านขอให้ทําได้เพียงข้อหนึ่งข้อใดใน 2 ข้อนี้ เมื่อถึงแก่อสัญกรรมทางสํานักงานใหญ่สหประชาชาติก็จะลดธงลงครึ่งเสาเพื่อไว้อาลัยแด่ท่านผู้นั้น
เมื่อกล่าวจบก็หันหลังเดินจากไป นักการทูตที่ชุมนุมอยู่กลางลานทุกคนเงียบกริบไปพักหนึ่ง แล้วเสียงปรบมือก็ดังกึกก้องขึ้นมา
อ่าน : "เช็งเม้ง 2567" วันไหว้บรรพบุรุษที่สุสาน มีความสำคัญอย่างไร
ที่มา : งานค้นคว้าอิสระเรื่องโจวเอินไหล นายนพรัตน์ เล้าอรุณ, ถ้าไม่มีโจว เอินไหล… ก็ไม่มีมหาอำนาจจีนในวันนี้ โดย ปิติ ศรีแสงนาม the101.com, นสพ.เอเชียนิวสไทม์ (12 ม.ค.1976), นิตยสารศิลปวัฒนธรรม เชาวน์ พงษ์พิชิต. โจวเอินไหล รัฐบุรุษ, สำนักพิมพ์ มติชน 2558