ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คำถามที่ “กองทัพเรือ” ไม่ได้พูด กรณี “เรือหลวงสุโขทัย” อับปาง

การเมือง
11 เม.ย. 67
15:19
6,427
Logo Thai PBS
คำถามที่ “กองทัพเรือ” ไม่ได้พูด กรณี “เรือหลวงสุโขทัย” อับปาง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

1.สภาพความพร้อมเรือหลวงสุโขทัย

กองทัพเรือบอกว่า ก่อนเดินเรือ ร.ล.สุโขทัย อยู่ในสภาพ ตัวเรือมีความพร้อม ระบบขับเคลื่อน ระบบเดินเรือ ระบบอาวุธมีความพร้อม เครื่องไฟฟ้า 4 เครื่อง มีความพร้อม 3 เครื่อง

แต่ที่ไม่ได้บอกคือ เรือหลวงสุโขทัย มีรายงานเอกสรบันทึกการซ่อมบำรุง ครั้งสุดท้ายก่อนอับปาง ช่วง พ.ค.2564-ม.ค.2564 งบประมาณกว่า 60 ล้านบาท ในรายงานการซ่อมบำรุง มีรายละเอียดดังนี้

1.“สมอเรือ” ในเอกสารส่งมอบเรือหลังการซ่อม ระบุว่า มอเตอร์ฝั่งขวาขัดข้อง หยุดการทำงานบางจังหวะ เนื่องจากเกิดสภาวะ Overload มอเตอร์ตัดการทำงาน
2.มาตรวัดแรงดันต่าง ๆ ในเรือหลวงสุโขทัย ใช้การไม่ได้ เช่น เครื่องสูบน้ำไฟเมน 4 เครื่อง และมอเตอร์สูบน้ำใช้การ 2 เครื่อง มาตรวัดใช้งานไม่ได้บ้าง ไม่มีติดตั้งมาบ้าง

3.มอเตอร์น้ำจืด ที่ใช้การทั้งหมายเลข 1 และ 2 ไม่มีมาตรวัดแรงดันทางดูด เครื่องหมายเลขหนึ่งนี้ มีน้ำรั่วไหลบริเวณแกนพัดน้ำ ส่วนเครื่องหมายเลขสอง มีค่าความสั่นสะเทือนเกินเกณฑ์มาตรฐาน

4.เครื่องจักรหลายตัว มีค่าการสั่นสะเทือนผิดปกติ สูงเกินมาตรฐาน ดังนี้
4.1 เครื่องอัดลมกำลังต่ำ 2 เครื่อง
4.2 เครื่องสูบน้ำทะเลระบายความร้อนเครื่องไฟฟ้า 2 เครื่อง
4.3 เครื่องทำความเย็น
4.4 มอเตอร์น้ำจืด

4.5 มอเตอร์สูบน้ำสำรอง
4.6 เครื่องอัดลมกำลังต่ำ แม้ได้ติดตั้งเครื่องใหม่แทนตัวเดิม แต่กลับพบว่ามีแรงสั่นสะเทือนที่ผิดปกติ

4.7 เครื่องกำเนิดไฟฟ้า หมายเลข 4 ไม่ได้ทดสอบ เนื่องจากระบบควบคุมไม่พร้อม การขนานโหมด Auto ใช้การไม่ได้ นั่นหมายถึง เครื่องกำเนิดไฟฟ้าหมายเลข 4 อยู่ท้ายเรือเสีย ใช้ได้จริงเพียง 3 เครื่อง

5. “ตัวเรือ” มีรายงานจากกองแผนการช่างของกรมอู่ทหารเรือ สำรวจเรือและออกรายงาน ลงวันที่ 12 ก.ย.2561 ระบุว่า มีแผ่นเหล็กแผ่นไหนบ้างของเรือหลวงสุโขทัย ที่มีความหนาต่ำกว่ามาตรฐานและต้องซ่อมแซมแก้ไข ซึ่งมีถึง 13 จุด

ผลการตรวจสอบ ยังตำแหน่งของแผ่นเหล็ก 5 จุด ที่พบว่า มีความหนาต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งถูกซ่อมไปแล้ว แต่ มี 8 จุด ที่ตรวจพบว่าเหล็กหนาต่ำกว่ามาตรฐานและไม่ได้ซ่อม

ในรายงานการซ่อม มีรายละเอียดว่า จุดที่ไม่ต้องซ่อม ที่มีความหนาเฉลี่ยลดลงเป็น 0 % นั่นหมายถึง จุดที่ไม่ได้บางลง กลับมีการซ่อม 5 จุด ส่วนจุดที่ต้องซ่อม แต่ไม่ได้ซ่อม มีความหนาเฉลี่ยลดลง 12.36 % เป็นเหล็กแผ่นที่อยู่บริเวณกระดูกงูของเรือ แต่กลับไม่ได้ซ่อม

“กราบขวา” ความหนาเฉลี่ยลดลง 19 %, กราบซ้าย ความหนาเฉลี่ยลดลง 13.4%, กราบซ้าย ที่ความหนาเฉลี่ยลดลง 15.5 % ทั้ง 3 จุด เป็นตำแหน่งที่สำคัญของเรือ เป็นผนังของห้องเครื่องยนต์ และห้องเครื่องกำเนิดไฟฟ้า หัวใจสำคัญของเรือหลวงสุโขทัย

6.“ครีบกันโคลง” หรือ Fin Stabilizer : ครีบกันโคลง เป็นอุปกรณ์ที่ใช้รักษาสมดุลของเรือ ถูกถอดออก

ใครคือ บริษัทที่รับจ้างซ่อม "เรือหลวงสุโขทัย"

เมื่อดูจากข้อมูล โครงการจัดซื้อจัดจ้างในปีงบประมาณ 2561 พบว่า มีงบประมาณ 9.8 ล้านบาท ซ่อมบำรุง ร.ล.สุโขทัย 3 โครงการ

1.โครงการซื้ออะไหล่เครื่องแยกน้ำท้องเรือ ตราอักษร TURBULO โดยวิธีเฉพาะเจาะจง ในราคา 890,261 บาท โดย บริษัท วชิรธร จำกัด ลงนามวันที่ 20 มี.ค.2561

2.ซื้ออะไหล่เครื่องผลิตน้ำจืด ตราอักษร VILLAGE MARINE เรือหลวงสุโขทัย โดยวิธีเฉพาะเจาะจง ในราคา 907,173 บาท โดย บริษัท วชิรธร จำกัด ลงนามวันที่ 20 มี.ค.2561

3.จ้างทำของ/จ้างเหมาบริการจ้างซ่อมทำตัวเรือและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เรือหลวงสุโขทัย โดยวิธีคัดเลือก ในราคา 7,998,999 บาท โดย บริษัท 3288 เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ลงนามวันที่ 2 เม.ย.2561

(ที่มา : รายงานคณะกรรมาธิการการทหาร)

2.ก่อนเข้าร่วมงานฉลองครบรอบ 100 ปี กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่ศาลหาดทรายรี จ.ชุมพร เรือหลวงสุโขทัยได้เข้าร่วมภารกิจ ฝึกซ้อมการลาดตระเวนร่วมระหว่าง กองทัพเรือไทย - กองทัพเรือเวียดนาม ครั้งที่ 46

มีเรือหลวงสุโขทัยและเรือหลวงศรีราชา จากกองทัพเรือไทย เข้าร่วมการลาดตระเวน ในวันที่ 29-30 พ.ย.2565 มีรายงานว่า ขณะกำลังเดินทางกลับมา พบว่าระหว่างการเดินเรือ มีน้ำรั่วเข้าเรือ ต้องสูบน้ำระบายออกตลอดเส้นทาง ก่อนเข้าจอดที่ฐานทัพเรือสัตหีบ รอยรั่วที่พบอยู่ในระดับแนวน้ำที่ท้องเรือ พบรอยน้ำรั่วซึม ที่ห้องโดมโซนาร์เรือ

3.ขณะร่วมเดินเรือไปหาดทรายรี เติมน้ำมันเต็มเรือหรือไม่ เพราะน้ำมันมีผลต่อการถ่วงน้ำหนักเรือ หากต้องเผชิญสภาพคลื่นลมแรง เนื่องจากน้ำหนักเรือที่สมดุล จะมีส่วนช่วยถ่วงน้ำหนักเรือระหว่างการเดินเรือได้

4.การออกคำสั่ง แก้ปัญหา หลังจากไปถึงหาดทรายรี ในเช้าวันที่ 18 ธ.ค. แต่ต้องหันหัวเรือเดินทางกลับ ผู้บังคับการเรือตัดสินใจเองจริงหรือไม่ ทั้ง ๆ ที่การปฏิบัติงาน ย้ายตำแหน่งที่ตั้งเรือ หรือแก้ไขปัญหา ต้องรายงานเป็นขั้นตอน ต่อศูนย์ปฏิบัติการ กองทัพเรือ (ศปก.ทร.) เพื่อตัดสินใจ หรือ มีคำสั่ง

5.ขณะรอเทียบท่าบางสะพาน ต้องเปลี่ยนใจกลับไปที่ท่าเรือสัตหีบ จนสถานการณ์เลวร้ายลง และทราบดีอยู่ว่า คลื่นลมรุนแรง ศปก.ทร. มีส่วนร่วมต่อการตัดสินใจหรือไม่

6.หน่วยงานที่สั่งการแก้ไขสภาวะฉุกเฉินเรือหลวงสุโขทัย คือ ศปก.ทร. เข้ามาแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้ออกคำสั่งในช่วงที่มีภาวะฉุกเฉินอย่างไร และมีบันทึกหรือไม่ (ในทางปฏิบัติต้องมีบันทึกการปฏิบัติงาน)

7.คืนวันที่ 18 ธ.ค.2565 มีการร้องขอเฮลิคอปเตอร์ แต่ไม่มีเฮลิคปอเตอร์ไปช่วยเหลือ ทั้ง ๆ ที่ หากเกิดภาวะฉุกเฉิน ทัพเรือภาค 1 สามารถขอใช้เฮลิคอปเตอร์ได้ทันที แต่กลับต้องรอคำสั่งจาก ศปก.ทร.

8.ในเรือหลวงสุโขทัย ไม่ปรากฏต้นกลเรือ แต่กลับพบการเบิกเบี้ยเลี้ยง

อ่านข่าว : อ่านฉบับเต็ม ทร.แถลง สาเหตุ "เรือหลวงสุโขทัย" อับปาง

เปิดผลสอบ! "เรือหลวงสุโขทัย" ล่ม อดีต ผบ.เรือลาออก เหตุขาดความรอบคอบ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง