ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สงครามแยกแผ่นดินเมียนมาสะเทือนไทย

ภูมิภาค
8 มิ.ย. 67
14:42
17,578
Logo Thai PBS
สงครามแยกแผ่นดินเมียนมาสะเทือนไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หลังพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน โดยอ้างความชอบธรรมในการก่อรัฐประหารยึดอำนาจ กองทัพได้จับประชาชนที่ออกมาประท้วง เป็นเหตุให้ประชาชนเข้าร่วมกับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์

"เมียนมา” เริ่มเป็นที่สนใจของคนทั้งโลกอีกครั้ง หลัง พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางออง ซาน ซู จี เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564

โดยอ้างว่า มีการทุจริตเลือกตั้ง ที่ทำให้พรรค NLD ของนางออง ซาน ซู จี ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น เมื่อเดือน พ.ย.2563 ที่ผ่านมา

หลังรัฐประหาร กองทัพได้จับประชาชนที่ออกมาประท้วง ทำให้ประชาชนจำนวนมาก หนีไปเข้าร่วมกับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธ์ุ ที่ประกาศไม่ยอมรับการรัฐประหาร ทำให้เกิดกองกำลังติดอาวุธพิทักษ์ประชาชน (PDF)  ที่ได้รับการฝึกทางทหารจากกลุ่มชาติพันธุ์ในเวลาต่อมา 

จากนั้นกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) และ กองกำลังติดอาวุธชาติพันธ์ุ ได้ออกปฎิบัติการทางทหารโจมตีและยึดที่ตั้งทางทหาร รวมทั้งยึดพื้นที่เมืองต่างๆ ในหลายรัฐ เช่น พื้นที่ภาคเหนือรัฐฉาน, รัฐคะฉิน, รัฐชิน, รัฐคะยา, รัฐยะไข่ 

ต้นเดือน เม.ย.2567 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และกองกำลัง PDF ได้ออกแถลงการณ์ สามารถยึดพื้นที่โดยรอบเมืองเมียวดี ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก ได้เกือบทั้งหมด หรือเป็นพื้นที่กว่าร้อยละ 90 เหลือเพียงแต่เมืองเมียวดีเท่านั้น แต่ไม่ถึง 1 เดือน ฝ่ายต่อต้านต้องถอนกำลังออกจากเมียวดี

ปัจจุบันสงครามระหว่าง กองกำลังติดอาวุธชาติพันธ์ุ และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน หรือ PDF ในเมียนมายังเกิดขึ้นต่อเนื่อง และหลายคนเกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับสงครามในเมียนมา ไทยพีบีเอส สรุปสถานการณ์แบบสังเขป ดังนี้ 

กะเหรี่ยง KNU-PDF ยึดเมียวดีได้แล้ว ทำไมต้องถอนตัว ?

การสู้รบในพื้นที่ จ.เมียวดี และฝั่งตรงข้าม จ.ตาก เป็นการสู้รบระหว่างกองทัพทหารเมียนมา กับทหารของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และกองกำลังปกป้องประชาชน (PDF)

วันที่ 5 เม.ย.2567 กองกำลัง KNU ยึดพื้นที่โดยรอบเมืองเมียวดีได้เกือบทั้งหมด แต่จากนั้นไม่กี่วันต่อมา กองกำลังแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNA) อดีตกองกำลังพิทักษ์ชายแดน BGF รัฐกะเหรี่ยง ภายใต้การนำของ พ.อ.ซอว์ ชิต ตู ที่ก่อนหน้านี้ประกาศไม่รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทหารเมียนมา ได้กลับลำไปสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่า

ด้วยการช่วยพาทหารพม่าประมาณ 200 นาย ที่หลบอยู่ที่บริเวณสะพานมิตรภาพ ไทย-พม่า แห่งที่ 2 กลับไปยังค่ายผาซองหรือกองพันทหารราบที่ 275 ซึ่งเป็นค่ายใหญ่ ที่ถูกตีแตกไปก่อนหน้านี้ และมีการเชิญธงชาติพม่าขึ้นสู่ยอดเสาอีกครั้ง เพื่อแสดงสัญลักษณ์ว่ารัฐบาลทหารพม่าได้กลับมายึดคืนเมืองเมียวดีได้แล้ว

โดยที่กองกำลังติดอาวุธของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU และกองกำลัง PDF ไม่ได้ต่อต้านและต่อมามีข่าวการถอนกำลังออกจากเมียวดี

และภายหลังเกิดกระแสข่าวว่า มีการเจรจากันร่วมกันของทุกกลุ่มกองกำลังรวมทั้งเมียนมา เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดน รวมไปถึงไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ส่งผลให้ จ.เมียวดี ประเทศเมียนมา กลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ยังคงมีการสู้รบกันอยู่ภายในตัวเมืองชั้นในของประเทศ

ว่ากันว่า การสู้รบระหว่างกะเหรี่ยง KNU กับกองทัพเมียนมานั้นยาวนานเกินครึ่งศตวรรษ และถูกยกให้เป็นสงครามภายในประเทศที่ยืดเยื้อนานสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก 

ในรัฐกะเหรี่ยงมีกองกำลังติดอาวุธหลากหลายกลุ่ม ดังนี้

1.สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU แยกองค์กรทางทหารเป็น 2 องค์กร คือ
 1.1 กองทัพปลดปล่อยชาติกะเหรี่ยง KNLA แบ่งโครงสร้างทางทหารเป็น 7 กองพลน้อย 
 1.2 องค์การป้องกันชาติกะเหรี่ยง KNDO เป็นกองกำลังติดอาวุธ ตั้งแต่ พ.ศ.2490

2.กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง KNLA ตั้งเมื่อเดือนก.ค.2565 โดยนายพลเนอดา เมียะ อดีตผู้บัญชาการองค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยง  KNDO ลูกชายของนายพลโบเมียะ อดีตประธาน KNU ทั้งนี้กำลังพลส่วนใหญ่เป็นอดีตทหาร KNLA และ KNDO

3.กองทัพกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย DKBA ก่อตั้งเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2538 แยกตัวมาจากสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงเนื่องจากความขัดแย้งทางด้านศาสนา มีฐานที่มั่นอยู่ใน จ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ตรงข้ามบ้านวาเล่ย์ ต.วาเล่ย์ อ.พบพระ จ.ตาก

4.สภาสันติภาพกองทัพปลดปล่อยชนชาติกะเหรี่ยง KNLA-PC  มีฐานอยู่ที่เมืองกอกะเร็ก รัฐกะเหรี่ยง ตรงข้าม อ.แม่สอด และ อ.พบพระ จ.ตาก

5.กองกำลังแห่งชาติกะเหรี่ยง KNA อดีตกองกำลังพิทักษ์ชายแดน BGF  รัฐกะเหรี่ยง ของพ.อ.หม่องชิตตู่

นอกเหนือจากนั้นในรัฐกะเหรี่ยง ยังมีกองกำลังติดอาวุธ อื่น คือ
1. ทหารกองทัพเมียนมา
2. กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF)  

นอกเหนือจาก KNU  แล้วมีชาติพันธ์ุไหนออกมาตอบโต้กองทัพ หลังรัฐประหาร

ปลายปี 2566 เริ่มมีข่าวการยึดพื้นที่ของกองกำลังชาติพันธุ์ออกมาอยู่เรื่อย ๆ โดยเฉพาะปฏิบัติการ 1027 (Operation 1027) ซึ่งกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ นำโดย กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชนชาติพม่า MNDAA  หรือกองทัพโกกั้ง, กองทัพปลดปล่อยชนชาติตะอั้ง TNLA และ กองทัพอาระกัน AA  ในพื้นที่ เมืองเล่าห์ก่าย, เมืองโก, ชินฉ่วยห่อ, น้ำคำ, พองแสง และกุ๋นหลง

ขณะเดียวกัน กองกำลังกะเหรี่ยง KNPP  และ กองกำลัง PDF ร่วมปฏิบัติการโจมตีเมืองสำคัญในรัฐคะยา เช่น เมืองลอยก่อ รวมไปถึง “เนปิดอว์” เมืองหลวงเมียนมา ที่มีข่าวออกมาว่า ถูกกองกำลังกะเหรี่ยงKNLA โจมตีด้วยโดรน ก่อนที่ต่อมา ทางการเมียนมาจะออกมาโต้ว่า มีการยิงโดรนดังกล่าวลงได้ทั้งหมด

เมียนมามีกองกำลังติดอาวุธชาติพันธ์ุ กี่กลุ่ม ?

เมียนมามีชาติพันธ์ุกว่า 135 กลุ่ม และมีกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์อยู่ประมาณ 25 กลุ่ม แต่กลุ่มที่มีบทบาทคือ 17 ชาติพันธ์ุ

แยกเป็นกลุ่มที่เคยลงนามในหนังสือสัญญาเกี่ยวกับการยุติการสู้รบทั่วประเทศ (PPST NCA EAOs)  วันที่ 15 ตุลาคม 2558 จำนวน  8 กลุ่ม ประกอบด้วย แนวร่วมนักศึกษาพม่าทั้งมวลเพื่อประชาธิปไตย (ABSDF) พรรคปลดปล่อยอาระกัน (ALP) แนวร่วมแห่งชาติชิน (CNF) กองทัพกะเหรี่ยงประชาธิปไตยผู้มีความเมตตา (DKBA)

สภาสันติภาพแห่งกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU/KNLA PC) สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) องค์กรปลดปล่อยแห่งชาติปะโอ (PNLO) สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (RCSS/SSA)  และ วันที 13 กุมภาพันธ์ 2561 คือ พรรครัฐมอญใหม่ (NMSP) และสหภาพประชาธิปไตยลาหู่ (LDU)

แต่การรัฐประหาร วันที่ 1 ก.พ.2564 สัมพันธ์ภาพกับกลุ่มชาติพันธ์ุเริ่มเปลี่ยนแปลง จะเห็นได้จากการฉลอง NCA 8 ปี วันที่ 15 ต.ค.2566 มี 3 ชาติพันธ์ที่ไม่เข้าร่วม และปฏิเสธการเจรจาสันติภาพจนกว่ากองทัพจะยุติใช้ความรุนแรงกับประชาชน คือ กะเหรี่ยง KNU, แนวร่วมแห่งชาติชิน (CNF) และแนวร่วมนักศึกษาพม่าทั้งมวลเพื่อประชาธิปไตย (ABSDF)

ต่อมาคือ กลุ่มติดอาวุธพันธมิตรทางเหนือ FPNCC  นำโดยกองทัพสหรัฐว้า UWSA กองทัพอาระกัน AA กองทัพเอกราชคะฉิ่น KIA กองกำลังปะหล่อง TNLA กองทัพรัฐฉานเหนือ SSPP/SSA กองกำลังเมืองลา NDAA และกองกำลังโกก้าง MNDAA

ไทยได้รับผลกระทบกับสงครามเมียนมาอย่างไร ?

1.ด้านเศรษฐกิจ

ด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกผ่านมาสะพานมิตรภาพไทยเมียนมา แห่งที่ 1 และ แห่งที่ 2 ด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก ตกปีละเกือบแสนล้านบาท เฉลี่ยเดือนละ 6,000-9,000 ล้านบาท แต่หากมาดูสถิติ ในช่วงเดือนเม.ย.2567 ที่มีการสู้รบ มูลค่าการค้าที่ประเทศไทยส่งออก ลดลงเหลือเพียง 4,000 ล้านบาท ถือว่าลดลงกว่าร้อยละ 40 ของมูลค่าการส่งออก

เนื่องจากมีการสู้รบกันไม่ห่างจากด่านพรมแดน จึงต้องปิดสะพานเพื่อความปลอดภัย ส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดนอย่างหนัก อย่างไรก็ตามสถานการณ์การค้าผ่านสะพานมิตรภาพไทยเมียนมาแห่งที่ 1 และแห่งที่ 2 เริ่มทยอยกลับเข้าสู้ภาวะปกติ ในช่วงปลายเดือนเมษายน ทำให้รถขนส่งสินค้าข้ามไปมาได้ หลังมีการเจรจากัน เพื่อไม่ให้การค้าขายแดนที่เป็นรายได้หลักของทุกกลุ่มได้รับผลกระทบ

นายบรรพต ก่อเกียรติเจริญ ประธานกิตติมศักดิ์ หอการค้าจังหวัดตาก ระบุว่า การค้าขายผ่านสะพานมิตรภาพ ไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 ขณะนี้ เริ่มกลับมาเป็นปกติ แต่ยังไม่สามารถใช้ถนนสาย AH1 ซึ่งเป็นเส้นทางปกติได้ เนื่องจากสะพานเสียหายจากการสู้รบก่อนหน้านี้ ทำให้ต้องกลับไปใช้เส้นทางขนส่งเดิม ซึ่งมีสภาพชำรุด

การเดินทางยากลำบากในช่วงฤดูฝน ผู้ประกอบการต้องแบกต้นทุนการขนส่งสูงขึ้น 2-3 เท่า รวมถึงถูกเรียกเก็บเงินจากกลุ่มกองกำลังต่าง ๆ จึงเสนอให้รัฐบาลไทย เข้ามาเป็นตัวกลางในการพูดคุย เพื่อหาแนวทางให้การขนส่งสินค้ากลับมาเป็นปกติโดยเร็ว เพราะการค้าชายแดนด้านอำเภอแม่สอด สร้างมีมูลค่าสูงนับแสนล้านบาทต่อปี

2.ด้านความมั่นคง

นอกจากการต้องเฝ้าระวังเรื่องการรุกล้ำข้ามแดนจากทั้งฝ่ายรัฐบาลทหารเมียนมา และฝ่ายต่อต้านแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงจับตาคือ ปัญหาเรื่องสแกมเมอร์ เครือข่ายคอลเซนเตอร์ และการค้ามนุษย์ระดับชาติ ภายในเมืองชเวโก๊กโก่ และ KK Park

ที่ปัจจุบันยังมีคนไทยและคนต่างชาติอีกนับหมื่นคนที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงให้ทำงานอยู่ใน KK Park และชเวโก๊กโก่ รวมทั้งแหล่งธุรกิจสีดำในลักษณะเดียวกันที่มีมากถึง 20-30 แห่ง

โดยคนเหล่านี้สามารถเข้า-ออกชายแดนได้โดยง่ายโดยใช้ช่องทางธรรมชาติที่นั่งเรือข้ามแม่น้ำเมย และลักลอบเข้าประเทศไทย ทำให้ที่ผ่านมาสามารถจับกุมได้เป็นจำนวนมาก

3.ด้านยาเสพติด

ส่วนสถานการณ์ยาเสพติดชายแดน พบว่า ในปี 2566 โดยเฉพาะยาบ้า (เมทแอมเฟตามีน) มีปริมาณการยึดที่สูงขึ้น ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 การผลิตและการลักลอบขนส่งยาเสพติดสังเคราะห์ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ขยายตัวและมีความหลากหลายมากขึ้น และมีการพัฒนารูปแบบในการขนส่งยาที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก

กลุ่มผู้ค้ายายังคงปรับตัวและหลบเลี่ยงการตรวจจับของรัฐบาล โดยเน้นการใช้เส้นทางการขนส่งทางแนวตะเข็บชายเเดนเป็นหลัก ปี 2565 มีการยึดยาบ้าได้เกือบ 151 ตัน และเคตามีนถึง 27.4 ตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 167%

(ข้อมูล : UNODCปี 2566 มีจำนวนผู้ใช้ยาโดยประมาณในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 1.4 ล้านคน โดยในจำนวนนี้ มีรายงานว่ามีเยาวชนใช้ยาเสพติดฉีดเข้าเส้นประมาณ 57,000 คน ถือเป็นตัวเลขสูงขึ้นเป็นอย่างมาก)

รายงาน:ทีมศูนย์ข่าวภาคเหนือ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง