ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชาวนาหนุน "ปุ๋ยคนละครึ่ง" ลดต้นทุนผลิต

เศรษฐกิจ
14 มิ.ย. 67
12:45
1,892
Logo Thai PBS
ชาวนาหนุน "ปุ๋ยคนละครึ่ง" ลดต้นทุนผลิต
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตข้าวชาวนา ต่างได้รับการขานรับเป็นโครงการที่ดี แต่มีเสียงเรียกร้องจากกลุ่มชาวนาเกษตรอินทรีย์ ที่ต้องการให้ภาครัฐเพิ่มเติมการช่วยเหลือค่าปุ๋ยคอกคนละครึ่งด้วย รวมถึงช่วยลดปัจจัยการผลิตด้านอื่นๆ

วันนี้ (14 มิ.ย.2567) หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ หรือ นบข. เห็นชอบในโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิต ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว หรือ ที่เรียกกันแบบชื่อเล่นว่า โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง 

รัฐจะช่วยออกค่าปุ๋ย ค่าเคมี ชีวภัณฑ์ ให้ โดยเป็นปุ๋ยสูตรเดิม 11 สูตร และ จะเพิ่มใหม่อีก 3 สูตร ในอัตราไร่ละไม่เกิน 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ ช่วยเหลือเกษตรกร 4.68 ล้านครัวเรือน ซึ่งเป็นนาข้าวทั่วไป 4.48 ล้านครัวเรือน จำนวนพื้นที่ 54 ล้านไร่ นาข้าวอินทรีย์ 2 แสนครัวเรือน พื้นที่ 1.2 ล้านไร่

รัฐประมาณงบประมาณไว้ที่วงเงิน 29,994 ล้านบาท เตรียมนำเสนอที่ประชุม ครม.พิจารณาภายในเดือนมิถุนายนนี้ เท่ากับว่า ชาวนาก็จะควักเงินจ่ายอีกครึ่งหนึ่งในจำนวนเงินพอๆ กัน คิดแล้วจะมีเงินกว่า 6 หมื่นล้านบาท หมุนไปยังผู้ประกอบการปุ๋ย

อ่านข่าว : อคส.ประกาศรายชื่อ 7 บริษัทผ่านเกณฑ์ ชิงประมูลข้าว 10 ปี

"ปุ๋ยคนละครึ่ง" รัฐช่วยจ่าย หรือ ลดต้นทุน?

ความหมายที่รัฐอยากสื่อสารคือ "ลดต้นทุนการผลิต" ในมุมมองของนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ มูลนิธิชีววิถี หรือ ไบโอไทย ก็มองว่า มันเป็นแค่การช่วยจ่าย ยังไม่ใช่การลดต้นทุน เพราะ ต้นทุนจริงๆ มันเกิดจากการที่ชาวนาไทย ใช้ปุ๋ยมากเกินไป

ยกเอาผลการศึกษา นักวิจัยจากสถาบันวิจัยด้านนโยบายเศรษฐศาสตร์การเกษตร และสิ่งแวดล้อม ที่เปรียบเทียบปริมาณการใช้ปุ๋ยในหลายประเทศ กับ ผลผลิตข้าวที่ได้รับ พบว่า ไทย อยู่ในกลุ่มที่ใช้ปุ๋ยมาก มากกว่าความต้องการไปถึง 35% แต่ผลผลิตไม่มากตาม และ ยังตกค้างในสิ่งแวดล้อม

จากข้อมูล ต้นทุนที่ชาวนาในอำเภอลาดบัวหลวง จ.อยุธยา ต้องจ่ายในการผลิต นาปรัง ปี 65/66 ใน 20 กว่ารายการ เป็นค่าปุ๋ย ถึง 35% ของรายจ่าย โดยมีการบันทึกค่าใช้จ่ายจากการใส่ปุ๋ย 3 รอบ และ ยังไม่นับรวมค่าเคมีชีวภัณฑ์ ทำให้เมื่อหักค่าข้าวที่ขายได้ จะเหลือกำไรเพียงแค่ ไร่ละ 1,070 บาทเท่านั้น

การศึกษา ยังพบว่า เมื่อเปรียบเทียบ ต้นทุนชาวนาไทยต่อตัน ที่มีการศึกษากันในปีที่แล้ว จะพบว่า สูงกว่าคู่แข่ง โดยไทยอยู่ที่ 7,452 , อินเดีย 5,718 เวียดนาม 5,615 และ เมียนมา 4353 บาทต่อตัน

นายวิฑูรย์ ชี้ว่า ที่เวียดนาม มีต้นทุนถูกลงมาอย่างมาก และ ผลผลิตข้าวดีแซงไทย เพราะ เวียดนาม ใช้แผน 3 ลด 3 เพิ่มมา 20 ปี เดินหน้าสู่การเป็นนาอินทรีย์ที่ต้องมากกว่า 50 % ของพื้นที่เพาะปลูกให้ได้

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ราคาปุ๋ยเคมีแพงขึ้นกว่า 2-3 เท่าตัว จากปัญหาสงคราม และ ราคาพลังงานจริง และ แม้จะปรับตัวลงมาในช่วงหลัง แต่ก็ยังสูงกว่าราคาเดิม 20-30% ทำให้มีข้อสันนิษฐานว่า อาจจะมีปุ๋ยต้นทุนสูงค้างในสต็อกเอกชนอยู่พอสมควรหรือไม่ ไบโอไทย มีความกังวลในเรื่องนี้ 

ชาวนาเกษตรอินทรีย์ ขอเพิ่มช่วยค่าปุ๋ยคอกคนละครึ่ง

นายประจักษ์ ฤกศรีจันทร์ ชาวนาในพื้นที่ ต.สระแก้ว อ.เมืองกำแพงเพชร ซึ่งทำนากว่า 30 ไร่ และต้องซื้อปุ๋ยเป็นเงินกว่า 20,000 บาท บอกว่าหากรัฐช่วยค่าปุ๋ยคนละครึ่ง ก็จะช่วยลดต้นทุนในการปลูกข้าวไปได้มาก

ขณะที่ ประสาทพร ใจพรหมเมือง ชาวนาเกษตรอินทรีย์ จ.พิษณุโลก กลุ่มชาวนาที่ปลูกข้าวแบบอินทรีย์ เห็นว่าโครงการดังกล่าวเป็นเรื่องดีช่วยลดต้นทุนให้กับชาวนาได้ แต่ควรพิจารณาเพิ่มเติมให้กับชาวนา ที่ปลูกข้าวแบบเกษตรอินทรีย์ด้วยเพราะต้องการปุ๋ยคอก และสารธรรมชาติอื่นๆ สำหรับการทำนา หากรัฐสนับสนุนก็จะช่วยชาวนากลุ่มนี้ด้วย

ชาวนาเรียกร้องรัฐช่วยลดต้นทุนผลิตด้านอื่นๆ

ชาวนาบ้านเกิ้ง ต.เกิ้ง อ.เมืองมหาสารคาม ต่างสนับสนุนโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง เพราะราคาปุ๋ยเป็นรายจ่ายของชาวนาที่ต้องแบกรับจำนวนมากในแต่ละปี แต่ก็ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนในด้านอื่นด้วยทั้งค่าเกี่ยว หรือ ประกันราคาข้าว

เช่นเดียวกับ นายสวัสดิ์ สะภู ชาวนาบ้านปีกฝาย ต.หนองตาด อ.เมืองบุรีรัมย์ ระบุว่าซึ่งส่วนใหญ่ทำนาหว่าน และ ช่วงนี้อยู่ระหว่างรอฝนตกลงมาหล่อเลี้ยงต้นข้าว เพื่อรอใส่ปุ๋ยบำรุงต้นข้าวที่หว่านไปแล้ว บางคนจึงกำจัดวัชพืชออกจากแปลงนา และตัดหญ้าที่ปกคลุมตามคันนา แต่เมื่อทราบว่ารัฐบาลมีโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง โดยรัฐและชาวนาจ่ายกันคนละครึ่ง ต่างบอกว่าเป็นโครงการที่ดีเพราะจะสามารถช่วยแบ่งเบาต้นทุนในการทำนาได้เป็นอย่างดี เนื่องจากปัจจุบันชาวนาต้องแบกรับ ภาระต้นทุนค่อนข้างสูง ทั้งราคาปุ๋ย น้ำมัน และค่าไถแพงขึ้นมาก แต่ก็ยังต้องทำนาเพื่อเก็บผลผลิตไว้บริโภค และขายในยามจำเป็น

ไม่ต่างจากชาวนาในพื้นที่ตำบลอินทประมูล อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง โดยสมพงษ์ มรกต ที่เห็นด้วยเพราะการปลูกข้าวแต่ละรอบนั้น ต้องใช้ปุ๋ยปริมาณมาก และขณะนี้ราคาปุ๋ยก็ค่อนข้างแพง หากรัฐช่วยเหลือ ก็จะลดค่าใช้จ่ายลงได้ แต่นอกจากโครงการนี้แล้ว ก็ต้องการให้รัฐบาล ช่วยพยุงราคาข้าว อย่าให้ต่ำกว่าตันละ 10,000 บาทด้วย

ส่วนนายสาคู สกุลพราหมณ์ ชาวนา จ.สุพรรณบุรี ระบุว่าโครงการนี้ช่วยเหลือชาวนาได้จริง และน่าจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นในรอบปีการผลิตต่อไป หลังจากช่วงที่ผ่านมา สภาพอากาศร้อน ทำให้ปริมาณผลผลิตลดลง แต่ต้นทุนยังสูงเหมือนเดิม แทบไม่เหลือกำไร

ขณะที่ชาวนา จ.พระนครศรีอยุธยา ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ เพราะชาวนาบางคนใช้วิธีเชื่อปุ๋ยกับร้านค้า หรือเซ็นไว้ก่อน จ่ายทีหลัง จึงมองว่า วิธีการของรัฐอาจไม่ตอบโจทย์ ควรปรับเป็นวิธีอื่น เช่น การใช้คูปองไปแลก

อ่านข่าว : 

กนง.มีมติ สั่งคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% ห่วงหนี้ครัวเรือนพุ่ง

ศาลปกครองสูงสุดตัดสิน "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" รฟม.เดินหน้าต่อ

เศรษฐกิจไทยเผาจริง รง.ปิดตัว 1.7 พันแห่ง KKP ชี้แนวโน้มรุนแรง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง