“สำรวจกองกำลังชาติพันธุ์ ในเมียนมา” ตอน 2

ภูมิภาค
16 มิ.ย. 67
13:37
911
Logo Thai PBS
“สำรวจกองกำลังชาติพันธุ์ ในเมียนมา” ตอน 2
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
วันนี้เราจะพาไปสำรวจในพื้นที่กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์มีการเคลื่อนไหว คือ รัฐกะเหรี่ยง รัฐคะยา รัฐมอญ และ เขตตะนาวศรี รวมถึงโครงสร้างการจัดกำลังของของกองทัพเมียนมา ในเมียนมา

ThaiPBS North จะพามาทำความรู้จักกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ของเมียนมาที่เหลือ หลังจากได้สำรวจกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ ในรัฐคะฉิ่น รัฐยะไข่ รัฐฉาน รัฐชิน ไปแล้ว วันนี้เราจะพาไปสำรวจในพื้นที่กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์มีการเคลื่อนไหว คือ รัฐกะเหรี่ยง รัฐคะยา รัฐมอญ และ เขตตะนาวศรี รวมถึงโครงสร้างการจัดกำลังของของกองทัพเมียนมา ในเมียนมาด้วย

รัฐกะเหรี่ยง มีกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ดังนี้

สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU

เป็นชาติพันธ์ุที่ใหญ่ และมีการสู้รบกับกองทัพเมียนมามาอย่างยาวนาน เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2490 หลังพม่า(ขณะนั้น) เป็นเอกราชจากประเทศอังกฤษ เคลื่อไหวทางทหารในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ และเขตตะนาวศรีบางส่วน

สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU จัดโครงสร้างทางทหารเป็น 2 องค์กร คือ

- องค์การป้องกันชาติกะเหรี่ยง KNDO เป็นกองกำลังติดอาวุธ ที่ตั้งพร้อมกับการก่อตั้งสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU
- กองทัพปลดปล่อยชาติกะเหรี่ยง KNLA จัดกำลังทหารเป็น 7 กองพลน้อย คือ

1. กองพลน้อยที่ 1 มีที่ตั้งกองบัญชาการทหารใน จ.สะเทิม พื้นที่เคลื่อนไหวรัฐกะเหรี่ยงบางส่วน ไปถึงรัฐมอญตอนบน
2 .กองพลน้อยที่ 2 มีที่ตั้งกองบัญชาการทหารใน จ.ตองอู พื้นที่เคลื่อนไหวรัฐกะเหรี่ยงตอนบน ถึงภาคพะโคด้านตะวันออกเฉียงเหนือ
3. กองพลน้อยที่ 3 มีที่ตั้งกองบัญชาการทหารใน จ.เกลอะ พื้นที่เคลื่อนไหวภาคพะโคด้านตะวันออกบางส่วน
4. กองพลน้อยที่ 4 มีที่ตั้งกองบัญชาการทหารใน จ.มะริดและทวาย พื้นที่เคลื่อนไหวภาคตะนาวศรี ตรงข้ามจ.ประจวบคีรีขันธ์
5. กองพลน้อยที่ 5 มีที่ตั้งกองบัญชาการทหารในจ.ผาปูน พื้นที่เคลื่อนไหวควบคุมรัฐกะเหรี่ยงตอนเหนือ ตรงข้ามจ.แม่ฮ่องสอน
6. กองพลน้อยที่ 6 ควบคุมพื้นที่ จ.กอกะเร็ก ทางตอนใต้ของรัฐกะเหรี่ยง และตอนใต้ของรัฐมอญ ตรงข้าม จ.ตาก ถึง จ.กาญจนบุรี
7. กองพลน้อยที่ 7 มีที่ตั้งกองบัญชาการทหารใน จ.ผาอัน พื้นที่เคลื่อนไหวตอนกลางของรัฐกะเหรี่ยง

สภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ KNLA-PC

สภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ หรือ KNLA-PC ก่อตั้งขึ้นหลังเหตุการณ์ที่ พล.อ. ซอ เถ่ หม่อง ถูกสั่งปลดจากตำแหน่ง ผบ.กองพล 7 ของกองทัพปลดปล่อยชาติกะเหรี่ยง KNLA หลังไปเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลเมียนมาและกองทัพเมียนมา โดยไม่แจ้งให้ทางสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU พล.อ. ซอ เถ่ หม่อง พร้อมแกนนำ กองพล 7 (ขณะนั้น) จึงได้ออกมาก่อตั้ง สภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ KNLA-PC ในปีพ.ศ.2550 ขณะนี้มี พล.อ.ซอ ท้อ เล เป็นผู้บัญชาการ โดยทางกลุ่มยังคงเน้นการเจรจาสันติภาพตามแนวทางของ พล.อ. ซอ เถ่ หม่อง ที่วางไว้แต่เดิม

กองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตย DKBA

แยกตัวจากสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ในปี พ.ศ. 2538 เนื่องจากความขัดแย้งทางศาสนา มีกองบัญชาการอยู่ที่บ้านซีเหมี่ยง รัฐกะเหรี่ยง ตรงข้ามบ้านวาเล่ย์ ต.วาเล่ย์ อ.พบพระ จ.ตาก

กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง KTLA

ตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 โดย พ.อ. เนอดา เมียะ อดีตผู้บัญชาการ องค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยง KNDO ลูกชายของนายพลโบเมียะ อดีตประธาน KNU ทั้งนี้กำลังพลส่วนใหญ่เป็นอดีตทหาร KNLA และ KNDO

กองกำลังแห่งชาติกะเหรี่ยง KNA อดีตกองกำลังพิทักษ์ชายแดน BGF ของ หม่อง ชิต ตู่

ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2565 โดยการนำของหม่อง ชิต ตู่ อดีตผู้นำของกองกำลังพิทักษ์ชายแดน BGF ก่อนหน้านี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย DKBA ในปี พ.ศ.2565 หม่อง ชิต ตู่ ได้ประกาศตัดขาดจากกองทัพเมียนมาและเปลี่ยนชื่อกองกำลังของตนเองเป็นกองกำลังแห่งชาติกะเหรี่ยง โดยประกาศวางตัวเป็นกลางระหว่างรัฐบาลเมียนมาและกองกำลัง KNU รวมถึงกองกำลัง PDF (People's Defense Force)

KNA มีพื้นที่เคลื่อนไหวหลักอยู่ในรัฐกะเหรี่ยง โดยเฉพาะพื้นที่ติดชายแดนไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มทุนจีนเทาทำธุรกิจสร้างอาณาจักรมูลค่าหลายแสนล้านบาทร่วมกับ KNA โดยพื้นที่เหล่านี้รู้จักกันในชื่อว่า ชเวโก๊กโก่ และ เคเค พาร์ค

**หมายเหตุ มี กองทัพอาระกัน (AA) และ กองทัพปลดปล่อยอาระกัน (ALA) เคลื่อนไหวในพื้นที่บางส่วน

รัฐกะยา หรือรัฐคะเรนนี

กองทัพกะเหรี่ยงแดง (KA/KNPP)

เป็นของกลุ่มชาติพันธุ์คะเรนนี ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2491 เพื่อสู้รบกับกองทัพเมียนมาในรัฐกะยา เพื่อปกครองตนเองในรูปแบบสหพันธรัฐคล้ายกับหลายพื้นที่ในประเทศเมียนมา ที่ผ่านมามักมีข่าวว่า KNPP ได้ฝึกอบรมให้กับกองกำลังพิทักษ์ประชาชน PDF ที่ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ในรัฐคะเรนนี เพื่อเข้าต่อสู้กับรัฐบาลเมียนมา

กองกำลังป้องกันแห่งชาติคะเรนนี KNDF

ก่อตั้งขึ้นในปี 2021 โดยมีการรวมกลุ่มจากกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยงแดง และกลุ่มเยาวชนในรัฐคะเรนนี (รัฐกะยา) หรือ PDF จึงกลายมาเป็นกองกำลังป้องกันแห่งชาติคะเรนนี หรือ KNDF มีเป้าหมายในการต่อสู้กับรัฐบาลทหารเมียนมา ภายหลังการรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 เพื่อต่อต้านการควบคุมอำนาจของรัฐบาลทหารเมียนมาและปกป้องประชาชนและสิทธิมนุษยชน โดยมีกิจกรรมเคลื่อนไหวอยู่ในรัฐคะเรนนี (รัฐกะยา) และพื้นที่ใกล้เคียง

กองกำลัง KNPLF (ดาวแดง)

มีฐานที่มั่งทางทหารในพื้นที่ อ.แม่แจ๊ะ เป็นอดีตกองกำลัง BGF ของกองทัพเมียนมา แต่หลังการรัฐประหารของกองทัพเมียนมา กองกำลัง KNPLF (ดาวแดง) ได้ประกาศแยกตัวมาอยู่ในฝั่งต่อต้านรัฐบาลเมียนมา คู่กับกองกำลังป้องกันแห่งชาติคะเรนนี KNDF และกองทัพกะเหรี่ยงแดง (KA/KNPP)

**หมายเหตุในรัฐกะยา ยังมีกองกำลังทหารของ KNU คือ กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) และ องค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNDO) ร่วมเคลื่อนไหวในพื้นที่ บางส่วน

รัฐมอญ

พรรครัฐมอญใหม่ (NMSP)

ก่อตั้งในปีพ.ศ. 2501 มีเป้าหมายต่อสู้เพื่ออิสรภาพของชาวมอญ กองกำลังหลักคือ กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติมอญ (MNLA) ซึ่งควบคุมพื้นที่สำคัญใกล้ด่านเจดีย์สามองค์

เขตตะนาวศรี

แนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า (ABSDF) เป็นองค์กรกึ่งทหารกึ่งพลเมือง และเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารในเมียนมา ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2531มีฐานทัพและเคลื่อนไหวในเขตตะนาวศรีและรัฐอื่นๆ โดยไม่มีพื้นที่ปกครองเป็นของตนเอง

** กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติมอญ (MNLA) / กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ทั้งสองกลุ่มนี้มีการเคลื่อนไหวในพื้นที่บางส่วน

นอกจากนี้ในเมียนมายังมีกองติดอาวุธของอีกหลายกลุ่มชาติพันธ์ที่ประจำการตามแนวชายแดนระหว่างประเทศ และอีกกว่า 20 กลุ่มทั่วประเทศที่ลดบทบาทหรือยกเลิกไปแล้ว

เมื่อกล่าวถึงกองติดอาวุธกลุ่มชาติพันธ์แล้ว อีก 1 กองกำลังที่ต้องกล่าวถึงแม้จะก่อตั้งเมื่อไม่นานมานี้ เนื่องจากมีบทบาทในการสู้รบในประเทศเมียนมาเป็นอย่างมากในขณะนี้ คือ

กองกำลังพิทักษ์ประชาชน PDF (People's Defense Force) กองกำลังพิทักษ์ประชาชน PDF เป็นกองกำลังติดอาวุธที่ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบาลเงาแห่งสหภาพแห่งชาติเมียนมา หรือ NUG หลังการรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ พศ. 2564

โดยรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ออกมาเปิดเผยว่า กองกำลังพิทักษ์ประชาชน PDF แบ่งโครงสร้างทางทหารเป็น 5 กองบัญชาการ คือ กองบัญชาการภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก แต่ละกองบัญชาการมีอย่างน้อย 3 กองพลน้อย โดยแต่ละกองพลน้อยประกอบด้วย 5 กองพัน และแต่ละกองพันจะะมีไม่ต่ำกว่า 4 กองร้อย และที่กองกำลังที่สำคัญที่สุดในเมียนมา คงหนีไม่พ้นกองทัพเมียนมา หรือ SAC ในส่วนนี้ ThaiPBS North จะสังเขปโครงสร้างกองทัพตามภูมิภาคแบบย่อๆ ดังนี้

กองทัพภาคตะวันออกเฉียงใต้ (รัฐมอญและกะเหรี่ยง) แบ่งเป็น

- 4 บ.ก.ควบคุมทางยุทธวิถี
- 2 กองพลทหารราบ
- 2 กองบัญชาการควบคุมทางยุทธการ
- 19 กองพันทหารราบ
- 35 กองพันเคลื่อนที่เร็ว

กองทัพภาคชายฝั่ง(มณฑลตะนาวศรี) แบ่งเป็น

- 4 หน่วยบัญชาการยุทธวิธี
- 3 กองบัญชาการควบคุมทางยุทธการ
- 14 กองพันทหารราบ
- 21 กองพันเคลื่อนที่เร็ว

กองทัพภาคสามเหลี่ยม /บ.ก.กองทัพภาค นครเชียงตุงแบ่งเป็น

- 4 หน่วยบัญชาการทางยุทธวิธี
- 2 กองบัญชาการควบคุมทางยุทธการ
- 14 กองพันทหารราบ
- 25 กองพันเคลื่อนที่เร็ว
- 3 กองพัน หน่วยยานเกราะ

กองทัพภาคตะวันออก(รัฐฉานภาคใต้และรัฐกะยา) แบ่งเป็น

-1 หน่วยบัญชาการทางยุทธวิถี
- 4 กองบัญชาการ
- 13 กองพันทหารราบ
- 33 กองพันเคลื่อนที่เร็ว
- 3 กองร้อยปืนใหญ่

กองทัพภาคตะวันออกกลาง เมืองกาลิ อ.กุ๋นเห็ง จ.ดอยแหลม

-1 หน่วยบัญชาการทางยุทธวิธี
-1 กองบัญชาการทางยุทธการ
-1 กองพลปืนใหญ่
-1 กองพันปืนใหญ่
-2 กองร้อยปืนใหญ่
-14 กองพันทหารราบ
-6 กองพันเคลื่อนที่เร็ว
-1 กองพันยานเกาะ

หมายเหตุ***หน่วยบัญชาการยุทธวิธี เทียบเท่า กองพล และกองบัญชาการควบคุมทางยุทธการ เทียบเท่า กรมทหาร

ทุกวันเสาร์ และวันอาทิตย์ ThaiPBS North จะนำเสนอ สกู๊ป “สงครามเมียนมา แยกแผนดิน สะเทือนไทย” ส่วนเรื่องราวสัปดาห์หน้าจะเป็นเรื่องราวอะไร ติดตามได้ใน ThaiPBS North ของศูนย์ข่าวภาคเหนือ ไทยพีบีเอส ทุกช่องทางการสื่อสาร

รายงาน:ทีมศูนย์ข่าวภาคเหนือ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง