องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส โดยศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ หรือ The Active ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA และภาคีเครือข่าย จัดเวที Connecting Soft Power Resource Forum ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงาน THACCA SPLASH : Soft power Forum 2024 เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกับตัวแทนคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 11 ด้าน เพื่อเป็นสะพานเชื่อมให้ชุมชนได้นำเสนอของดี หรือทุนวัฒนธรรมต่าง ๆ สู่นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.67 ที่ผ่านมา
ภายในงานมีการจัดกิจกรรมสำคัญ “Lunch & Talk” ที่ชุมชน ตั้งแต่เหนือจรดใต้ ทั้งกลุ่มภูเขา ชาวเล ชาวเกาะ และตัวแทนชุมชนสามจังหวัดชายแดนใต้ ได้นำเมนูดั้งเดิม มาร่วมรังสรรค์อาหารคาวหวานกว่า 15 เมนู เพื่อถ่ายทอดคุณค่าอาหารและวัตถุดิบของชุมชน สู่เป้าหมายการเชื่อมต่อทางนโยบายและยกระดับทุนวัฒนธรรมชุมชนในมิติต่าง ๆ สู่ซอฟต์พาวเวอร์
รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท.
รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. กล่าวว่า ไทยพีบีเอส จะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมวัฒนธรรมที่มีอยู่ในทุกที่ ทุกท้องถิ่น เป็นวัฒนธรรมที่จับต้องได้สัมผัสได้ แล้วสามารถเชื่อมต่อไปสู่กลไกเชิงนโยบายอย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นวาระหลักสำคัญของไทยพีบีเอส งานในวันนี้ถือเป็นการแลกเปลี่ยนเชื่อมชุมชน เชื่อมนโยบาย สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ยกระดับของดีท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
“บทบาทของเราเป็นสะพานเชื่อม แต่เราจะไม่ได้ทำเพียงการเชื่อมประสานเท่านั้น เรายังมองเห็นโอกาสที่จะขยายผลได้ไกลขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มองค์กร ชุมชน ชาติพันธุ์ ที่มีกำลัง เราจะช่วยผลักดันเรื่องราวเหล่านี้ เชื่อว่าเมื่อไปถึงตรงนั้น จะมีกลไกที่ทำให้ความภาคภูมิใจของคนเหล่านี้มีความยั่งยืน และสามารถส่งต่อไปในภาคนโยบายได้” รศ.ดร.วิลาสินี กล่าว
ณัฐดนัย ตระการศุภกร หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง The Rotate
ณัฐดนัย ตระการศุภกร หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง The Rotate กล่าวว่า สิ่งสำคัญของเวทีนี้คือ “Co-Creation” ไม่ใช่เพียงการร่วมระหว่างคนในชุมชนกับนอกชุมชนเท่านั้น แต่ยังเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ องค์ความรู้ รวมถึงวัตถุดิบต่าง ๆ ได้ร่วมมือกันทำผลิตภัณฑ์ การเปิดพื้นที่กลางนี้ ให้ชุมชนสามารถคิดได้ด้วยตัวเอง พัฒนางานด้วยตัวเอง และเดินได้ด้วยตัวเองนั้น เป็นการยกระดับทุนวัฒนธรรมชุมชน สิ่งสำคัญในเวทีนี้ คือการเริ่มเห็นคนรุ่นใหม่มากขึ้น จึงเป็นก้าวสำคัญที่ตอบโจทย์ว่า เมื่อคนรุ่นใหม่กลับบ้านแล้วจะทำอะไร เพราะคนเหล่านี้เรียกว่าเป็นคนสองวัฒนธรรมคือ รู้จักข้างนอกและข้างใน และเป็นคนขับเคลื่อนหลักในชุมชน
ชุมพล แจ้งไพร ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร
ชุมพล แจ้งไพร ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร กล่าวว่า ตนในฐานะประธานอนุกรรมการ ซอฟต์พาวเวอร์อาหาร และในฐานะผู้ทำโครงการร้านอาหารชุมชน การที่ได้สัมผัสชุมชนตั้งแต่เชียงแสน ไปถึงเบตง ได้เห็นว่า วัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นอัญมณีของชุมชนมีเยอะมากกว่าอาหาร มองว่านี่คือความได้เปรียบของประเทศไทย
จากสิ่งที่เกิดขึ้นในงานครั้งนี้ ได้ถูกนำหยิบยก ไปพูดในเวทีใหญ่ ก่อนปิดงาน THACCA SPLASH : Soft power Forum 2024 ถึง Next step หรือก้าวต่อไป ของ 11 อุตสาหกรรมเพื่อขับเคลื่อนซอฟพาวเวอร์ โดยเชฟชุมพลประกาศกลางเวทีว่า จะขับเคลื่อนหลายโครงการ หนึ่งในนั้นคือโครงการเชฟชุมชน 100 ร้าน โดยได้หยิบยกช่วงการชิมอาหารของท้องถิ่น ไปพูดถึงการขับเคลื่อนนโยบายที่จะเดินหน้าต่อ
“ที่วันนี้ได้ไปชิมอาหารของชุมชนท้องถิ่นที่นำมาเสิร์ฟในเวที Connecting Soft Power Resource Forum ซึ่งเชฟชุมชน เกี่ยวข้องกับทุกชุมชนหมู่บ้าน เราจะไปช่วยพัฒนาต้นน้ำให้สามารถผลิตสินค้าทางการเกษตรที่ดี เป็นโจทย์ที่ต้องทำว่าจะขายอย่างไร และจะทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้สินค้าชุมชนขายได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งหวังให้เกิดความสำเร็จในปีหน้า” เชฟชุมพล กล่าว
ไทยพีบีเอส ร่วมขับเคลื่อนคุณค่าของไทยสู่พลังสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม พร้อมสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยน หาทางออก เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสังคม สามารถติดตามความคืบหน้าในการผลักดันนโยบายซอฟต์พาวเวอร์อุตสาหกรรมหลักทั้ง 11 สาขาผ่าน Policy Watch แพลตฟอร์มที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมบนระบอบประชาธิปไตย สื่อกลางในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะของประเทศที่เชื่อมโยงกับประชาชน ได้ที่เว็บไซต์ https://policywatch.thaipbs.or.th/