ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อนุ กมธ.ทวงหลักฐาน 9 ประเด็นร้อน "กรมประมง" ต้องพูดความจริงกรณี "ปลาหมอคางดำ"

สิ่งแวดล้อม
23 ก.ค. 67
16:28
728
Logo Thai PBS
อนุ กมธ.ทวงหลักฐาน 9 ประเด็นร้อน "กรมประมง" ต้องพูดความจริงกรณี "ปลาหมอคางดำ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

วันนี้ (23 ก.ค.2567) เวลา 10.00 น. คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทาง แก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำเพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ เดินทางมาที่กรมประมง เพื่อตรวจสอบค้นหาข้อเท็จจริง เกี่ยวกับต้นตอปัญหาปลาหมอคางดำ 9 ประเด็น ดังนี้

1.สถานที่จัดเก็บตัวอย่างซากปลาหมอคางดำ
2.ไทม์ไลน์ “สมุดคุม” การรับพัสดุ
3.ไทม์ไลน์ “สมุดคุม” การจัดเก็บข้อมูลดีเอ็นเอปลาหมอคางดำ
4. หนังสือขออนุญาตและ Proprosal การนำเข้าปลาหมอคางดำ
5.รายงานการวิจัยปลาหมอคางดำ ตั้งแต่ต้นจนจบ

6.รายงานการติดตามปลาหมอคางดำ ตั้งแต่ด่านตรวจสนามบิน จนถึงปลายทางที่ฟาร์มวิจัย ของบริษัท CPF ใน จ.สมุทรสงคราม และการดำเนินการต่อจากนั้น
7.รายงานและภาพถ่ายการตรวจสอบฟาร์มวิจัยปลาหมอคางดำ ของบริษัท CPF เมื่อปี 2560
8. รายงานการประชุมของคณะกรรมการ IBC เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2553
9.ครีบปลาหมอคางดำ ในส่วนที่กรมประมง ต้องจัดเก็บไว้เอง

ทั้ง 9 ประเด็น มุ่งไปสู่การค้นหา DNA เพื่อพิสูจน์ว่า ปลาหมอคางดำที่กำลังระบาดรุนแรง มีต้นตอมาจากไหน

สำหรับ 9 ประเด็น ที่ คณะกรรมาธิการฯ ขอตรวจสอบและแจ้งให้ กรมประมงชี้แจง ตามที่ ThaiPBS news รวบรวม มี 9 ประเด็น ดังนี้
1.สถานที่จัดเก็บตัวอย่างซากปลาหมอคางดำ

คณะอนุ กมธ.ฯ จะตรวจสถานที่ “จัดเก็บ” ซากตัวอย่างปลาหมอคางดำ ถ้าดำเนินการอย่างถูกต้อง ซ่ากตัวอย่างปลาหมอ จะต้องจัดเก็บไว้ที่ไหนอย่างไร เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 น้ำท่วมทำลายข้าวของตรงจุดนี้หรือไม่อย่างไร

ประเด็นนี้สืบเนื่องจาก บริษัท CPF ผู้นำเข้าปลาหมอคางดำเพื่อวิจัย อ้างว่าได้ส่งมอบซากตัวอย่างปลาหมอคางดำ ตามข้อกำหนดของการนำเข้า ให้กรมประมงแล้ว โดยดองใส่ในขวดโหล 2 ขวด รวม 50 ตัว แต่อาจสูญหายเพราะถูกน้ำท่วมไปแล้วก็เป็นไปได้ ขณะที่ อธิบดีกรมประมง บอกว่า ไม่เคยได้รับตัวอย่างซากปลาหมอคางดำ ตามที่บริษัทฯกล่าวอ้าง

2.ไทม์ไลน์ “สมุดคุม” การรับพัสดุ และ
3.ไทม์ไลน์ “สมุดคุม” การจัดเก็บข้อมูลดีเอ็นเอปลาหมอคางดำ

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 15 ก.ค.2567 อธิบดีกรมประมง ให้สัมภาษณ์พิเศษ ThaiPBS News ว่า ได้ตรวจสอบไทม์ไลน์ “สมุดคุม” การรับพัสดุ และไทม์ไลน์ศูนย์ข้อมูลดีเอ็นเอ พร้อม “สมุดคุม” การจัดเก็บข้อมูลดีเอ็นเอ ย้อนหลังอย่างละเอียด ไม่พบการรับซากตัวอย่างปลาหมอคางดำ ตามที่บริษัทฯนั้นกลาวอ้าง

วันต่อมา (16 ก.ค.2567) อธิบดีกรมประมง แถลงต่อที่ประชุมคณะกรรมการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำชุดใหญ่ ว่าจะเปิดเผย “สมุดคุม” การรับพัสดุและการนำเข้าดีเอ็นเอ ในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ในวันถัดไป (17 ก.ค.2567)

แต่การแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนวันต่อมา (17 ก.ค.2567) อธิบดีกรมประมง ไม่ได้นำ "สมุดคุม" การรับพัสดุและการนำเข้าดีเอ็นเอ มาเปิดเผย

วันต่อมา (18 ก.ค.2567) อธิบดีกรมประมง รับปากที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯ ว่า จะเปิดเผย “สมุดคุม” ดังกล่าวต่อคณะอนุกรรมาธิการ ฯ ในวันที่ 23 ก.ค.2567 (วันนี้)

4.หนังสือขออนุญาตและ Proprosal การนำเข้าปลาหมอคางดำ ที่ บริษัท CPF ยื่นต่อกรมประมง ตอนขอนำเข้า “ปลาหมอคางดำ” ว่า นำเข้ามาวิจัยอะไรกันแน่ มีขั้นตอนวิจัยอย่างไร ปลาที่นำเข้ามาตัวขนาดไหน

5.รายงานการวิจัยปลาหมอคางดำ ตั้งแต่ต้นจนจบ รายละเอียดการวิจัยแต่ละขั้นตอน ตลอดจนสรุปผลการวิจัย และที่อ้างว่าการวิจัยล้มเหลวนั้น ล้มเหลวอย่างไร เพราะเหตุใด

6.รายงานการติดตามปลาหมอคางดำ ตั้งแต่ด่านตรวจสนามบิน จนถึงปลายทางที่ฟาร์มวิจัย ของบริษัท CPF ใน จ.สมุทรสงคราม และการดำเนินการต่อจากนั้น และที่อ้างว่า ปลาตายเป็นส่วนใหญ่ ตายจริงหรือไม่ ถ้าตายจริง ได้ทำลายซากอย่างไร

7.รายงานและภาพถ่ายการตรวจสอบฟาร์มวิจัยปลาหมอคางดำ ของบริษัท CPF เมื่อปี 2560

ซึ่งเป็นการเข้าไปตรวจสอบฟาร์มวิจัยปลาหมอคางดำ ของบริษัท CPF ที่ จ.สมุทรสงคราม โดยเจ้าหน้าที่กรมประมง 6 นาย เมื่อปี 2560 ซึ่งพบสถานที่ฝังซากปลาหมอคางดำ ตามที่บริษัทฯ กล่าวอ้าง และได้ก่อสร้างอาคารปิดทับไปแล้ว

พร้อมกันนั้น คณะอนุ กมธ.จะถามว่า ช่วงเวลา 7 ปี ก่อนหน้านั้น (2554-2560) กรมประมงได้เข้าไปตรวจสอบฟาร์มแห่งนี้หรือไม่ เพราะเหตุใด
8.รายงานการประชุมของคณะกรรมการ IBC เมื่อ 22 เมษายน 2553

นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ประธานคณะอนุกรรมาธิการ ระบุว่า ได้รับเอกสารรายงานการประชุมฉบับนี้มาบางส่วนอย่างไม่เป็นทางการ จึงต้องการขอรายงานการประชุม ฉบับเต็มอย่างเป็นทางการ

รายงานการประชุมฉบับนี้มีความสำคัญมาก เนื่องจากที่ประชุม IBC กำหนดเงื่อนไขการอนุญาตให้บริษัท CPF นำเข้าปลาหมอคางดำอีกข้อหนึ่งว่า “ให้” กรมประมง เก็บตัวอย่าง “ครีบ” โดยไม่ทำให้ปลาตาย อย่างน้อย 3 ตัว

นพ.วาโย ระบุว่า เงื่อนไขข้อนี้ นับเป็นประเด็นใหม่ เพราะผู้ต้อง “เก็บครีบปลา” คือ กรมประมง ซึ่งเป็นคนละส่วนกับเงื่อนไขที่กำหนดให้ บริษัท CPF เป็นผู้ต้องนำส่งตัวอย่างปลาให้กรมประมง (ที่ยังคงโต้แย้งกัน)

9.ครีบปลาหมอคางดำ ในส่วนที่กรมประมง ต้องจัดเก็บไว้เอง ประเด็นนี้เป็นคำถามสืบเนื่องจากประเด็นที่ 8 ว่า กรมประมงได้ “เก็บครีบปลา” ในส่วนของกรมฯ หรือไม่ อย่างไร ทำไม

ทั้งนี้ ช่วงก่อนเริ่มประชุมวันนี้ ที่กรมประมง นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ได้ส่งมอบเอกสารนำเข้าปลาหมอคางดำ จำนวน 62 หน้า ให้ นพ.วาโย ประธานคณะอนุกรรมาธิการด้วย ซึ่งเกี่ยวข้องใน 5 ประเด็น เกี่ยวกับการนำเข้าปลาหมอคางดำ

หมายเหตุ : อนุ กมธ.อว. คือ "คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษา สาเหตุและแนวทาง แก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย" ในชุด คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร หรือ อนุฯ กมธ.อว. มี นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นประธาน อนุ กมธ. และมี นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล เป็นรองประธาน

อ่านข่าว : “ปลาหมอคางดำ” ใครพลาดอะไร ใครต้องรับผิดชอบ

ปลาหมอบัตเตอร์ ปลาต่างถิ่นต้องห้าม ระบาดหนักในเขื่อนสิริกิติ์

ปลัดเกษตรฯให้เวลา 7 วัน สอบข้อเท็จจริง "ปลาหมอคางดำ" ระบาด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง