สันติภาพชายแดนใต้ 20 ปี มุม "เพชรดาว" อุตสาหกรรมความมั่นคง

อาชญากรรม
26 ก.ค. 67
12:47
239
Logo Thai PBS
สันติภาพชายแดนใต้ 20 ปี มุม "เพชรดาว" อุตสาหกรรมความมั่นคง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

หากมองงบประมาณ ที่รัฐบาลทุกชุดทุ่มลงไปดับไฟใต้ เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา นับแต่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อ 4 ม.ค. 2547 -ก.ค.2567 ประเมินตัวเลขกลม ๆ อยู่ที่จำนวน 497,010.32 แสนล้านบาท หรือเกือบ ๆ 5 แสนล้านบาท

ไล่เรียงเฉพาะงบดับไฟใต้ อยู่ในกลุ่มที่ได้รับการจัดสรรงบ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ตั้งแต่เริ่มระบบงบแผนงานบูรณาการ จนถึงปัจจุบัน ปี 2567 พบว่า ในรอบ 8 ปี งบประมาณอยู่ที่ 77, 674.8 ล้านบาท ปี 2560 จำนวน 12,510.11 ล้านบาท ,ปี 2561 จำนวน 13,255.74 ล้านบาท,

ปี 2562 จำนวน 11,924.27 ล้านบาท ,ปี 2563 จำนวน 10,641.91 ล้านบาท , ปี 2564 จำนวน 9,563.34 ล้านบาท ,ปี 2565 จำนวน 6,912.07 ล้านบาท , ปี 2566 จำนวน 6,208.92 ล้านบาท , ปี 2567 จำนวน 6,658.4 ล้านบาท

อ่านข่าว "ทักษิณ" เปิดบ้านจันทร์ส่องหล้า ทำบุญวันเกิดครบ 75 ปี

ในมุมมองของ พ.ญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา อดีตสส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ เห็นว่า จากวันนั้น ถึงวันนี้ ไม่มีอะไรคืบหน้า นอกจาก อุตสาหกรรมความมั่นคง

นับแต่ปี 2548 รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร มีคำสั่งตั้ง คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ (กอส.) มีข้อเสนอมากมาย...แต่หลังจบรายงาน เกิดการปฏิวัติ รัฐประหาร หลายครั้ง การแก้ไขปัญหาต่างๆในพื้นที่ชายแดนใต้ ไม่มีความเปลี่ยนแปลง ทั้งๆที่งบประมาณที่ถูกทุ่มลงไป ไม่ได้น้อยลงกว่าเดิม

ขณะเดียวกัน ยังมีวิธีการใช้งบฯ ที่ไม่ได้อยู่ในแผนบูรณาการจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเดียว แต่ยังกระจายอยู่ตามกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระ ทรวงมหาดไทย และกระทรวงการอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์ แต่ปัญหาเดิมๆ คือ ขาดความต่อเนื่องในการทำงาน

แม้ไม่ได้รับผิดชอบปัญหาความมั่นคงในในพื้นที่ชายแดนใต้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า พรรคภูมิใจไทย ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลยุคนี้ มีภารกิจรับผิดชอบ ดูแลชีวิตประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย กระทรวงมหาดไทย ในฐานะฝ่ายปกครองและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีภารกิจดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หากมีการปูพื้นฐานด้านการศึกษาเด็กทั่วประเทศ ให้มีคุณภาพ และส่งต่อให้โรงเรียนภายใต้การกำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ หลังพ้นรั้วมัธยมศึกษาก็เข้าสู่มหาวิทยาลัย ก็จะมีกระทรวงการอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์ สนับสนุนทุนทำการวิจัย

อ่านข่าว "เฉลิม-ทักษิณ" สิ้นสุดทางเพื่อน 30 ปี

หากจับประเด็นถูกทิศทาง ไม่ใช่เรื่องยากที่พรรคภูมิใจไทยจะปักธงเปิดพื้นที่แจ้งเกิดสส.ในสามจังหวัดชายแดนใต้ได้ 

พ.ญ.เพชรดาว อีกฐานะหนึ่งที่สวมหมวกเป็นที่ปรึกษาของรมว.อว.ค้นพบว่า เมื่อครั้งเป็นกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯได้ให้ทุนนักศึกษา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านศูนย์บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2550 -2567 ถึงจำนวน 5,000 คน ปีละ 4 หมื่นบาท /ปี /คน ผู้ที่ได้รับทุนจะได้รับการยกเว้นค่าเล่าเรียนและค่าครองชีพ หลังจบการศึกษา ส่วนใหญ่ 70 เปอร์เซ็นต์ได้กลับมาทำงานในพื้นที่ จ.ชายแดนใต้และที่อื่น ๆ

นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนทุนการศึกษาต่างประเทศ จากกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เช่น อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ใหม่ๆ ในเดือนก.ย.นี้ จะมีงาน COMTECH ทำเรื่องโอไอซี มาตรฐานฮาราล เพื่อเปิดโอกาสให้นักธุรกิจรุ่นใหม่ในพื้นที่ เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนและกระจายให้กับคนในสามจังหวัด

"ที่ผ่านมา อว.มีการสนับสนุนแหล่งทุน สตาร์ทอัพ อินโนเวชั่น และนวัตกรรมใหม่ๆ แล้วส่งไปต่อ ยอดที่กระทรวงแรงงาน ...ยอมรับว่า การขับเคลื่อนงานใด ๆ ก็ตาม หากทำตามขั้นตอนจะช้ามาก บางเรื่องจึงต้องใช้ระบบประสานงานหลังบ้าน เช่น จ.ปัตตานี การแก้ไขปัญหาแรงงาน ก็จะประ สาน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ขอให้ 5 เสือแรงงานมาหารือ หาทางช่วยเหลือด้านการจ้างงาน การฝึกอาชีพ ให้คนพิการ และชาวบ้าน ก็ได้รับการตอบรับดี"

คลุกคลีกับปัญหาชายแดนใต้มาตลอดชีวิต พ.ญ.เพชรดาว บอกว่า ความยุติธรรม คือ สิ่งที่ชาวบ้านต้องการ รวมทั้งความต่อเนื่องในการทำงานของรัฐบาล โดยเฉพาะการแต่งตั้งสภาที่ปรึกษาของศอ.บต.ที่หายไปในช่วงปฎิวัติ 8 ปี  แต่วันนี้คนในพื้นที ได้เรียกร้องให้มีการแต่งตั้งกลับเข้ามาใหม่ เนื่องจากสภาที่ปรึกษาศอ.บต.มาจาก การมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ นักการเมืองท้องถิ่น ผู้หญิงและผู้นำศาสนา โดยตรง คาดว่า เร็วๆนี้น่าจะได้คณะทำงาน

ปัจจุบัน ชาวบ้านใน จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ยังคงเป็นจังหวัดที่จน ที่สุดในประเทศไทย และมีการศึกษาต่ำสุด โรคที่เคยหายไปแล้วในจังหวัด หรือภูมิภาคอื่นๆ แต่กลับฟื้นขึ้นมาในพื้นที่ เช่น โรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก

พ.ญ.เพชรดาว เล่าว่า กระทรวงอว.ได้ลงไปทำโครงการโมเดลแก้จน ใน 20 จังหวัด แบ่งความยากจนเป็นระดับ เช่น คนยากจนจริง และคนอยากจน โดยมีการจัดกลุ่มคนจน 5 ประเภท คือ จนที่อยู่ได้ ,จนที่อยู่ไม่ได้เลย , จนจริงๆ , จนที่ยังสามารถช่วยเหลือตนเองได้ และจนประเภทหากได้รับการสนับสนุน ก็จะพัฒนาก้าวพ้นความยากจนไปอยู่อีกระดับหนึ่งได้ เพราะในแต่ละจังหวัด ที่สภาพพื้นที่อยู่ติดทะเล บนบก ชายฝั่ง จะมีโมเดลแก้ปัญหาความยากจนต่างกัน

ตัวตนจริง ๆ ของคนในพื้นที่ เขาไม่ได้ทะเยอทะยาน อยากรวย พอเพียง พอมี พอกินก็พอแล้ว บางครั้งรับงานมาก ๆ แล้ว เขาเหนื่อย ไม่ทำ แต่เมื่อเงินหมด ก็มาขอทำงานใหม่ นี่คือ ธรรมชาติของคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

นอกจากนี้ คำว่า "จน" ในคำนิยามของรัฐ และชาวบ้านแตกต่างกันมาก ชาวบ้านไม่ได้รู้สึกว่า เขาจน กินข้าวอิ่มก็อยู่ได้แล้ว 

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะได้คำว่า "พิเศษ" ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นทุนเข้ามหาวิทยาลัย หรืออื่น ๆ ขณะเดียวกันก็ถูกตั้งคำถามจากกลุ่มคนไทยพุทธ ในพื้นที่ว่า ทำไม สิทธิพิเศษนี้จึงได้เฉพาะกลุ่มคนมุสลิม

จะเห็นได้ว่า 20 ปีที่ผ่านมา รัฐเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบ มากที่สุดในโลก เวลาไปแลกเปลี่ยนในเวทียูเอ็น เขาอาจมีตัวเลขผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ของไทย ไม่แพ้ใคร

การเยียวยาดังกล่าว รวมถึงทุนการศึกษาที่รัฐให้กับครอบครัวผู้ตกเป็นเหยื่อจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ โดยให้ทุนกับเด็กกำพร้าเรียนจนจบปริญญาตรี กล่าวคือ ได้รับเงินเยียวยาถึงอายุ 25 ปี แต่ปัญหาที่พบ เด็กส่วนใหญ่ ไม่เรียนต่อ ตัวเลขจากกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า มีจำนวนถึง 3,000-4,000 คน

"...ผู้ปกครองเด็กในพื้นที่ ไม่ได้อยากให้ลูกเรียนหนังสือ เพราะมองว่าต้องเสียเวลาถึง 12 ปี แต่หากไปกรีดยาง หรือเก็บลองกอง จะเห็นเงินชัดกว่า ดังนั้นการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้จะต้องครบวงจร จริงๆ "

ขณะที่ ในส่วนของชาวบ้าน ก็เริ่มชินกับการได้รับความช่วยเหลือ หากมีงานอะไรให้ทำ จะถูกถามกลับว่า โครงการเป็นอย่างไร มีงบประมาณมาก-น้อยแค่ไหน ซึ่งไม่ต่างจากประเทศที่มีสงคราม ทุกคนพูดเหมือนกันหมดว่า เมื่อเอาเงินมาเป็นตัวตั้งในการแก้ปัญหา คนในพื้นที่จะเริ่มชินกับการเข้าร่วมสัมมนา การแลกเปลี่ยน แล้วจึงจะเข้าร่วม

หมอเพชรดาว มองว่า การแก้ไขปัญหา หากไม่อยู่บนรากฐานของข้อเท็จจริง ก็ไม่ประสบความสำเร็จ หากย้อนกลับไปดูข้อเรียกร้องในอดีต ตั้งแต่ยุค หะยี สุหรง โต๊ะมีนา จนถึงปัจจุบัน ไม่ไแตกต่างกันเลย คือ การชูในเรื่องอัตลักษณ์ …หรือมีโครงการอบรม ครูโรงเรียนตาดีกา 

แต่ปรากฏว่า เรื่องแรกที่ถูกพูดถึง คือ ค่าตอบแทน ...จริงๆ เราไม่อยากให้เขามองเรื่องเงินเป็นหลัก ต้องการให้เน้นให้ครู มีการฝึกอบรม พัฒนาทักษะ ฝึกสมองเด็ก เพราะวัยทองของเด็ก คือ ช่วงอายุ 0-6 ขวบ อยากให้มีการพัฒนาอาหารสมองเป็นเรื่องหลัก อยากให้ชุมชน ครู ผู้ปกครอง เข้ามามีส่วนร่วม

การกลับมุมคิดของชาวบ้าน เรื่องใช้เงินเป็นตัวตั้ง ไม่ง่าย เพราะแทบทุกภาคส่วนในพื้นที่ใช้เงินเป็นตัวขับเคลื่อน...ในขณะที่เรามองในเรื่อง การศึกษาเพื่อความมั่นคง ในระยะยาว อยากให้ใช้มีการใช้ภาษาแม่ เป็นอัตลักษณ์ในการเรียนการสอน เช่น ภาษามลายู เจ๊ะเห พิเทน จีน ฮักกา เนื่องจากในพื้นที่ภาคใต้ 70 % เป็นคนมลายู โดยเขียนเป็นภาษา รูมี หรืออักษรยาวี ก็ได้ แทนที่จะเขียนโดยใช้ภาษาไทยสะกด มันก็จะไม่มีการต่อต้าน

ในยุคกอส.เคยมีข้อเสนอให้ใช้ภาษามลายู เป็นภาษาทำงาน แต่ความมั่นคงไม่เห็นด้วย...ทั้งๆที่มันเป็นต้นทุนดี ๆ ที่จะสื่อสารกับคนมุสลิม 300 ล้านคนทั่วโลก หากมีการยกระดับภาษามลายูบ้านเรา เป็นฐานที่มากให้เป็นภาษามลายูกลาง เพื่อสื่อสารกับ มาเลย์ อินโดนีเซีย บรูไนล์ และสิงคโปร์ได้ เมื่อเด็กเรียนจบ ไปทำงาน ตรงนี้เป็นต้นทุนความมั่นคงของประเทศ และต้นทุนของเยาวชนโดยที่เขาไม่รู้ตัว

"...ฝ่ายความมั่นคงต้องเปลี่ยนทัศนคติ หากสร้างเด็กในบ้านเรา ให้สามารถสื่อสารได้หลายภาษา ภาษาอังกฤษ ไทยและมลายู อย่ามองว่า การใช้ภาษามลายูเป็นการทำลายอัตลักษณ์"

อ่านข่าวอื่นๆ 

จ่อฟ้องแพ่งค่าเสียหายคดี สวล."ปลาหมอคางดำ"

หลักฐานใหม่ DNA "ปลาหมอคางดำ" ระบาดมีแหล่งที่มาร่วมกัน

ศาลสั่ง กทม.-กรุงเทพธนาคม จ่ายหนี้ BTS สายสีเขียว 1.2 หมื่นล้าน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง