วันนี้ (26 ก.ค.2567) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ปัจจุบันบรรยากาศการค้าโลกเริ่มมีความวิตกกังวลต่อแนวโน้มการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า ทั้งยังมีความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งในหลายประเทศ นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี เช่น การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ยังส่งผลให้ความต้องการของเครื่องยนต์สันดาปฯ หดตัวลงอย่างชัดเจน
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)
ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกของไทยครึ่งแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 145,290.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.0 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 150,532.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 3.0 ดุลการค้าครึ่งแรกของปี 2567 ขาดดุล 5,242.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เฉพาะเดือนมิ.ย. มีมูลค่า 24,796.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบร้อยละ 0.3 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 24,578.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 0.3 ดุลการค้า เกินดุล 218.0 ล้านเหรียญสหรัฐ
โดยการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร กลับมาติดลบ ในรอบ 3 เดือน ที่ร้อยละ 3.3 ซึ่งสินค้าสำคัญที่ส่งออกติดลบ เช่น ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง น้ำตาลทราย เครื่องดื่ม เป็นต้น ส่วนสินค้าเกษตรที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว ยางพารา ไก่แปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เป็นต้น
ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม กลับมาขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน ที่ร้อยละ 0.3 มีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 54.2 หดตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ครึ่งแรกของปีการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว ร้อยละ 2.0
สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ เช่น สหรัฐฯ CLMV ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกา ยังคงติดลบ เล็กน้อยตามความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า แต่มีบางตลาดที่ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก หดตัวร้อยละ 1.3 ตามการหดตัวของการส่งออกไปตลาดจีน ญี่ปุ่น และอาเซียน (5)
แต่ขยายตัวต่อเนื่องในตลาดสหรัฐฯ และ CLMV และกลับมาขยายตัวในตลาดสหภาพยุโรป (27) ส่วงนตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 2.5 ในตลาดเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา ลาตินอเมริกา ส่วนตลาดที่หดตัว เช่น ทวีปออสเตรเลีย รัสเซียและกลุ่ม CIS และสหราชอาณาจักร ตลาดอื่น ๆ
ผอ.สนค. กล่าวถึง แนวโน้มการส่งออกในปี 2567 ว่า จะขยายตัวได้ตามเป้าหมายร้อยละ 1-2 โดยมีปัจจัยบวกจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร และการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลที่สนับสนุนความต้องการสินค้าที่เกี่ยวข้อง ขณะที่มีปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้งที่ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาดลดลง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงอยู่
สงครามกลางเมืองในหลายประเทศ ปัญหาค่าระวางเรือที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจของคู่ค้าบางประเทศฟื้นตัวได้ค่อนข้างล่าช้า รวมถึงการเลือกตั้งในหลายประเทศสร้างความไม่แน่นอนทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนเพื่อรอท่าทีนโยบายของรัฐบาลใหม่
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การส่งออกครึ่งปีแรกทำได้ดีขยายตัวถึง 2% ท่ามกลางปัญหารุมเร้า ส่วนครึ่งปีหลัง น่าจะส่งออกได้ใกล้เคียงกับช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 โดยแต่ละเดือนหากทำได้ 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งปี 2567 ก็จะโต 1% แต่หากเพิ่มความพยายามเข้าไปอีกก็จะได้ 2% โดยมีปัจจัยหนุน คือ เงินบาทอ่อนค่า ค่าระวางเรือที่ไม่น่าจะปรับขึ้นสูงไปกว่าปัจจุบัน หลังจากปรับขึ้นจากปกติมาแล้ว 3-4 เท่า และกำลังซื้อของคู่ค้าก็น่าจะเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น
อ่านข่าว:
เช็ก! เงื่อนไข "ดิจิทัลวอลเล็ต" ขั้นตอนลงทะเบียน "ทางรัฐ"
อสังหาฯ ชะลอ ฉุดราคาที่ดินเปล่าร่วง “REIC” ชี้ผู้ประกอบการเมินซื้อสะสม