ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“ซีพีเอฟ” ยื่นเอกสารให้ อนุ กมธ. ยืนยันส่ง “ซาก” ปลาหมอคางดำให้กรมประมงแล้ว

สิ่งแวดล้อม
26 ก.ค. 67
22:54
799
Logo Thai PBS
“ซีพีเอฟ” ยื่นเอกสารให้ อนุ กมธ. ยืนยันส่ง “ซาก” ปลาหมอคางดำให้กรมประมงแล้ว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
“ซีพีเอฟ” ยืนยันส่ง “ซาก” ปลาหมอคางดำ ให้กรมประมงแล้ว ส่วนปลาหมอคางดำที่กรมประมงพบในบ่อพักน้ำ ฟาร์มวิจัยยี่สาร เมื่อปี 2560 ไม่เกี่ยวกับในบ่อเลี้ยง

วันที่ 25 ก.ค.2567 ในการประชุมของ คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทาง แก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำเพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ ที่อาคารรัฐสภา (อนุ กมธ.)

ผู้บริหาร CPF ไม่ได้เดินทางมาชี้แจง กับ อนุ กมธ.ตามคำเชิญ แต่ส่งเอกสารมาชี้แจงแทน โดยลำดับเหตุการณ์ ดังนี้

วันที่ 22 ธ.ค.2553 ซีพีเอฟนำเข้าลูกปลาหมอคางดำ ขนาด 1 กรัม จำนวน 2,000 ตัว จากประเทศกาน่า ใช้เวลาเดินทางด้วยเครื่องบิน 35 ชั่วโมง เมื่อถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้เปิดกล่องโฟมบรรจุลูกปลา พร้อมเจ้าหน้าที่กรมประมง ที่ประจำ ณ ด่านกักกัน พบลูกปลาตายจำนวนมาก

เมื่อรับลูกปลามาถึงฟาร์ม ได้ตรวจคัดแยก พบว่าลูกปลา มีชีวิตเหลือเพียง 600 ตัว ในสภาพ “ไม่แข็งแรง” จึงนำลูกปลาที่ “ยังมีชีวิต” ลงใน “บ่อเลี้ยงซีเมนต์” เนื่องจากลูกปลามีสุขภาพไม่แข็งแรงทยอยตายต่อเนื่องทุกวัน

เนื่องจากลูกปลาที่เหลือไม่แข็งแรง และจำนวนไม่เพียงพอต่อการวิจัย จึงโทรศัพท์ปรึกษา “เจ้าหน้าที่กรมประมง” ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบที่มีชื่อระบุอยู่ใน “หนังสืออนุมัตินำเข้า” เจ้าหน้าที่ ท่านนี้ แจ้งว่า ให้เก็บตัวอย่างใส่ขวดโหลแช่ฟอร์มาลีนและนำมาส่งที่ “กรมประมง”

ดังนั้นในสัปดาห์ที่ 2 ของการรับปลาเข้ามา จึงเก็บตัวอย่างจำนวน 50 ตัว ดองฟอร์มาลีน เข้มข้น เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน

วันที่ 6 ม.ค.2554 ( สัปดาห์ที่ 3) มีปลาทยอยตายเหลือ 50 ตัว บริษัท จึงยุติการวิจัย และทำลายลูกปลาทั้งหมด โดยใช้ “คลอรีน” ใส่ลงน้ำ ในบ่อเลี้ยงซีเมนต์ เพื่อฆ่าเชื้อและทำลายลูกปลาที่เหลือ

จากนั้น "เก็บลูกปลา" ทั้งหมด แช่ฟอร์มาลีนเข้มข้น 24 ชั่วโมง และนำมา “ฝังกลบ” พร้อมโรยปูนขาว ในวันที่ 7 ม.ค.2554 รวมระยะเวลา ที่ลูกปลาชุดนี้ มีชีวิตอยู่ในประเทศไทย 16 วัน

ซีพีเอฟได้แจ้งต่อกรมประมงถึงการตายของลูกปลา และได้ทำลายซากลูกปลา ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ประมงคนดังกล่าว และส่งตัวอย่างลูกปลาดองทั้งตัว ในฟอร์มาลีน รวม 50 ตัว จำนวน 2 ขวด ขวดละ 25 ตัว ให้กับเจ้าหน้าที่กรมประมงคนดังกล่าว โดยวันที่ 6 ม.ค.2554 ได้เดินทางมาที่กรมประมง และได้โทรแจ้ง เจ้าหน้าที่คนดังกล่าว เรื่องการส่งมอบตัวอย่างลูกปลาดอง ทั้ง 2 ขวด

ซึ่งเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวมอบหมายให้เจ้าหน้าที่อีกคน ลงมารับตัวอย่างแทน ที่อาคารจุฬาภรณ์ กรมประมง ชั้น 1 โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้ขอให้ตัวแทนบริษัท กรอกแบบฟอร์มใด ๆ ทำให้เข้าใจว่า การส่งมอบ “สมบูรณ์” แล้ว

ถัดมา 7 ปี 2560

กรมประมงได้เข้าตรวจเยี่ยม “ฟาร์มยี่สาร” อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เมื่อวันที่ 1 ส.ค.2560 ซึ่งเจ้าหน้าที่จากกรมประมงตรวจสอบ ไม่พบปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยง จึงได้ขอสุ่มในบ่อพักน้ำ ที่เชื่อมต่อกับแหล่งน้ำธรรมชาติ

ซึ่งบ่อพักน้ำ “R 2” ของฟาร์ม ไม่ได้เป็นส่วนของบ่อเลี้ยง แต่เป็นส่วนที่เชื่อมกับแหล่งน้ำธรรม เพื่อรอการกรองและฆ่าเชื้อ ทำความสะอาด ก่อนนำน้ำเข้ามาใช้ในฟาร์ม ดังนั้นการสุ่มในบ่อพักน้ำจึงไม่แปลก ที่ปลาจะเป็นชนิดเดียวกับในแหล่งน้ำธรรมชาติ

การนำปลามาเปรียบเทียบว่า เป็นปลาชนิดเดียวกันหรือไม่ จึงเป็นการตั้งสมมติฐานที่ทราบคำตอบตั้งแต่ต้นว่า เป็นปลาชนิดเดียวกัน เพราะมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติเดียวกัน

สรุปได้ว่า ซีพีเอฟไม่มีการวิจัย หรือเลี้ยงปลาหมอคางดำอีกเลย นับตั้งแต่เดือน ม.ค.2554

ถึงแม้บริษัทมั่นใจว่า ไม่ได้เป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาด แต่พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ในการบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน จึงได้ขับเคลื่อน 5 โครงการสำคัญ เช่น รับซื้อปลาหมอคางดำ 2 ล้านกิโลกรัม ราคา กก.ละ 15 บาท, สนับสนุนปล่อยปลาผู้ล่า 200,000 ตัว ตามแนวทางกรมประมง

หมายเหตุ : เอกสาร ที่ซีพีเอฟส่งให้ อนุ กมธ.ได้ระบุชื่อ นามสกุล ตำแหน่งเจ้าหน้าที่กรมประมง ที่ บริษัทอ้างถึงในเอกสารชัดเจน

อ่านขาว : จ่อฟ้องแพ่งค่าเสียหายคดี สวล."ปลาหมอคางดำ"

หลักฐานใหม่ DNA "ปลาหมอคางดำ" ระบาด "ไบโอไทย" อ้างมีแหล่งที่มาร่วมกัน

นักวิชาการแม่โจ้แนะเร่งกำจัด “ปลาหมอคางดำ” ก่อนปลาไทยสูญพันธุ์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง