งานวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่าความเสียหายที่เกิดจากปลาหมอคางดำ อยู่ที่ประมาณตำบลละ 100 ล้านบาท ต่อปี ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์บ่อปลาของเกษตรกรบ่อกุ้ง แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ที่ขาดทุนต่อเนื่อง นับตั้งแต่พบปลาหมอคางดำ ในปี 2554
ซึ่งเกษตรกรบ่อกุ้งแห่งนี้ที่เนื้อที่ 300 ไร่ เมื่อ 7-8 เดือนที่แล้วสามารถจับปลาหมอคางดำได้ประมาณ 10 ตัว ซึ่งจากการลองหว่านแหในวันนี้ พบว่ามีเพียงปลาหมอคางดำชนิดเดียวติดขึ้นมากับแห ไม่มีกุ้งเลย และปลาหมอคางดำบางตัวก็มีไข่ในปากแล้วพร้อมที่จะขยายพันธุ์ ทั้งนี้บ่อกุ้งจะเลี้ยงแบบเปิดที่รับน้ำมาจากธรรมชาติ ทั้งนี้ยังอยู่ใกล้กับคลองยี่สาร ซึ่งพบการระบาดของปลาหมอคางดำมาตั้งแต่ปี 2554 ด้วย
ปลาหมอคางดำเกือบทั้งหมดมาจากคลองธรรมชาติ ดังนั้นสิ่งที่สะท้อนว่า ระบบนิเวศในพื้นที่นั้นๆ ยังดีอยู่หรือไม่ ก็คือความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ ความน่าเป็นห่วงของแม่น้ำใน จ.สมุทรสงคราม ขณะนี้ คือปลาพื้นถิ่นที่เคยชุกชุม ตอนนี้แทบหาไม่ได้แล้ว
การหาสัตว์น้ำจากลำคลอง ถือเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน ที่หาเพื่อบริโภค และจำหน่ายเพื่อเป็นรายได้จากรุ่นสู่รุ่น
ทั้งนี้เพียง 10 ปี วิถีธรรมชาติที่ยึดโยงกับธรรมชาติของชาวบ้านก็เริ่มเปลี่ยนไป ป่าชายเลนที่มีสภาพน้ำกร่อยเป็นทั้งแหล่งอาหารและแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ทำให้สมุทรสงครามอุดมสมบูรณ์ เหมาะกับการเจริญเติบโตและการขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำหลายชนิด เช่นเดียวกับเอเลียนสปีชีส์อย่างปลาหมอคางดำ
จากคำบอกเล่าของ นายสมาน รุ่งแจ้ง ชาวบ้าน ทำให้ทราบว่าหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนไม่ออกมาหาสัตว์น้ำ เนื่องจากปลาในคลองธรรมชาติหาได้ยากขึ้น จะหาได้ก็มีแต่ปลาหมอคางดำ
เจ้าของแพปลา จ.สมุทรสงคราม ให้ข้อมูลว่า สัตว์น้ำที่รับซื้อมาจากบ่อเลี้ยงแบบปิดเกือบทั้งหมด ไม่มีปลาหรือสัตว์น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเลย ซึ่งต่างจากเมื่อ 10 ปีก่อน
การวิเคราะห์ของสถานีวิจัยประมงสมุทรสงคราม คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่าการลดลงของปลาพื้นถิ่นได้ถูกแทนที่โดยปลาหมอคางดำ คือสัญญาณหายนะของระบบนิเวศและเมื่อมันทำลายจนธรรมชาติขาดความสมดุลเป็นเรื่องยากที่จะฟื้นกลับคืนมา
อ่านข่าว :
ย้อนไทม์ไลน์ 2 ปี “ไทยพีบีเอส” ล่า “ปลาหมอคางดำ”
“ซีพีเอฟ” ยื่นเอกสารให้ อนุ กมธ. ยืนยันส่ง “ซาก” ปลาหมอคางดำให้กรมประมงแล้ว