ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อ.เจษฎ์ชี้ "มันเป็นปลาหมอคางดำที่อ้วน" ไม่ใช่ "ปลานิลกลายพันธุ์"

สิ่งแวดล้อม
31 ก.ค. 67
12:20
3,406
Logo Thai PBS
อ.เจษฎ์ชี้ "มันเป็นปลาหมอคางดำที่อ้วน" ไม่ใช่ "ปลานิลกลายพันธุ์"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"มันเป็นปลาหมอคางดำที่อ้วน" ไม่ใช่ "ปลานิลคางดำ" อ.เจษฎ์ ระบุ ถ้าสภาพแวดล้อมดี อาหารดี โตได้ถึง 11 นิ้วเลยทีเดียว

วันนี้ (31 ก.ค.2567) จากกรณีเจ้าของธุรกิจเลี้ยงกุ้งแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการ มาเปิดประเด็นกับสื่อมวลชนว่า พบปลานิลที่มีลักษณะคล้าย “ปลาหมอคางดำ” ซึ่งอาจจะเป็นการผสมพันธุ์กับ “ปลาหมอคางดำ” จนกลายเป็น “ปลานิลคางดำ” นั้น

ทำให้เกิดการถกเถียงกันเป็นอย่างมากถึงความเป็นไปได้ว่า “จริงหรือไม่” หรือ “เป็นไปได้หรือไม่” ที่ปลาทั้งสองชนิดจะผสมพันธุ์กัน

ต่อมาเวลาประมาณ 09.00 น. วันนี้ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก

https://www.facebook.com/jessada.denduangboripant ถึงเรื่องดังกล่าวระบุว่า

เช้าวันนี้มีพาดหัวข่าว กันหลายสำนักข่าวเลย ว่าเจอ “ปลานิลคางดำ” ปลานิลกลายพันธุ์มาจากปลาหมอคางดำ หรือเป็นลูกผสมระหว่างปลานิลกับปลาหมอคางดำ !?

ซึ่งผมว่า มันไม่ใช่ปลากลายพันธุ์หรือปลาลูกผสมอะไรหรอกครับ เพราะดูตามในรูป ในคลิปข่าวแล้ว ก็ปลาหมอคางดำนั่นแหละครับ แค่มันกินจนอ้วนใหญ่ จนคนไม่คุ้นตากัน เพราะคิดว่ามันจะต้องผอมเรียวยาวเท่านั้น

จากข้อมูลของที่แอฟริกา ปลาหมอคางดำนั้น ถ้าเติบโตดี อาหารดี จะยาวเฉลี่ย 8 นิ้วนะครับ และสถิติตัวยาวสุดนี่ ถึงขนาด 11 นิ้วเลยครับ (และเป็นปลาอาหารชนิดหนึ่ง ของคนในท้องถิ่นครับ)

การจำแนกความแตกต่างระหว่าง “ปลาหมอคางดำ” ออกจาก “ปลาหมอเทศ” และ “ปลานิล” ให้ดูที่ลักษณะจำเพาะของมัน อย่าดูแต่ความอ้วนผอมครับ

โดย ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการอิสระ ด้านความหลากหลายของสัตว์น้ำ เคยโพสต์ข้อมูลไว้ว่า ปลาหมอคางดำ หรือ blackchin tilapia (หรือชื่อวิทยาศาสตร์ Sarotherodon melanotheron) จะมีลักษณะเด่นคือ ใต้คาง มักมีแต้มดำ หางเว้าเล็กน้อย และไม่มีลายใดๆ

ในขณะที่ ปลาหมอเทศ หรือ Mozambique tilapia (ชื่อวิทยาศาสตร์ Oreochromis mossambicus) จะมีแก้ม ในตัวผู้มักมีแต้มขาว หางมน มีขอบแดงเสมอ

ส่วนปลานิล หรือ Nile tilapia (ชื่อวิทยาศาสตร์ O. niloticus) จะมีแก้มและตัวสีคล้ายๆ กัน หางมน และมีลายเส้นคล้ำขวางเสมอ

ซึ่งถ้าพิจารณาดูจากปลาต้องสงสัยในคลิปข่าวแล้ว ก็จะเห็นว่า ไม่ได้มีลักษณะ “ลายเส้นคล้ำขวาง (ตามลำตัว และหาง)” แบบปลานิล ที่จะให้คิดว่าเป็นปลานิลกลายพันธุ์มาคล้ายปลาหมอคางดำ หรือเกิดลูกผสมกัน

แต่มีรูปร่างหน้าตาสีสันไปทางเดียวกับปลาหมอคางดำตามปกติ เพียงแต่ตัวอ้วนกว่าเท่านั้นครับ

ข้อสังเกตอีกอย่างคือ ปลานิลและปลาหมอเทศนั้น (สกุล Oreochromis) เป็นปลาคนละสกุล กับปลาหมอคางดำ (สกุล Sarotherodon) เลยครับ การที่อยู่ ๆ ในเวลาไม่กี่ปีนี้ มันจะกลายพันธุ์มาคล้ายกันได้นั้น ก็เป็นไปไม่ได้เลย

ส่วนการเกิดลูกผสมข้ามสกุล ระหว่างปลานิลกับปลาหมอคางดำนั้น เคยโพสต์อธิบายอย่างละเอียดแล้วว่า มีการทดลองทำได้จริงในระดับงานวิจัย แต่ทำลูกผสม F1 สำเร็จได้ในปริมาณที่น้อยมาก ๆ และไม่มีรายงานว่าเกิดขึ้นในธรรมชาติครับ

ลองอ่านข่าวที่รายงานกันอยู่นะครับ ว่าสมเหตุสมผลแค่ไหนครับ
----------
(ข่าว) เจ้าของวังกุ้ง พาผู้สื่อข่าวตรวจ ‘ปลานิลคางดำ’ คาดกลายพันธุ์จาก ปลาหมอคางดำ ชี้เพิ่งพบในบ่อ ฝากหน่วยงานเกี่ยวข้องมาตรวจสอบ ว่ามีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน
นายอดิศร จันทร์สุขสวัสดิ์ เจ้าของวังกุ้ง พื้นที่หมู่ 6 ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ พาผู้สื่อข่าวเข้าไปทอดแห สุ่มจับปลาในบ่อเลี้ยงขึ้นมาดูว่ามีลักษณะผสมกันระหว่าง ปลาหมอคางดำ กับ ปลานิล แล้วกลายพันธุ์เป็น “ปลานิลคางดำ” จริงหรือไม่
จากการทอดแห 2 ครั้ง จับได้ปลาขึ้นมาหลายชนิด คือ ปลากะพง ปลานิล ปลาหมอคางดำ ปลาซักเกอร์ และปลาเป้าหมาย ที่มีลักษณะเหมือนที่ตั้งข้อสังเกตสงสัยว่าจะเป็นปลากลายพันธุ์

ซึ่งมีลักษณะเหมือนปลานิลแต่ที่คางสีดำ พร้อมทั้งได้นำปลานิลตัวโตวางเรียงไว้ด้านบน ต่อด้วยปลานิลตัวเล็ก และปลาต้องสงสัยว่ากลายพันธุ์อยู่ล่างสุด โดยปลาทั้งสามตัวมีรูปร่างลักษณะเหมือนกัน แต่ตัวล่างสุดที่คางมีสีดำ

นายอดิศร กล่าวว่า ปลานิลจะมีลักษณะตัวอ้วนกลม คางไม่มีสีดำ ปากจะยื่นยาวแหลมกว่าปลาหมอคางดำ ที่ตัวผอมยาวหัวโต

ส่วนปลาต้องสงสัยว่ากลายพันธุ์ ตัวอ้วนกลมเหมือนปลานิล แต่ที่คางมีสีดำเหมือนปลาหมอคางดำ ตอนนี้ในบ่อเลี้ยงเพิ่งพบปลาลักษณะนี้ ยังไม่รู้ว่าถ้าหากเป็นปลาที่กลายพันธุ์จริง ๆ จะมีผลกระทบกับเกษตรกรอย่างไร

ต้องฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่มานำตัวอย่างไปวิจัยถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ถ้ามีผลเสียมากกว่าจะได้หาแนวทางป้องกันได้ทันเวลา ไม่ส่งผลกระทบสร้างปัญหาซ้ำซ้อนขึ้นอีก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง