กรมชลฯเผย 4 เขื่อนหลักยังรับน้ำได้อีก 13,276 ล้าน ลบ.ม.

ภัยพิบัติ
13 ส.ค. 67
16:22
213
Logo Thai PBS
กรมชลฯเผย 4 เขื่อนหลักยังรับน้ำได้อีก 13,276 ล้าน ลบ.ม.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมชลประทาน เผย 4 เขื่อนหลักมีน้ำ 11,595 ล้าน ลบ.ม. (47 %) ของความจุอ่างฯรวมกัน ยังรับน้ำได้อีก 13,276 ล้าน ลบ.ม.

วันนี้ (13 ส.ค.2567) ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (swoc) นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (13 ส.ค.2567) พบว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 44,338 ล้าน ลบ.ม. (58 % ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 20,395 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 31,999 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 11,595 ล้าน ลบ.ม. (47 % ของความจุอ่างฯรวมกัน) เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 4,899 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 13,276 ล้าน ลบ.ม.

นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 13-15 ส.ค.2567 ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับในช่วงวันที่ 16-18 ส.ค.2567 ร่องมรสุมกำลังปานกลางจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ตลอดช่วง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักในบางแห่ง ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศ รวมทั้งสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด

พร้อมนำข้อมูลจากหน่วยงานพยากรณ์ที่เกี่ยวข้อง นำไปวางแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ของตน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด พร้อมปฏิบัติตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 67 ของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) อย่างเคร่งครัด

รวมถึงดำเนินตามมาตรการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2567 ของกรมชลประทาน เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งหน้า การส่งเสริมให้เกษตรกรใช้น้ำฝนเป็นหลักในการเพาะปลูก การบริหารจัดการน้ำท่าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งวางแผนป้องกันอุทกภัย เพื่อลดผลกระทบและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุด

ตามที่นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง เพื่อการพัฒนาภาคเกษตรของไทย ยกระดับภาคการเกษตรให้เกษตรกรไทยสามารถประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยส่งเสริมเกษตรกรให้มีรายได้มากขึ้น 3 เท่าใน 4 ปี ดูแลตั้งแต่ต้นน้ำในภาคการผลิตจนถึงการแปรรูปส่งออกไปยังตลาดโลกด้วยนโยบายและมาตรการที่สำคัญต่างๆ ซึ่งกรมชลประทาน

นอกจากจะบริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งแล้ว ยังร่วมขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ด้วยการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและความยั่งยืน ด้านปัจจัยการผลิต มีการมอบหมายให้ทุกโครงการฯ เร่งสำรวจพื้นที่ เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานจาก 35 ล้านไร่ เป็น 40 ล้านไร่ ภายในปี 2570 เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำอย่างยั่งยืนในอนาคต

อ่านข่าว : "เศรษฐา" ย้ำกรมชลฯ จัดการน้ำรับมือฝน ลดผลกระทบ ปชช.  

กรมชลฯ เตรียมรับฤดูฝน-จับตาช่วง ส.ค.-ต.ค.เสี่ยงฝนตกหนักสุดขั้ว 

ชาวนาอยุธยาขู่ฟ้องกรมชลฯ หากผันน้ำเข้าทุ่งก่อน 15 ก.ย.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง