ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"เศรษฐา" ไม่รอด ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินพ้นตำแหน่งนายกฯ

การเมือง
14 ส.ค. 67
15:33
198,834
Logo Thai PBS
"เศรษฐา" ไม่รอด ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินพ้นตำแหน่งนายกฯ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 5 ต่อ 4 วินิจฉัยให้ "เศรษฐา ทวีสิน" พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้ง "พิชิต ชื่นบาน" เป็นรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี สิ้นสุดทั้งคณะ

วันนี้ (14 ส.ค.2567) เวลา 15.00 น.ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคดีที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สิ้นสุนสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 17/2567) 

สมาชิกวุฒิสภา จำนวน 40 คน ยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภา (ผู้ร้อง) ว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 1) ได้นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 2) เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้ง ๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าผู้ถูกร้องที่ 2 ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากผู้ถูกร้องที่ 2 เคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริตและมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5)

เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องทั้งสองสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ ผู้ร้องจึงส่งคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสามประกอบมาตรา 82 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องเฉพาะส่วนของผู้ถูกร้องที่ 2 สำหรับกรณีของผู้ถูกร้องที่ 1 มีคำสั่งรับไว้พิจารณาวินิจฉัย โดยผู้ถูกร้องที่ 1 ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญูแล้ว

อ่านข่าว : ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง 40 สว.ยื่นถอด "เศรษฐา" ไม่สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่

อ่านข่าว : ฉบับเต็ม! คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ "เศรษฐา" พ้นนายกฯ

สำหรับผลการตัดสินโดยศาลอ้างถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ระบุว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้วางกลไกป้องกันตรวจสอบและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่เข้มงวดเด็ดขาด เพื่อไม่ให้ผู้บริหารที่ปราศจากคุณธรรมจริยธรรมและธรรมาภิบาลเข้ามามีอำนาจปกครองบ้านเมือง จึงบัญญัติคุณสมบัติในลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 170 เพิ่มเติมเพิ่มเติมจะลักษณะต้องห้ามของ สส. ตามมาตรา 98

และศาลพิจารณาเห็นว่าตามที่นายเศรษฐาอ้างว่าตัวเองมีภูมิหลังในการประกอบธุรกิจมีประสบการณ์ทางการเมืองที่จำกัดไม่มีความรู้ด้านนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์จึงไม่อาจวินิจฉัยว่านายพิชิตเป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติหรือมีรัฐลักษณะต้องห้ามนั้นเป็นข้ออ้างที่รับฟังไม่ได้เนื่องจากนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในฝ่ายบริหารทุกการตัดสินใจมีผลกระทบต่อบ้านเมืองจึงต้องมีความรับผิดชอบในทุกการกระทำประกอบกับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาที่เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตและความน่าเชื่อถือหรือไว้วางใจต่อสาธารณะชนเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ชัดในลักษณะภาวะวิสัย

อีกทั้งในข้อเท็จจริงตามคำสั่งศาลฎีกาที่ 4599 / 2551 คดีถุงขนม 2 ล้าน ผู้ประสานงานของ นายพิชิตใส่เงินสดมอบให้เจ้าหน้าที่ของศาลซึ่งนายพิชิตมีพฤติการณ์เชื่อได้ว่ามีส่วน รู้เห็นซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้นเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลเป็นความผิดละเมิดอำนาจศาลอีกทั้งศาลสั่งลงโทษนายพิชิตฐานละเมิดอำนาจศาลล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่สาธารณะชนต่างรู้กันโดยทั่วไป และสภาทนายความยังสั่งถอนชื่อออกจากทะเบียนทนายความซึ่งเป็นการลงโทษนายพิชิตกรณีละเมิดอำนาจศาลเพราะเป็นการกระทำที่ไม่เคารพยำเกรงอำนาจศาลทำให้เสื่อมเสียอำนาจศาลหรือผู้พิพากษากระทบต่อความเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรมไทย

อ่านข่าว : เปิดชื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างมาก มติ 5 : 4 "เศรษฐา" พ้น "นายกฯ"

โดยนายเศรษฐารู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวมาโดยตลอดแต่ยังเสนอให้นายพิชิตเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีดังนั้นนายเศรษฐาจึงไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ การที่นายเศรษฐารู้หรือควรรู้ข้อเท็จจริงต่างๆเกี่ยวกับพฤติกรรมของนายพิชิตมาโดยตลอดแต่ยังแต่งตั้งแสดงให้เห็นว่านายเศรษฐาไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) ย่อมเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระรวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้างานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ หมวด 1 ข้อ 8 ซึ่งผลจากคำวินิจฉัยนี้ทำให้ ครม. ต้องพ้นจากตำแหน่ง ไปด้วย

อ่านข่าว : เปิดใจ "เศรษฐา" หลังพ้นเก้าอี้นายกรัฐมนตรี 1 ปี

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 1 นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) เนื่องจากไม่มีความชื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) แล้ว รัฐมนตรีต้องพ้นตำแหน่ง ทั้งคณะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 167 วรรรคหนึ่ง (1) โดยให้นำมาตรา 168 วรรรคหนึ่ง (1) มาใช้บังคับกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต่อไป

อ่านข่าว :

ตัวแทนอดีต 40 สว.ฟังคำวินิจฉัยคดีถอดถอน "เศรษฐา" พ้นนายกฯ

14 ส.ค.ศาลรัฐธรรมนูญนัดชี้ชะตา "เศรษฐา" ลุ้นรอด-ไม่รอด

"วิษณุ" ชี้แจง "เศรษฐา" ไม่มีสิทธิ "รักษาการนายกฯ" หากศาล รธน. ฟันพ้นตำแหน่ง

"เศรษฐา" ปัดแผนสำรองยุบสภา-รอฟังคำตัดสิน 14 ส.ค.

ลำดับเหตุการณ์ ก่อนศาลชี้ชะตาคดีคุณสมบัติ "เศรษฐา ทวีสิน"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง