สปอร์ตไลท์ฉายไปที่ "อนุทิน ชาญวีรกูล" รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยทันที หลังมติศาลรัฐธรรมนูญ 5 : 4 เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2567 วินิจฉัยให้ นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรี" กรณีแต่งตั้ง "นายพิชิต ชื่นบาน" เป็นรัฐมนตรี และส่งผลให้ "ครม." ทั้งคณะพ้นตามไปด้วย
อ่านข่าว : "ชัยเกษม" พร้อมนั่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ยันไร้ปัญหาสุขภาพ
แม้ตามขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสภาผู้แทนราษฎร จะต้องเรียกประชุม สส.ทั้งหมดเพื่อลงมติเลือก "นายกฯ และ ครม." ชุดใหม่ ซึ่งจะเข้ารับหน้าที่ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 168 ก่อนเปิดทางให้ "ครม.ชุดที่พ้นจากตำแหน่ง" ทำหน้าที่รักษาการได้
ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยสิทธิในการเสนอชื่อ "แคนดิเดทนายกฯ" ให้สภาฯ โหวตเห็นชอบต้องเป็นพรรคแกนนำ เป็นพรรคที่มีเสียงมากที่สุด ในที่นี้คือพรรคเพื่อไทย โดยมีชื่อแคนดิเดทนายกฯ อยู่ 2 ชื่อ คือ นายชัยเกษม นิติศิริ และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร
แต่อย่ามองข้ามพรรคที่มีคะแนนเสียงเป็นลำดับสาม อย่าง พรรคภูมิใจไทย ที่ว่ากันว่า "มาแรง" ชนิดหายใจรดต้นคอพรรคเพื่อไทย ทำให้เต็งหาม อาจได้เข้า "วิน" หากเต็งหนึ่ง อย่าง"ชัยเกษม" มีอุบัติเหตุทางการเมือง ทำให้ไม่ได้ไปต่อ
ไม่ว่าในวันพรุ่งนี้( 16 ส.ค.) หวยการเมือง "รางวัลที่ 1 " จะไปออกมที่ใครก็ตาม แต่อย่ามองข้าม มท.หนู "อนุทิน"เด็ดขาด เพราะอาจกระโดดข้ามจาก "มท.1" ไปเป็นนายกฯได้ไม่ยาก
อ่านข่าว : 16 ส.ค.เคาะโหวต "นายกรัฐมนตรี" คนที่ 31
ประวัติ อนุทิน ชาญวีรกูล
นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย มีชื่อเล่น "หนู" เกิดวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2509 ปัจจุบันอายุ 58 ปี เป็นลูกชายของ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล อดีต รมว.มหาดไทย ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายอนุทิน สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ ก่อนไปศึกษาต่อที่ สหรัฐฯ เมื่อปี พ.ศ.2532 จบระดับอุดมศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยฮอฟสตรา (Hofstra University) ที่นิวยอร์ก
อ่านข่าว : "อนุทิน" ชี้ส้มไม่หล่นถึงภูมิใจไทย-ยังหนุนนายกฯ เพื่อไทย
ไม่เพียงเท่านั้น นายอนุทิน ในปี พ.ศ.2533 ศึกษา Mini MBA มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ.2548 ปริญญาวิศวกรรมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ในปี พ.ศ.2553 หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน รุ่นที่ 9 (วตท.9), พ.ศ.2555 หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง ด้านการบริหารงานพัฒนาเมือง รุ่นที่ 1 (มหานคร 1)
ปี พ.ศ.2555 หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง ด้านการพัฒนาเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง รุ่นที่ 3 (พ.ต.ส.3), พ.ศ.2555 หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง ด้านวิทยาการพลังงาน รุ่นที่ 1 (วพน.1), ในปี พ.ศ. 2556 หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง รุ่นที่ 17 (บ.ย.ส.17)
พ.ศ. 2557 ปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, พ.ศ. 2559 หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการค้าและการพาณิชย์ รุ่นที่ 9 (TepCot 9) และ พ.ศ. 2559 โครงการฝึกอบรมการพัฒนาผู้บริหารระดับสูง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
พ.ศ. 2560 หลักสูตรการปฏิรูปธุรกิจและสร้างเครือข่ายนวัตกรรม รุ่นที่ 1 (BRAIN 1), พ.ศ. 2560 หลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 5 (ปธพ.5), พ.ศ. 2560 หลักสูตรการบริหารการท่องเที่ยวสำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 1 (กทส.1)
พ.ศ. 2560 ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมาศักดิ์ สาขาวิชารัฐประศานศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น, พ.ศ. 2560 ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมาศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, พ.ศ. 2561 : ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมาศักดิ์ สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
นอกจากนี้ ยังจบหลักสูตรหลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย รุ่นที่ 6 (นธป.6) และหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 61 (วปอ.61) อีกด้วย
ประวัติการทำงาน
นายอนุทิน ยังเคยประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น
- พ.ศ.2532 : Mitsubishi Corporation, New York, U.S.A., Production Engineer
- พ.ศ.2533 : บริษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ทางด้านเทคนิค แผนกโครงการทางด้านการเงิน
- พ.ศ.2533 : บริษัท ซิโน-ไทย คอนสตรัคชั่น เซอร์วิส จำกัด, ผู้จัดการทั่วไป
- พ.ศ.2534 : บริษัท เอสทีพี แอนด์ ไอ จำกัด (มหาชน), ผู้จัดการทั่วไป
- พ.ศ. 2535 : บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน): ผู้จัดการทั่วไป
- พ.ศ.2537 : บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน): กรรมการรองผู้จัดการสายงานปฏิบัติการ
- พ.ศ.2538 : 2547 – บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน): กรรมการผู้จัดการ
- พ.ศ.2549 : ประธานคณะกรรมการการก่อสร้างโครงการเขตพระราชฐานฯ
- 2551 - 2561 : ประธานกรรมการ บริษัท เอสทีพี แอนด์ ไอ จำกัด (มหาชน)
เส้นทางการเมือง
นายอนุทิน เข้าสู่วงการการเมือง เมื่อปี 2539 โดยการรับตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ประจวบ ไชยสาส์น)
- ในปี 2547 และ 2548 ดำรงตำแหน่ง รมช.สาธารณสุข
- ต.ค. 2547 : มี.ค. 2548 รมช.พาณิชย์
- มี.ค. 2548 : ก.ย. 2549 รมช.สาธารณสุข
ต่อมาในปี 2550 ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารของพรรคไทยรักไทย ที่ถูกสั่งยุบ เมื่อ 30 พ.ค.2550
ในปี 2555 นายอนุทิน สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคต้นสังกัดของ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล ผู้เป็นบิดา ที่ย้ายมาจากพรรคพลังประชาชน ร่วมกับ "กลุ่มเพื่อนเนวิน" และต่อมาได้รับเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรคต่อจากบิดา
จากนั้นในการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ.2557 นายอนุทิน ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคภูมิใจไทย ลำดับที่ 1 แต่การเลือกตั้งเป็นโมฆะ
ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2562 นายอนุทิน ได้ สส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 พรรคภูมิใจไทย และเป็นแคนดิเดตนายกฯ ได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อเป็นสมัยที่ 2 และยังได้รับแต่งตั้งเป็น รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข
การเลือกตั้งปี 2566 นายอนุทิน ได้รับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคภูมิใจไทย ลำดับที่ 1 และได้รับการเสนอชื่อให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง และต่อมาเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลโดยมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ
กระทั่งมีการจัดตั้งรัฐบาลครั้งใหม่ ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ซึ่งพรรคก้าวไกลส่งไม่ต่อเนื่องจากไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แม้จะเป็นพรรคที่ได้เสียงอันดับ 1 ในการเลือกตั้ง โดยพรรคเพื่อไทยได้เชิญพรรคภูมิใจไทยที่มี สส. 71 เสียง ร่วมจัดตั้งรัฐบาล จนประชาชนทั้งประเทศได้เห็นช่วงนาทีสำคัญคือการร่วมดื่มเครื่องดื่มมิ้นต์ช็อก ด้วยบรรยากาศชื่นมื่น
อ่านข่าว : ดีลมินต์ช็อก! "เพื่อไทย-ภูมิใจไทย" จับมือร่วมตั้งรัฐบาล
มาถึงรัฐบาลใหม่ 2566 หลังจัดตั้งรัฐบาล และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐบาลทั้งคณะ นายอนุทิน ได้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และคุมกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรัฐมนตรีว่าการ อีก 1 ตำแหน่ง
และในเดือน ส.ค.2567 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นนายกรัฐมนตรี ปมแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี ชี้ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง มีลักษณะต้องห้าม และให้รัฐมนตรีพ้นตำแหน่งทั้งคณะ ทำให้ นายอนุทิน มีชื่อเป็นหนึ่งใน 7 แคนดิเตตนายกฯ คนที่ 31
อ่านข่าว : ฉบับเต็ม! คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ "เศรษฐา" พ้นนายกฯ
เปิดขั้นตอนสรรหา "นายกรัฐมนตรี" คนต่อไป
เปิดชื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างมาก มติ 5 : 4 "เศรษฐา" พ้น "นายกฯ"