วันนี้ (19 ส.ค.2567) แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการหาแนวทางในการดูแลและป้องกันปัญหาผลกระทบเกิดจากต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในไทย และใช้กลยุทธ์บริหารจัดการแบบครบวงจร ทั้งการนำเข้าสินค้าราคาต่ำ เปิดแพลตฟอร์มจำหน่ายสินค้า และลงทุนด้านระบบคลังสินค้าและกระจายสินค้าเอง โดยเฉพาะทุนจีน
โดยในวันที่ 23 ส.ค.นี้ กรมการค้าต่างประเทศ เชิญธุรกิจภาคบริการและธุรกิจด้านโลจิสติกส์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน มาประชุมหารือ ประมาณ 12 หน่วยงาน เพื่อรับฟังสถานการณ์ ปัญหา ข้อเสนอแนะแนวทางในการดูแลป้องกันในระยะสั้น กลางและยาว
ทั้งนี้ มาตรการเร่งด่วนเบื้องต้น ที่จะหยิบยกขึ้นหารือกันในครั้งนี้ คือ เสนอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)ใช้อำนาจ ออกมาตรการตามกฎหมายที่มีอยู่ในการกำหนดกรอบการทำธุรกิจแพลตฟอร์มของต่างชาติ และกำหนดควบคู่ไปกับหน่วยงานที่ดูแลคุณภาพและความปลอดภัยของส่วนผสมหรือส่วนประกอบของสินค้า รวมถึงดูถึงการตั้งราคาขาย จากนั้นค่อยกำหนดลงรายละเอียดในเรื่องอัตราภาษีนำเข้าสินค้าต่างชาติ และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี
ความกังวลต่อการเข้ามากดราคาสินค้าในประเทศของทุนต่างชาติ และกำลังเข้ามาขยายเปิดเป็นเจ้าของธุรกิจเองในไทย แทนการว่าจ้างหรือผลิตในประเทศนั้นๆ ปัญหาการขยายตัวของสินค้าราคาต่ำและการเข้ามาดั๊มธุรกิจในไทย จะเป็นปัญหาที่จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆในอนาคต ซึ่งอาจไม่ใช่แค่จีน แต่หลายประเทศในเอเชีย
แหล่งข่าวรายเดิมกล่าวอีกว่า ช่องว่างในการเข้าตลาดไทย และทางผ่านเข้าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ดังนั้นต้องเริ่มจากล้อมกรอบให้ต่างชาติได้รู้ว่าอะไรไม่อาจทำได้หรือทำไม่ได้ เพราะการใช้มาตรการตอบโต้ในการค้าเสรีอย่างปัจจุบันเลยจุดนี้ไปแล้ว ตอนนี้ต้องเริ่มจากการบังคับใช้กฎหมายที่ทุกหน่วยงานมีว่าจะสามารถออกมาบังคับใช้และกฎหมายใดที่ต้องเพิ่มเติม ซึ่งในด้านแพลตฟอร์ม ออนไลน์ต่างๆ ก็มีกฎหมายภายใต้กระทรวงดีอีดูแล
ส่วนเรื่องภาษีมีกระทรวงการคลังดูแล หรือ มาตรฐานสินค้าก็มีกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข หรือ มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีก็มีกระทรวงพาณิชย์ดูแล ซึ่งในระยะสั้นก็ต้องพิจารณาใช้มาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น(เซฟการ์ด)ได้แค่ไหน
ส่วนมาตรการตอบโต้การทุ่ม (เอดี) และมาตรการตอบโต้การอุดหนุน ต้องใช้เวลาในการพิจารณาและเปิดไต่สวนข้อมูล มีการเปิดรับฟัง แก้ต่างๆ และออกประกาศหากต้องเก็บภาษีเพิ่มซึ่งก็จะใช้เวลาเป็นปี
กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการทยอยเรียกตัวแทนสมาคมธุรกิจไทยเข้ารับฟังสถานการณ์แล้ว อาทิ เซรามิก เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า วัสดุก่อสร้าง ของใช้ส่วนบุคคล
สำหรับมาตรการเร่งด่วน ที่จะหารือลงรายละเอียดและแนวทาง ตามข้อมูลว่า สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) มีกฎหมายบังคับให้ผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ทุกประเภทต้องมาจดแจ้งให้ทราบภายใต้ พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล พ.ศ. 2565 มาตรา 18 วงเล็บ 2และ 3 ที่สามารถดูแลครอบคลุม แพลตฟอร์มดิจิทัลและกำลังตรวจเช็คแพลตฟอร์มดิจิทัลรายใหม่ มีลูกค้าในไทยและมีการธุรกรรมทางทางการเงินออนไลน์ ผ่าน electronic transaction ในไทย
แม้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซไม่ได้ตั้งอยู่ในไทย แต่ดูในเรื่องบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลใด มีลักษณะเฉพาะ อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคง ทางการเงินและการพาณิชย์ ความน่าเชื่อถือและยอมรับในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือความเสียหาย อาจเกิดขึ้นต่อสาธารณะชน และมีผลกระทบในระดับสูง อาจเกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจของแพลตฟอร์มรายนั้น สามารถใช้กฎหมายฉบับนี้ดูแลได้ รวมถึงมีการหยิบยกกรณีหลายประเทศนำสินค้าที่แพลตฟอร์มจีนไปตรวจสอบ หากพบว่า มีส่วนประกอบสินค้าที่อาจก่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ก็สามารถสั่งระงับการขาย ได้ เป็นต้น
ด้านนายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้จัดประชุมร่วมกับภาคเอกชนจำนวน 30 กลุ่มธุรกิจ ภายใต้หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมต่าง ๆ เช่น พลาสติก เครื่องนุ่งห่ม ของขวัญของชำร่วย เครื่องเขียนและเครื่องใช้สำนักงาน เครื่องปรับอากาศ เหล็ก เครื่องจักรกลและโลหะการ เซรามิก แกรนิตและหินอ่อน เครื่องสำอาง อาหารเสริม เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
เพื่อรับฟังสถานการณ์การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และสถานการณ์การแข่งขันทางการค้าระหว่างสินค้า SME ไทยกับสินค้าจากต่างประเทศ รวมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะและแนวทางการแก้ไขปัญหาการแข่งขันทางการค้าของสินค้าในประเทศและต่างประเทศทั้งในด้านคุณภาพและราคา ตามนโยบายที่ได้รับจากนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์
โดยผู้ประกอบการได้เสนอข้อมูลปัญหาและผลกระทบในภาพรวมที่ส่งผลกระทบต่อสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงภาคบริการและการลงทุน ปัญหาด้านมาตรฐานสินค้าคุณภาพต่ำและราคาถูก การลักลอบนำเข้าสินค้าทางชายแดน การสำแดงพิกัดสินค้าที่เป็นเท็จ รวมถึงการเข้ามาตั้งธุรกิจบริการและภาคการผลิตที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยและผู้บริโภคชาวไทย
และให้ข้อเสนอแนะการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานของสินค้านำเข้า การใช้มาตรการทางภาษีเพื่อคุ้มครองผู้ผลิตในประเทศ การสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการไทยด้านการผลิตและศักยภาพการประกอบธุรกิจ เพื่อให้สินค้าและธุรกิจไทยรักษาส่วนแบ่งตลาดได้ และการปรับปรุงกฎหมาย รวมถึงความตกลงต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าไทย ส่วนกลุ่มที่จำเป็นต้องนำเข้าสินค้าทุน ขอให้พิจารณาในแง่ผลกระทบ หากมีการใช้มาตรการกับสินค้านำเข้า เนื่องจากมีความจำเป็นต้องนำเข้าส่วนประกอบสินค้า
ทั้งนี้กรมฯจะรวบรวมทุกความเห็นและทุกข้อเสนอ เพื่อนำไปประมวล และเสนอในระดับนโยบาย เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการร่วมกันของทุกหน่วยงานในภาพรวม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแนวทาง และข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย รวมทั้งโครงสร้างของคณะทำงานระดับชาติในการขับเคลื่อนมาตรการที่มีผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ผ่านนายภูมิธรรมภายในสัปดาห์หน้า
อ่านข่าว:
ส.อ.ท.กู้วิกฤต 500 โรงงาน “สมุนไพร” เสี่ยงยอดปิดพุ่ง
สภาพัฒน์ฯ เผย GDP ไทยQ2 โต 2.3% มั่นใจทั้งปีขยายตัว 2.5%
กำลังซื้อซบ! หวังนายกรัฐมนตรีคนใหม่แก้ปากท้อง-ดิจิทัลวอลเล็ต