ถือเป็นการเตรียมพร้อมปกป้องและรองรับ นายกรัฐมนตรีหญิงคนใหม่ ที่เป็นทายาททางการเมืองคนสำคัญของ “ตระกูลชินวัตร” แบบ “ไข่ในหิน”
หวังไม่ให้มีอะไรมากระทบได้ เพื่อป้องกันเหตุซ้ำรอยที่เคยเกิดขึ้นกับนายทักษิณ ชินวัตร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือแม้แต่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยนายทักษิณ
การเร่งรัดพรรคร่วมรัฐบาลส่งรายชื่อให้ไว เพื่อจะได้มีเวลาคัดกรองตรวจสอบคุณสมบัติ “ว่าที่รัฐมนตรี” อย่างเข้มข้นและละเอียดรอบคอบ จากบทเรียนนายเศรษฐา ถูกศาลรัฐธรรมนูญสอยลงจากเก้าอี้นายกฯ ด้วยเรื่องผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง ขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
เพราะปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ ที่ยืดเยื้อคาราคาซัง จากความขัดแย้งที่รุนแรง กระทั่งส่งโผรายชื่อรัฐบาลถึง 2 โผ หวังให้พรรคเพื่อไทย เป็นฝ่ายเคาะเลือกเอง แต่ปรากฏว่าพรรคเพื่อไทย ไม่รับเผือกร้อนนี้ โยนกลับเป็นเรื่องของพรรคพลังประชารัฐ ที่ต้องตกลงกันให้แล้วเสร็จ
จึงเป็นที่มาของพรรคประชาธิปัตย์ ถูกดึงเข้ามาอยู่ในสมการตั้งรัฐบาลด้วย ด้านหนึ่งอ้างว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้ไปติดต่อเจรจาขอเสียงสนับสนุนจากผู้นำพรรค นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรค และนายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรค เพื่อช่วยเติมจำนวน สส.ของกลุ่ม ที่จะลดเหลือเพียงประมาณ 25-26 คน พร้อมเสนอตำแหน่งรัฐมนตรีให้ 2 ตัว
อีกด้านหนึ่ง อ้างถึงรายงานข่าวว่า นายทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ประสานเจรจากับแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ เผื่อสำรองไว้ในเบื้องต้น
แต่เพราะปัญหาในพรรคพลังประชารัฐ ตกลงกันไม่ได้ ส่อเค้าอาจยืดเยื้อ จึงนำไปสู่การปรับแผน ดึงเข้าร่วมเต็มตัวเพื่อแทนที่พรรคพลังประชารัฐ เพราะล่าช้าไม่ได้ โดยเสนอเก้าอี้รัฐมนตรี 2 ตัว เป็น 1 รมต.ว่าการ และ 1 รัฐมนตรีช่วย
แต่ปัญหาสำคัญที่ตามมา คือ โควตารัฐมนตรี 2 ตัว ที่จะให้กับพรรคประชาธิปัตย์นั้น จะตัดมาจากโควตาของใคร จะลดทอนจากโควตาพรรคพลังประชารัฐ เจ้าของโควตาเดิมจะยินยอมหรือไม่
หรือจะแบ่งโควตารัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ที่เหลือว่างอยู่ 1 ตัวจากเดิม ที่จะเป็นของนายพิชิต ชื่นบานให้ แต่ปกติคนรอคิวนั่งรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ก็มีมากโขอยู่ก่อนแล้ว
จึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องยากพอสมควร เพราะความจริงเสียงสนับสนุน 314 เสียงเดิม และอาจรวมอีก 6 เสียงจากพรรคไทยสร้างไทย ก็มากเพียงพอและสามารถรับประกันเสียงข้างมากในสภากรณีต้องโหวตเสียงอยู่แล้ว จำเป็นต้องดึงพรรคประชาธิปัตย์มาหารเก้าอี้รัฐมนตรีเพิ่มทำไม
แม้สุดท้ายจะเชื่อว่า ไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรง หาก “ผู้มากบารมี” ตัวจริงในพรรค จะเคาะตัดสิน
แต่คำถามสำคัญอีกข้อ สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ คือหากเข้าร่วมรัฐบาลจริง แล้วจะได้ประโยชน์อะไร เพราะนอกจากท่าทีคัดค้านไม่เห็นด้วยมาตลอด ของ สส.ระดับอาวุโส อย่างนายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ แล้ว ยังจะมีเสียงวิพากษ์ ต่อต้านจากทั้งแฟนคลับ และกูรูทางการเมืองบางส่วน ที่เห็นว่าได้ไม่คุ้มเสีย
เพราะหากจะอ้างว่า เป็นโอกาสที่จะสร้างผลงานเพื่อกอบกู้ภาพพจน์ และคะแนนนิยมของพรรคกลับคืนมา แต่ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรคประชาธิปัตย์ ก็เป็นหนึ่งในพรรคร่วม และได้ดูแลกระทรวงสำคัญๆ อย่าง กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ แต่กลับพ่ายแพ้แบบเสียศูนย์ในศึกเลือกตั้งปี 2566
ขณะที่ในอดีต ตั้งแต่ตั้งพรรคไทยรักไทย คู่แข่งสำคัญในสนามเลือกตั้ง สส. ก็คือพรรคประชาธิปัตย์ ที่ต่างมีจุดยืนและอุดมการณ์ต่างกันชัดเจน วิพากษ์ร้อนแรง กล่าวหา เปิดวิวาทะใส่กันแบบ “ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ”
พรรคประชาธิปัตย์ยังเป็นต้นทาง ที่ก่อให้เกิดผลกระทบ กับทั้งพรรคและตัวบุคคล ตั้งแต่พรรคไทยรักไทยจนถึงพรรคเพื่อไทย พรรคโดนยุบบ้าง ตรวจสอบขยายผลโครงการทั้งในการอภิปรายไม่ไว้วางใจบ้าง ยื่นเรื่องร้อง ป.ป.ช.บ้าง ต่อยอดนำไปสู่คดีความ ต้องติดคุกบ้าง หนีคดีไปต่างประเทศบ้าง
แต่ถึงวันหนึ่ง กลับยอมศิโรราบ อยู่ใต้ชายคา ใต้การบังคับบัญชาของพรรคเพื่อไทย ไม่สนใจเกียรติประวัติและศักดิ์ศรีที่รุ่นพี่ได้สร้างไว้ ซึ่งอาจทำให้ “ใครบางคน” อดนึก “สะใจ” สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นไม่ได้
เรื่องพรรคประชาธิปัตย์ จะเข้าร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย จึงอาจมีเรื่องอารมณ์ความรู้สึก แนวคิด และอุดมการณ์ สอดแทรกปะปนอยู่ด้วย มากกว่าแค่ “รอยยิ้ม” ที่ได้เข้าร่วมรัฐบาลสำเร็จ
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส
อ่านข่าว : กมธ.ถกสื่อปม "ประวิตร" คุกคาม - หามาตรการทำงานร่วมกัน
เปิดโผ ครม.ล่าสุด (15.00 น.) "หมอพรหมินทร์" ส่งกฤษฎีกาตรวจคุณสมบัติเข้ม