ในงาน “Ageing Thailand : International Day of Persons 2024” ภายในงานได้มีการจัดสัมมนา ถึงปัจจัยพื้นฐานที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ โดยมีผู้เชี่ยวชาญร่วมเวทีได้แก่ นายวิทยา สินทราพรรณพร ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด,นายสง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ นางธนิดา รัฐธนาวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารการตลาด และ พญ.วรรณวิพุธ สรรพสิทธิ์วงศ์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ป้องกันและเวชศาสตร์ชะลอวัย
ผู้สูงอายุยึด 4 ด้านใช้ชีวิตอย่างมีสุข
นายวิทยา สินทราพรรณพร ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการตลาด บริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว ขณะที่ผู้สูงอายุที่มีอายุยืนมากขึ้นก็ควรที่จะมีสุขภาพและอายุสมองที่ยังคงดีต่อไป และควรที่จะอยู่อาศัยและอยู่ในชุมชน (Community) เหมาะสมต่อผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้สูงอายุไม่ได้คล่องแคล่วเหมือนเดิม ที่สำคัญควรมีความปลอดภัย สะดวกสบาย เหมาะสมกับช่วงวัย สามารถอยู่อาศัยได้ตลอดในระยะยาวโดยไม่ต้องแก้ไข ปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงไป เช่น บ้านไม่ควรมีขั้นหรือสเต็ปที่มากเกินไป ไม่ควรมีขอบคม และมีปุ่มฉุกเฉิน
นายวิทยา สินทราพรรณพร ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด
สิ่งสำคัญของคอมมูนิตี้ที่ผู้สูงอายุควรยึดไว้คือ 1.กายภาพดีเช่นการดูแลสุขภาพ รับประทานอาหารดี ออกกำลังกาย 2.การดูแลอารมณ์งดเครียด ไม่กดดัน สร้างความสุขให้ตัวเอง 3.ผู้สูงอายุต้องมีเพื่อนมีสังคม และมีเพื่อนใหม่ ที่สามารถมีปฏิสัมพันธ์ได้ และ 4.สมอง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ให้เหมาะสม
"รัฐ-เอกชน" พัฒนาเทคโนโลยีให้ผู้สูงวัยใช้ชีวิตง่ายขึ้น
อ่านข่าว : สูตรลับชีวิตหลังเกษียณ! เตรียมวางแผนสุขภาพ-การเงิน-จิตใจ
ด้าน ธนิดา รัฐธนาวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารการสื่อสารกับผู้สูงอายุ กล่าวว่า ผู้สูงอายุจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่คือ 1.อายุตั้งแต่ 50-59 และ กลุ่ม 2 อายุ60-69 และ กลุ่ม 3.อายุ 70 ปีขึ้นไป โดยกลุ่ม50-59 ปีจะยังคงใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้ทั้ง เฟซบุ๊ก ยูทูป ไอจี และสามารถช้อปปิ้งในแอปพลิเคชันต่าง ๆ ได้ ขณะที่กลุ่มอายุ 60-69 การช้อปปิ้งทางออนไลน์อาจจะไม่สะดวกมากนัก
ขณะที่ อายุ 70 ปีขึ้นไป คือ การสื่อสารโดยรับข้อมูลจากโทรทัศน์และเพื่อน โดยทุกคนควรใส่ใจคนสูงวัยมากขึ้นซึ่งคนกลุ่มมนี้จะเป็นกลุ่มใหญ่ในอนาคต ภาคเอกชนและรัฐบาล ควรร่วมกันพัฒนาการสร้างการสื่อสารให้กับผู้สูงวัย ในการใส่ใจในการสร้างสรรค์บริการให้ผู้สูงอายุเช่น ในต่างประเทศ เช่น ในจีนมีการออกแคมเปญเป็น QR โค้ดให้ผู้สูงอายุมีเป็นรายบุคคลโดยเก็บในกระเป๋า ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาหรืออุบัติเหตุจะสามารถสแกนข้อมูลของผู้สูงอายุได้
ธนิดา รัฐธนาวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารการตลาด
นอกจากนี้ในส่วนของแอปพลิเคชันในการจับจ่ายใช้สอย ก็พบว่า มีการอำนวยความสะดวกเช่นภาพสินค้าที่สามารถขยายใหญ่ขึ้นได้ ตัวอักษรขนาดใหญ่ขึ้น หรือใช้เสียงในการค้นหาสินค้าหรือใช้รูปในการค้นหาในการช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงอายุ
คนไทยอายุยืนมากขึ้น แต่บั้นปลายโรครุมเร้า
พญ.วรรณวิพุธ สรรพสิทธิ์วงศ์ ระบุว่า ขณะนี้จากข้อมูลคนไทยมีอายุเกิน 100 ปีของไทย ติดอันดับ 5 โลก หรือมีราว 40,000 คนทั่วประเทศ คนอายุยืนเกิน 60 ปีติดอันดับ 17 ของโลก เนื่องจากระบบสาธารณสุขไทยค่อนข้างมีประสิทธิภาพ
พญ.วรรณวิพุธ สรรพสิทธิ์วงศ์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ป้องกันและเวชศาสตร์ชะลอวัย
แต่ปัญหาคือ คนไทยอายุยืนมากขึ้นแต่อายุยืนแบบป่วย คนไทยขณะนี้อายุขัย 70-80 ปี โดยอายุที่ยืนมากขึ้น แต่ช่วงวัยที่เคลื่อนไหวได้คล่องแคล่วและมีอิสระไม่ได้เพิ่มตาม
โดยเฉลี่ยคนไทยอายุยืนขึ้นจริง แต่ได้ใช้ชีวิตช่วง 20 ปีสุดท้าย โดยต้องไปหาหมอ อยู่แบบมีอาการเจ็บป่วย ดังนั้นจึงมีศาสตร์ Longevity คือ ทำอย่างไรจึงจะมีอายุทียืนยาวขึ้น แต่ยังเป็นอิสระมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ดังนั้น ผู้สูงอายุจะต้องรักษา 6 เสาหลัก อันได้แก่ 1.ลดความเครียด 2.การนอนที่ดี 3.การเคลื่อนไหวร่างกาย 4.การไม่ดื่มเหล้า และงดสูบบุหรี่ 5.การับประทานอาหารที่ดี 6.การมีสังคมที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นซึ่งหากรักษา 6 เสาหลักได้ดี สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยได้ถึง 73 %
ขอให้ผู้สูงอายุทุกท่าน เชื่อมั่นว่า ทุกคนมีศักยภาพ ในการดูแลตัวเองให้มีสุขภาพดี และดูแลตัวเองให้ไม่ต้องป่วยให้ได้
ผู้สูงอายุ ห้ามล้ม ล้มคนเดียวล้มทั้งบ้าน
ขณะที่ นายสง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับผู้สูงอายุสิ่งสำคัญที่สุดคือ "อย่าล้ม" เพราะเมื่อผู้สูงอายุ 1 คนล้มเท่ากับคนทั้งบ้านล้ม โดยสาเหตุของการล้มนั้นมีหลายสาเหตุ คือ สติ แต่ที่เกี่ยวโยงกับโภชนาการคือ การขาดโปรตีน ขาดแคลเซียม
นายสง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ
ดังนั้น ผู้สูงอายุควรรับประทานโปรตีนโดยแหล่งโปรตีนที่ผู้สูงอายุควรรับประทานนั้นควรมาจาก 1.ปลา เนื่องจากไขมันต่ำ กรดอะมิโนสูง 2.ไข่ 3.นม 4.เต้าหู้ ถั่ว จะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ และไม่หกล้ม 2.แคลเซียม และเมื่อโปรตีนมีเพียงพอ กล้ามเนื้อจะมาและเมื่อมีแคลเซียมก็จะมีสติทำให้ล้มยาก
ลดกินหวาน-มัน-เค็ม ลดเสี่ยงโรค
นอกจากนี้ ผู้สูงอายุควรใส่ใจในการรับประทานอาหารควรต้อง ลด หวาน มัน เค็ม เช่น เมื่อก่อนเคยรับประทานทุเรียนครั้งละ 2 -3 พู ก็ลดเหลือ 1 พู น้ำหวาน ขนมควรลดลง หรือผลไม้รสหวานควรลดลง และหันมารับประทานผลไม้รสหวานปานกลาง และรสหวานน้อย ผลไม้รสหวานน้อยที่ควรรับประทานคือ ส้มโอ ฝรั่ง แอปเปิล แก้มมังกร ลูกพีช ลูกแพร
นอกจากนี้ อาหารทอดและผัดควรที่จะลดและรับประทานให้น้อยลง และหันไปรับประทานอาหารย่าง อบ นึ่งแทน โดยไขมันไม่ควรเกินวันละ 6 ช้อน น้ำมันวันละไม่เกิน 6 ช้อน และเกลือไม่ควรเกิน 1 ช้อนชา
การรับประทานเค็มนั้นเป็นอันตรายต่อผู้สูงอายุอย่างมาก คือ ความดันโลหิตสูง ไตทำงานหนัก
แนะทานอาหารสัดส่วน 2 :1:1 ช่วยสุขภาพดี
นอกจากนี้ ปัญหาของผู้สูงอายุคือ ระบบขับถ่ายที่มีประสิทธิภาพลดลง ดังนั้นควรรับประทานผักเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีคูณค่าสูงมีความเป็นสมุนไพร และย่อยง่าย โดยมีประโยชน์ 3 ทาง คือ 1.สร้างภูมิคุ้มกัน 2.ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง 3.ผักช่วยดีท็อก
นายสง่า ยังแนะนำสูตรในการรับประทานอาหารให้เหมาะสมตามสัดส่วน 2 : 1 : 1 โดยเมื่อแบ่งสัดส่วนจานข้างอาหารออกเป็น 4 ส่วน โดยสัดสัดส่วนครึ่งจานหรือ 2.ส่วนเป็นผักต้มผักนึ่ง อีก 1 ส่วนคือข้าวกล้อง หรือ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ และอีก 1 ส่วนคือ ปลา เต้าหู้ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ และผลไม้ ควรรับประทานเช่นนี้ทุกมื้อและทุกวันจะทำให้ผู้สูงอายุสุขภาพดี
You are what you eat กินอะไรได้อย่างนั้น กินปลาก็รูปร่างดี กินผักก็ดี ชีวิตคนเราจะอยู่ได้ถึงไหนช่างมัน เป็นเรื่องอนาคต ก็ขอให้ทุกคนทำวันนี้ให้ดีที่สุด
อ่านข่าว : "ผู้สูงอายุ" เป้าหมายใหม่มิจฉาชีพ ช่องโหว่เงินออมเยอะ-อยู่คนเดียว
ครม.เคาะ 416 ล้านจ่ายค่าทำศพผู้สูงอายุค้างจ่าย 1.38 แสนคน
"วราวุธ" เปิดงานวันผู้สูงอายุสากล ระบุไทยเข้าสังคมสูงวัยระดับสมบูรณ์