ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แตกต่างแต่เท่าเทียม พ.ร.บ.-พ.ร.ก. 2 กฎหมายบทบาทไม่เหมือนกัน

สังคม
24 ต.ค. 67
15:49
290
Logo Thai PBS
แตกต่างแต่เท่าเทียม พ.ร.บ.-พ.ร.ก. 2 กฎหมายบทบาทไม่เหมือนกัน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
งงกับ พ.ร.บ. และ พ.ร.ก. กันใช่ไหม ? ความต่างของทั้งสองคืออะไร ? แม้จะเป็น "กฎหมาย" แต่กระบวนการและเหตุผลในการตรากฎหมายต่างกันอย่างสิ้นเชิง พ.ร.บ. ต้องผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาอย่างละเอียด แต่ พ.ร.ก. ออกโดยรัฐบาลหรือ ครม.เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

1 วันสุดท้ายก่อนคดีตากใบจะหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค.2567 แม้หลายฝ่ายจะเรียกร้องรัฐบาลให้เร่งประชุม ครม.ฉุกเฉิน เพื่อเคาะ พ.ร.ก.ต่ออายุความให้กับคดีนี้ ถือเป็นหนทางสุดท้ายที่จะต่อลมหายใจแห่งความหวัง คืนความยุติธรรมให้กับครอบครัวผู้สูญเสียเมื่อ 20 ปีก่อน 

อ่านข่าว : "สุณัย" หวังรัฐบาล ออก พ.ร.ก.ขยายอายุความคดีตากใบ

ส่วนฟากฝั่งรัฐบาลทั้ง รมว.กลาโหม ภูมิธรรม เวชยชัย ที่ออกโรงไม่ได้นิ่งนอนใจเรื่องตากใบ ได้ให้ฝ่ายกฎหมายของพรรคไปพิจารณาช่องทางในการขยายอายุความ และรวมถึง รมว.ยุติธรรม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ที่แม้จะเอ่ยเต็มปาก "หวังปาฏิหาริย์" แต่ก็มีข้อกังวลเรื่องการตรา พ.ร.ก.ต่ออายุความ เนื่องจากระบุว่า "พ.ร.ก.จะใหญ่กว่ากฎหมายไม่ได้"

ทำเอาชาวเน็ตสงสัยถึงลำดับศักดิ์ของกฎหมายไทยที่ว่า พ.ร.ก. เล็กกว่า พ.ร.บ. จริงหรือไม่ และ 2 กฎหมายนี้มีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร  

ลำดับศักดิ์กฎหมายไทย

การจัดลำดับศักดิ์ให้ "กฎหมาย" ถือเป็นการให้ระดับความสำคัญของกฎหมายแต่ละฉบับ ซึ่งกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์สูงกว่าจะมีอำนาจเหนือกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์ต่ำกว่า หากกฎหมาย 2 ฉบับขัดแย้งกัน กฎหมายที่มีลำดับศักดิ์สูงกว่าจะเป็นตัวตัดสิน ประชาชนจำเป็นต้องรู้เรื่องของลำดับศักดิ์กฎหมาย เพื่อให้เข้าใจโครงสร้างและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ เมื่อเกิดข้อพิพาททางกฎหมายได้อย่างถูกต้อง และทำให้สามารถป้องกันสิทธิของตนเองเมื่อถูกละเมิด

การจัดศักดิ์ของกฎหมายจึงมีความสำคัญต่อกระบวนวิธีการต่าง ๆ ทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ การตีความ และการยกเลิกกฎหมาย ซึ่งเกณฑ์ที่ใช้ในการกำหนดศักดิ์ของกฎหมายนั้น จะพิจารณาจากองค์กรที่มีอำนาจในการออกกฎหมาย ศักดิ์ของกฎหมายเป็นดังนี้

ลำดับที่ 1 : รัฐธรรมนูญ

เป็นกฎหมายสูงสุดที่กำหนดรูปแบบการปกครองและระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดจนสิทธิต่าง ๆ ของประชาชนทั้งประเทศ นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังเป็นกฎหมายแม่บทของกฎหมายทุกฉบับ ดังนั้น กฎหมายฉบับอื่นที่มีลำดับชั้นต่ำกว่าจะมีเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ หากขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ กฎหมายฉบับนั้นจะถือว่าไม่มีผลบังคับ 

ตัวอย่าง : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ลำดับที่ 2 : พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ

เป็นกฎหมายที่อธิบายขยายความเพื่อประกอบเนื้อความในรัฐธรรมนูญให้สมบูรณ์ ละเอียดชัดเจน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยถือว่ากฎหมายประเภทนี้มีลักษณะและหลักเกณฑ์พิเศษแตกต่างจากกฎหมายธรรมดา ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้มีการกำหนดกระบวนการในการตรา พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญให้แตกต่างไปจากพ.ร.บ. ทั่วไป โดยกำหนดในลักษณะที่ให้ความสำคัญกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญมากกว่า พ.ร.บ. ทั่วไป

ตัวอย่าง : พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ลำดับที่ 3 : พระราชบัญญัติ/พระราชกำหนด/ประมวลกฎหมาย

- พระราชบัญญัติ เป็นกฎหมายลำดับชั้นรองลงมาจากรัฐธรรมนูญ เพราะ พ.ร.บ. ออกมาเป็นกฎหมายโดยอาศัยอำนาจรัฐธรรมนูญโดยตรง ซึ่งองค์กรที่ทำหน้าที่ในการตรา พ.ร.บ. คือ รัฐสภา ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ โดยรัฐสภาจะตรา พ.ร.บ. ที่มีเนื้อหาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้

ตัวอย่าง : พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 หรือ พ.ร.บ.สมรมเท่าเทียม 

- ประมวลกฎหมาย เป็นกฎหมายในลำดับเดียวกับ พ.ร.บ. องค์กรที่ทำหน้าที่ในการตราประมวลกฎหมาย คือ รัฐสภา ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มีลักษณะเรียบเรียงเรื่องราวไว้อย่างเป็นหมวดหมู่เดียวกันและมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน ปัจจุบันมีประมวลกฎหมายที่สำคัญ ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลรัษฎากร ประมวลกฎหมายที่ดิน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

- พระราชกำหนด เป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญมอบอำนาจในการบัญญัติให้กับฝ่ายบริหาร คือคณะรัฐมนตรี โดยคณะรัฐมนตรีจะมีอำนาจในการออก พ.ร.ก. เพื่อใช้บังคับแทน พ.ร.บ. ได้ในกรณีพิเศษตามที่รัฐธรรมนูญมอบอำนาจไว้เป็นการชั่วคราว เพื่อแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าที่ต้องการการดำเนินการที่จำเป็นและเร่งด่วน เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติโดยส่วนร่วม

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้กำหนดเหตุผลและความจำเป็นในการตรา พ.ร.ก. ไว้ดังต่อไปนี้

1.พ.ร.ก.ทั่วไป ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อ ครม. เห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือเพื่อป้องปัดพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์จะทรงตรา พ.ร.ก. ให้ใช้บังคับดังเช่น พ.ร.บ. ก็ได้

ตัวอย่าง : พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และ พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 เป็นต้น

2.พ.ร.ก.เกี่ยวกับภาษีอากรหรือเงินตรา ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อ ครม. เห็นว่าเป็นกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรหรือเงินตราซึ่งต้องได้รับพิจารณาโดยด่วนและลับ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน พระมหากษัตริย์จะทรงตรา พ.ร.ก. ให้ใช้บังคับดังเช่น พ.ร.บ. ก็ได้ พ.ร.ก. ที่ได้ตราขึ้นนี้ จะต้องนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรภายใน 3 วันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ตัวอย่าง : พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540, พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน พ.ศ.2540 ซึ่งออกมาเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ตกต่ำในสมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี

โดยหลังจากมีการประกาศใช้ พ.ร.ก. นั้นแล้ว จะต้องนำ พ.ร.ก. มาให้รัฐสภาพิจารณาเพื่อขอความเห็นชอบ ถ้ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ พ.ร.ก. ก็จะกลายเป็นกฎหมายถาวร แต่หากรัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบ พ.ร.ก. ก็จะสิ้นผลไป โดยการดำเนินการใด ๆ ก่อนที่ พ.ร.ก. จะสิ้นผลไป ถือว่าชอบด้วยกฎหมายแม้ภายหลังจะปรากฏว่า พ.ร.ก. สิ้นผลไป

ลำดับที่ 4 : พระราชกฤษฎีกา

เป็นกฎหมายที่กำหนดรายละเอียดซึ่งเป็นหลักการย่อย ๆ ของ พ.ร.บ. พ.ร.ก. กำหนดหลักการใหญ่ ๆ ไว้เป็นสาระสำคัญโดยรวมและให้ออก พ.ร.ฎ. โดยอาศัยอำนาจ พ.ร.บ. พ.ร.ก. เพื่ออธิบายรายละเอียดต่าง ๆ ตามหลักการใน พ.ร.บ. พ.ร.ก. นั้น เมื่อ พ.ร.ฎ. เป็นกฎหมายที่ออกมาโดยอาศัยอำนาจจากกฎหมายแม่บท คือ รัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ๆ เช่น พ.ร.บ. พ.ร.ก. แล้ว พ.ร.ฎ. จะมีเนื้อหาที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ๆ เช่น พ.ร.บ. พ.ร.ก. ไม่ได้ รวมทั้งจะบัญญัติเนื้อหาที่เกินขอบเขตของกฎหมายแม่บทที่ให้อำนาจไว้ไม่ได้ด้วย

ตัวอย่าง : พ.ร.ฎ.กำหนดเขตพื้นที่ควบคุมตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ

ลำดับที่ 5 : กฎกระทรวง/ประกาศกระทรวง กฎกระทรวง

เป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหารและไม่ต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับ พ.ร.ฎ. แต่มีศักดิ์ของกฎหมายที่ต่ำกว่า การดำเนินการออกกฎกระทรวงนั้น รัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหารจะบัญญัติกฎกระทรวงออกมา โดยมี พ.ร.บ. หรือ พ.ร.ก. ฉบับใดฉบับหนึ่งให้อำนาจไว้ ประกาศกระทรวง เป็นกฎหมายที่ออกโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเช่นเดียวกันกับกฎกระทรวง แต่มีความแตกต่างกันที่ประกาศกระทรวงไม่ต้องได้รับความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเหมือนกับกฎกระทรวง แต่ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงจะมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายได้

ตัวอย่าง: กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการรับสมัครและการสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการ

ลำดับที่ 6 : ข้อบัญญัติท้องถิ่น

เป็นข้อบัญญัติที่กฎหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจบัญญัติขึ้นใช้บังคับได้ด้วยตนเอง ซึ่งอำนาจในการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้ในการตรากฎหมายเพื่อใช้บังคับในท้องถิ่นในรูปแบบของข้อบัญญัติท้องถิ่นนั้น จะเป็นอำนาจที่ได้รับมาจาก พ.ร.บ.จัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ โดยทั่วไปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการตราข้อบัญญัติต่าง ๆ ได้ ดังนี้ คือ ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล เทศบัญญัติ ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร และ ข้อบัญญัติเมืองพัทยา

ตัวอย่าง : ข้อบัญญัติเทศบาลเกี่ยวกับการเก็บขยะมูลฝอย

"สูงกว่า ใหม่กว่า" หลักบังคับใช้กฎหมาย

  • กฎหมายที่ใหม่กว่า สามารถยกเลิกกฎหมายที่เก่ากว่า เช่น หากกฎหมาย 2 ฉบับมีความขัดแย้งกัน กฎหมายที่ออกใหม่จะใช้บังคับ
  • กฎหมายเฉพาะ สามารถยกเลิกกฎหมายทั่วไป เช่น หากกฎหมาย 2 ฉบับมีความขัดแย้งกัน กฎหมายที่เฉพาะเจาะจงจะใช้บังคับ
  • กฎหมายลำดับศักดิ์ที่สูงกว่า สามารถยกเลิกกฎหมายที่ต่ำกว่า เช่น หากกฎหมาย 2 ฉบับมีความขัดแย้งกัน กฎหมายที่มีลำดับศักดิ์สูงกว่าจะใช้บังคับ

อ่านข่าว :

ทหาร-มท.1 ห่วงมือที่สาม ป่วนภาคใต้ ก่อนคดีตากใบหมดอายุความ

ระเบิดใกล้ที่ว่าการอำเภอ-สภ.ปะนาเระ อาคารเสียหาย ไม่มีคนเจ็บ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง