เป็นเรื่องปกติที่นักธุรกิจระดับโลกจะรู้จัก หรือได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำประเทศ และก็เคยมีตัวอย่างให้เห็นกันหลายครั้งแล้ว ที่นักธุรกิจอาจไปสนิทสนมกับผู้นำบางคน จนเรียกเสียงวิจารณ์ ดังนั้น ทำไมการพูดคุยระหว่างอีลอน มัสก์ ชายที่ร่ำรวยที่สุดในโลก กับวลาดีมีร์ ปูติน ปธน.รัสเซีย ถึงน่ากังวลกว่าครั้งอื่น ๆ ?
ประเด็นแรกเป็นเพราะธุรกิจของมัสก์ ซึ่งอาจทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการรั่วไหลของข้อมูลและกระทบกับความมั่นคงของสหรัฐฯ ยกตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือ SpaceX ซึ่งมีโครงการพัฒนาด้านอวกาศและจรวดร่วมกับ NASA และกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ มากมาย ซึ่งหลายโครงการเป็นโครงการลับสุดยอด
นี่เองจึงเป็นเหตุให้ Bill Nelson ผู้อำนวยการ NASA เรียกร้องให้เปิดการสอบสวนรายงานข่าวของ Wall Street Journal ซึ่งอ้างเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ยุโรปและรัสเซีย ว่า "มัสก์" ติดต่อพูดคุยกับผู้นำรัสเซียเป็นประจำมาตั้งแต่ปลายปี 2022 โดยหัวข้อการสนทนามีตั้งแต่เรื่องส่วนตัว เรื่องธุรกิจไปจนถึงประเด็นความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์
ขณะที่โฆษกรัฐบาลรัสเซียปฏิเสธกระแสข่าวนี้ พร้อมทั้งระบุว่า ผู้นำรัสเซียและมัสก์เคยต่อสายคุยกันแค่ครั้งเดียวช่วงก่อนปี 2022 ซึ่งหารือในเรื่องเทคโนโลยีเพื่ออนาคต นอกจากนี้ โฆษกยังวิจารณ์ไปถึงการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ที่ชอบดึงรัสเซียไปเอี่ยวด้วย หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก็มีการปล่อยข่าวเรื่องทรัมป์คุยกับปูตินเป็นประจำ
อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้หลายคนกังวลถึงความสัมพันธ์ระหว่างมัสก์กับปูติน นั่นคือ ความใกล้ชิดของมัสก์กับโดนัลด์ ทรัมป์ ในระยะหลัง ๆ มานี้ โดยเฉพาะในเรื่องของเงิน ๆ ทอง ๆ เพราะนับตั้งแต่ประกาศสนับสนุนทรัมป์อย่างสุดตัวเมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคม มัสก์จัดตั้ง America PAC ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อช่วยหาเสียงเลือกตั้ง
จนถึงปัจจุบัน America PAC ระดมเงินทุนและใช้เงินดังกล่าวไปกับการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งแล้วมากกว่า 137 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 4,600 ล้านบาท ซึ่งเกินครึ่งหรือกว่า 2,500 ล้านบาท ถูกใช้เพื่อรณรงค์สนับสนุนพรรครีพับลิกัน ส่วนที่เหลือใช้ไปกับการต่อต้านคู่แข่ง
ขณะที่ถ้าแยกมาดูเฉพาะที่มัสก์บริจาคเงินผ่าน America PAC มีกว่า 118 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 4,000 ล้านบาท นอกจากนี้ เขายังจ่ายอีกวันละ 1,00,000 ดอลลาร์สหรัฐ ให้กับผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งที่มาร่วมชิงรางวัลด้วย โดยแจกไปแล้ว 8 วัน 8,000,000 ดอลลาร์ และจะจ่ายไปเรื่อย ๆ จนถึงวันเลือกตั้ง แม้จะถูกวิจารณ์ว่าอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายก็ตาม
มัสก์ไม่ได้ลงทุนอย่างเดียว แต่ลงแรงด้วย อย่างในหน้าเพจของเขาบน X สื่อสังคมออนไลน์ที่มัสก์เป็นเจ้าของ ตอนนี้หน้าฟีดแทบทั้งหมดกลายเป็นพื้นที่หาเสียงให้กับทรัมป์และโจมตีคามาลา แฮร์ริส ผู้สมัครจากเดโมแครต บนโลกออนไลน์ ซึ่งเพจนี้มีผู้กดติดตามมากกว่า 200 ล้านคน
นี่ยังไม่นับรวมการปราศรัยหาเสียงในรัฐเพนน์ซิลเวเนีย รัฐสมรภูมิสำคัญ ที่มัสก์ไปเยือนในหลายเมืองของรัฐนี้ไม่ต่ำกว่า 3 ครั้งแล้ว นับตั้งแต่ได้ขึ้นเวทีร่วมกับทรัมป์เป็นครั้งแรกที่เมืองบัตเลอร์ เมื่อวันที่ 5 ต.ค. ซึ่งภาพเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่าง 2 มหาเศรษฐีชาวอเมริกันได้เป็นอย่างดี
คอการเมืองอเมริกันบางคน บอกว่า ในช่วงนี้เห็นภาพอีลอน มัสก์ เดินสายหาเสียงและออกสื่อเพื่อเรียกคะแนนนิยมให้ทรัมป์ บ่อยกว่า JD Vance ผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีจากรีพับลิกันเสียอีก ซึ่งบ่อยจนถึงขั้นที่ Tim Waltz คู่แข่งจากเดโมแครต ออกปากแซวว่า จริง ๆ แล้ว มัสก์เป็นคู่หูตัวจริงของทรัมป์หรือเปล่า
ที่ต้องจับตา คือ ถ้าทรัมป์ชนะการเลือกตั้งขึ้นมาจริง ๆ และแต่งตั้งมัสก์ให้เป็นเจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลชุดใหม่ด้วยแล้ว จุดนี้น่าจะยิ่งเพิ่มความกังวลเป็นวงกว้าง และต้องไม่ลืมด้วยว่า อีลอน มัสก์ ยังมีธุรกิจในประเทศที่สหรัฐฯ มีประเด็นด้วย อย่างจีน มัสก์ก็เคยเจอกับ สี จิ้นผิง หลายครั้งและยังมีโรงงานเทสลาในจีนด้วย ถ้าเขาได้เข้ามาอยู่ในรัฐบาลทรัมป์ ก็อาจจะมีเรื่องต้องเคลียร์กันมากขึ้น
อ่านข่าวอื่น :
ปิดตำนานชายผู้สื่อสารกับช้าง "พลายสุ" ยื่นหนังสือลาออกเขาใหญ่