ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดเส้นทางตลาดมืด "ซากพะยูน" ราคาพุ่งจากความเชื่อ

สิ่งแวดล้อม
19 พ.ย. 67
19:37
710
Logo Thai PBS
เปิดเส้นทางตลาดมืด "ซากพะยูน" ราคาพุ่งจากความเชื่อ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ซากพะยูนเพศเมียวัยรุ่น 2 ตัว เกยตื้นที่กระบี่และตรัง สภาพผอมและขาดสารอาหาร คาดผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อม ซากพะยูนถูกลักลอบซื้อขายในตลาดมืดเพื่อของขลังและความเชื่อมีมูลค่าสูง เจ้าหน้าที่เร่งตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการสูญเสียทรัพยากรทะเล

วันนี้ (19 พ.ย.2567) ซากพะยูนที่ถูกผ่าชันสูตร ตัวแรกเป็นพะยูนที่พบ เกยตื้นบริเวณท่าเรือเกาะปู ต.เกาะศรีบอยา อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ส่วนตัวที่ 2 พบซากบริเวณหาดสบาย ทางทิศตะวันตกของเกาะมุกด์ ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง

ทั้ง 2 ตัวเป็นพะยูนเพศเมีย ช่วงวัยรุ่น ความยาววัดได้ 186 ซม. และ 185 ซม. ที่น่าสนใจคือทั้ง 2 ตัว มีความสมบูรณ์ของร่างกายอยู่ในเกณฑ์ผอม โดยเฉพาะตัวที่พบในทะเลตรัง อยู่ในเกณฑ์ "ผอมผิดปกติ" ในกระเพาะอาหารของทั้ง 2 ตัวมีหญ้าอยู่เพียงเล็กน้อย ลักษณะภายนอกพบรอยพฤติกรรมฝูงบริเวณหลัง มีเพรียงเกาะทั่วลำตัว ไม่พบบาดแผลฉกรรจ์ หรือ แผลจากเครื่องมือประมง

การผ่าอวัยวะภายใน ตัวแรก พบกล้ามเนื้อบริเวณคอบวมน้ำ มีน้ำสีแดงใสในถุงหุ้มหัวใจ ก้อนคล้ายไขมันพอกหัวใจ พบก้อนลักษณะเป็นลิ่มสีเหลือง มีเศษทรายภายในหลอดลม เนื้อเยื่อปอดสีไม่สม่ำเสมอและมีเลือดคั่ง คาดป่วยจากภาวะก้อนลิ่มอุดตันหัวใจ ป่วยเรื้อรังจากภาวะปอดผิดปกติ ทำให้สัตว์อ่อนแอและจมน้ำตาย

ตัวที่ 2 พบอวัยวะส่วนใหญ่เน่าสลาย ไม่สามารถระบุรอยโรคได้ชัดเจน มีเพรียงเกาะมาก ผอมผิดปกติ คาดว่าป่วยเรื้อรัง ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อ และอาหารในกระเพาะของทั้ง 2 ตัว ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการอีกครั้ง ซึ่งนับเป็นความสูญเสียทรัพยากรชายฝั่ง เพราะพะยูนทั้ง 2 ตัว เป็นพะยูนเพศเมีย อยู่ในช่วงวัยรุ่น หมดโอกาสจะขยายพันธุ์

ตัวเลขการตาย-การเกยตื้น สอดคล้องกับตัวเลขการลดลงของหญ้าทะเล พบว่าช่วงปี 2566-2567 มีแนวโน้มพบ พะยูนผอม และมีชั้นไขมันลดลง ซึ่งบ่งชี้ได้ว่า "ขาดสารอาหาร" ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แบ่งระดับความอ้วนผอมของพะยูนเป็น 5 ระดับ ตามดัชนีเรียกว่า Body Condition Score (บอดี้ คอดิชั่น สกอร์) หรือ BSC โดยดูจากรอยคอดบริเวณลำคอ และกล้ามเนื้อแนวสันหลัง

ในช่วงปีนี้มีพะยูนอย่างน้อย 5 ตัว ที่ตายด้วยสภาพซูบผอม โดยเฉพาะพื้นที่เกาะมุกเกาะลิบงที่หญ้าทะเลหายไปเกือบทั้งหมด ข้อมูลการพบพะยูนที่ยังมีชีวิตในสภาพผอม ทำให้เจ้าหน้าที่เร่งให้การช่วยเหลือ เช่น การให้อาหารเสริมในธรรมชาติ

เจาะเส้นทางตลาดค้าซาก "พะยูน"

ทีมข่าว TheEXIT ตรวจสอบเส้นทางการซื้อขายซากพะยูน ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่เป็นการลักลอบตัดชิ้นส่วนที่มีราคา จากซากพะยูนตาย ที่เกยตื้น เช่นเดียวกับกรณีพบซากพะยูนถูกตัดหัว ในคดีล่าสุดที่ จ.ภูเก็ต การซื้อขายลักษณะนี้ยังคงอยู่ในกลุ่มเครื่องราง ของขลัง และเป็นการซื้อขายตามใบสั่ง ส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

"กะโหลกพะยูน-เพศผู้" ชิ้นนี้ ทีมข่าว TheEXIT บันทึกไว้เมื่อ 10 ปีก่อน พบเป็นการตั้งขาย ที่ตลาดแห่งหนึ่ง ใน จ.สงขลา ราคา 28,000 บาท และตัดแบ่งขายได้ตั้งแต่ชิ้นละ 200 บาทไปจนถึงหลักพันบาท

การตั้งขายอย่างโจ่งแจ้งในครั้งนั้น ตำรวจเข้าตรวจค้นนำหลักฐานไปตรวจสอบ พบว่าเป็น "ซากพะยูน" ที่ตายมาแล้วมากกว่า 40 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ "พะยูน" ยังไม่ขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าสงวน ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี 2535 ทำให้ไม่สามารถดำเนินคดีได้

แต่ยืนยันได้ว่า "ความเชื่อ เรื่องของขลัง" จากซากพะยูน มีอยู่จริง

อีกคดีเป็นคดีที่เกิดขึ้นในเดือน เม.ย.2565 เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 7 นำกำลังเข้าจับกุมผู้ต้องหาหญิงคนหนึ่ง ที่บ้านพักใน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง หลังได้รับแจ้งว่ามีการลักลอบขายฟันปลาพะยูนจำนวน 3 ชิ้น ในราคา 3,000 บาท

ทีมข่าว สอบถามไปยังหัวหน้าชุมจับกุม ได้รับคำตอบว่า คดีนี้ผู้กระทำความผิด ถูกศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม พิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือน รอลงอาญา 1 ปี ปรับ 150,000 บาท แต่ไม่สามารถขยายไปถึงขบวนการค้าตามใบสั่งได้

และนี่คือคดีล่าสุดที่เกิดขึ้นใน อ.ถลาง จ.ภูเก็ต วันที่ 15 พ.ย. พบ "ซากพะยูน" ภายในคลองตำบลป่าคลอก ลักษณะถูกของมีคมตัดขาด ตั้งแต่กระดูกสันหลังส่วนคอชิ้นแรก และเป็นการตัดขณะเป็นซากแล้ว เจ้าหน้าที่ชุดเหยี่ยวดง เชื่อว่า ตลาดซื้อขายซากพะยูนตอนนี้ มีมูลค่าสูง อย่างเขี้ยวอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท กระดูกคออยู่ที่ 30,000 บาท เป็นแรงจูงใจมากพอให้ผู้พบซาก ตัดสินใจกระทำความผิด

The EXIT ตรวจสอบการซื้อขายในตลาดออนไลน์ พบว่า ในกลุ่มเครื่องราง ของขลัง ยังมีการโพสต์ขายเป็นระยะ อย่างโพสต์นี้ ประกาศขาย "หมูเด้ง" แกะจากกระดูกพะยูน แต่เมื่อจะสอบถามราคา พบว่าได้ปิดการขายไปแล้ว การโพสต์ลักษณะนี้ ยังพบเห็นในอีกหลายเพจ เจ้าหน้าที่ระบุว่า ต้องนำไปตรวจสอบยืนยันว่า เป็น "กระดูกพะยูน" จริงหรือไม่ และได้มาอย่างไร

ภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิอันดามัน ในฐานะผู้ติดตามปัญหาให้ข้อมูลว่า การซื้อขายในออนไลน์ ส่วนใหญ่พบเป็นการกระทำความผิดที่ไม่ได้มาจากการล่า

The EXIT ตรวจสอบสถิติสัดส่วนการกระทำความผิดเกี่ยวกับพะยูนเกยตื้น โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตั้งแต่ปี 2536 จนถึงปัจจุบัน พบว่า มีแนวโน้มลดลง ขณะที่ประเภทการกระทำความผิดต่อซากพะยูน พบว่าร้อยละ 59 มีการลักลอบนำเนื้อพะยูนไปกิน รองลงมาคือ ตัดเขี้ยว ตัดหัว และขโมยกระดูก

อ่านข่าวอื่น :

เร่งฟื้นฟู "หญ้าทะเล" วิกฤต "พะยูน" ตาย 5 ตัวในเดือนเดียว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง