ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เลือกตั้งท้องถิ่น-อบจ. ทำไมต้อง “บ้านใหญ่”

การเมือง
22 พ.ย. 67
16:23
603
Logo Thai PBS
เลือกตั้งท้องถิ่น-อบจ. ทำไมต้อง “บ้านใหญ่”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

เป็นคำถามที่อยู่ในใจผู้คนไม่น้อย ทำไมเลือกตั้งท้องถิ่น รวมทั้ง อบจ. (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) มักต้องมี “บ้านใหญ่” เกี่ยวข้อง คำตอบแรก เป็นเพราะ “บ้านใหญ่” จะยึดครองเก้าอี้บริหารท้องถิ่นในแต่ละจังหวัดนั้น ๆ ทั้ง อบจ. เทศบาลนคร (ทน.) และเทศบาลเมือง(ทศ.) ในหลายจังหวัด มีขยายลงไปถึง อบต.สำคัญๆ

ถัดมาคือท้องถิ่นมักเป็นจุดเชื่อมโยงถึงระดับชาติ ผู้บริหารท้องถิ่นจำนวนมาก ถือเป็นจุดเริ่มต้นสู่การเมืองระดับชาติ อย่าง สส. หรือ สว. หลายจังหวัด มี “คนบ้านใหญ่” ตระกูลดัง ยึดครองตั้งแต่ท้องถิ่นถึงระดับ สส. และ สว. แม้ช่วงหลังๆ จะมี “บ้านใหญ่” หรือ “บ้านใหม่” เกิดขึ้นมากกว่าในอดีต และหลายจังหวัดถือเป็นคู่แข่งทางการเมืองด้วยซ้ำ

แต่เมื่อมีความจำเป็นต้องรักษาบารมีและผลประโยชน์ เช่น งบประมาณ ก็มักจะประสานจับมือร่วมพลังร่วมใจกัน ต่อต้านสกัดคู่แข่งที่มาแรงเป็นกรณีเฉพาะกิจ อย่างที่ได้เห็นในการเลือกตั้งหลายแห่ง นับเป็นการประสานกันของบ้านใหญ่ มิหนำซ้ำ คนในบ้านใหญ่ ยังคุยโวว่าเป็นความสำเร็จของการแพ็คทีมของบ้านใหญ่

แม้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีบทบาทหน้าที่ในการดูแล ส่งเสริม พัฒนา บริหารจัดการสาธารณูปโภคพื้นฐาน สร้างโอกาสรายได้ ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ให้กับคนท้องถิ่นแล้ว

สิ่งสำคัญกว่านั้น คือมีเงินงบประมาณ สำหรับบริหารจัดการรายปีรออยู่ เฉพาะการจัดสรรรายได้ผ่านสำนักงบฯ ให้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะ อบจ. มีงบประมาณหลายร้อยล้านถึงพันล้านต่อปี จังหวัดเล็กอาจลดหลั่นกันไป แต่จังหวัดใหญ่ๆ อย่างเชียงใหม่ งบประมาณต่อปีประมาณ 2 พันล้านบาท จ.นครราชสีมา ประมาณ 2 พันล้านบาท ยังไม่งบอุดหนุนจากมหาดไทย และเงินสนับสนุนอื่น ๆ

ถือเป็นขุมทรัพย์สำคัญ ถึงขนาดที่นักการเมืองระดับชาติ อย่าง สส.หรือ สว.หลายคน ยอมทิ้งเวทีการเมืองระดับชาติ กลับไปเล่นการเมืองท้องถิ่น อาทิ อุดรธานี สงขลา เชียงใหม่ และอีกหลายจังหวัด เพราะมีงบประมาณให้ใช้จ่าย ต่างจาก สส. ที่โดยโครงสร้างตามรัฐธรรมนูญ ต้องทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ ไม่มีงบพัฒนาจังหวัดคนละ 20 ล้านบาทเหมือนในอดีต

ต้องพยายามเข้าไปเป็นกรรมาธิการงบประมาณ เพื่อประสานหน่วยงานราชการและท้องถิ่นนำโครงการต่าง ๆ ไปลงในพื้นที่ หรืออาจประสานและใช้อำนาจกับข้าราชการในกระทรวงและกรมต่าง ๆ เรียกตบทรัพย์ อย่างกรณี เรียกเงิน 5 ล้านบาท จากอธิบดีกรมน้ำบาดาล จนโดนศาลฎีกาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 6 ปีก็มี

“บ้านใหญ่” ยังเป็นพันธมิตรกับระดับบิ๊ก ๆ ฝ่ายการเมืองส่วนกลาง ที่ผูกสัมพันธ์อย่างเหนียวแน่น และยกให้เป็นตัวเลือกลำดับแรก ๆ สำหรับสู้ศึกเลือกตั้งระดับชาติ เช่น สส. แต่บ้านใหญ่บางหลัง พร้อมจะชิ่งหนีไปช่วยพรรคการเมืองอื่น ที่เสนอเงื่อนไขและผลประโยชน์ดีกว่า

แม้ในปัจจุบัน คนรุ่นใหม่ ๆ และประชาชนที่คาดหวังจะได้เห็นการเมืองแบบใหม่ จะไม่สนับสนุนคนบ้านใหญ่เหมือนในอดีต แต่ก็เป็นเพียงในบางจังหวัด ขณะที่หลายจังหวัด “คนบ้านใหญ่” ก็ยังชนะ ได้เป็น สส. เป็นรัฐมนตรี ได้บริหารประเทศ

แต่กระนั้น นายทวิสัณฑ์ โลณานุรักษ์ นักวิชาการอิสระ ระบุว่า “คนบ้านใหญ่” ในปัจจุบัน ต้องปรับตัวตามยุคสมัย เป็นบ้านใหญ่แบบไอทีเข้ามาช่วย ด่างจากบ้านเก่าในอดีตที่เป็นผู้มีอิทธิพล หรือนักเลงหัวไม้ อีกทั้งในทางปฏิบัติ ถือได้ว่า มีความสำคัญมากกว่า สส. แม้บางจังหวัดมี สส.หลายคน แต่ทุกจังหวัด จะมีนายก อบจ.เพียงคนเดียว

นอกจากนี้ ผู้มีอำนาจบารมีจากส่วนกลาง โดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาล มักจะเล็งใช้ประโยชน์จากผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อเป็นฐานสนับสนุนทางการเมืองให้ เพื่อช่วยสกัดกั้นฝ่ายการเมืองที่เป็นคู่แข่ง หรืออุดมการณ์ไม่สอดคล้องกัน

เห็นได้จากพรรคการเมืองที่คุมกระทรวงมหาดไทย มักจะคอยปกป้อง และผลักดันนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้บริหารท้องถิ่น ในลักษณะต่างตอบแทน หรือโอนอ่อนผ่อนปรนในโครงการต่าง ๆ ที่ท้องถิ่นทำหรือนำเสนอ ทั้งที่ไม่ควรทำ หรือมองได้ว่ามีผลประโยชน์แอบแฝง

เช่น โครงการที่ใหญ่โตเกินเหตุ อ้างเป็นแลนด์มาร์ก เพื่อใช้ผู้รับเหมาที่เป็นเครือญาติหรือเครือข่ายเข้าไปรับงาน หรือโครงการเสาไฟฟ้าสารพัดรูปสัตว์ ที่ราคาเฉลี่ยต่อต้นเป็นแสนบาท ทั้งที่ความจริงประชนต้องการเพียงแค่แสงส่องสว่าง

ทำให้โครงการจำนวนไม่น้อย ถูกนำไปสู่เรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ในหลากหลายรูปแบบและวิธีการ จนมีการนำเสนอให้ ป.ป.ช. และเพจหมาเฝ้าบ้าน บุกไปตรวจสอบ และถูกดำเนินคดีแล้วหลายราย

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส

อ่านข่าว : 2 เวทีใหญ่กุมภวาปี พท.-ปชน.โค้งสุดท้ายเลือกนายก อบจ.อุดรธานี

"ทวี-โรม" ซัดเดือด กมธ. ถกกรณี "ทักษิณ" ไม่นอนคุก รักษาตัวชั้น 14

“ทวี” ยันเห็นเวชระเบียน-ใบรับรองแพทย์ “ทักษิณ” แต่ให้ ป.ป.ช.ไม่ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง