เสมือนคลุมเครือ แต่ก็คล้ายจะชัดเจน เมื่อมีข้อมูลหลุดออกมาว่า “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” อดีตประธานที่ปรึกษาของนายก รัฐมนตรี ขาดคุณสมบัติ ในการนั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
แม้ "สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์" ประธานคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการ และกรรมการของธนาคารแห่งประเทศไทย จะออกมาแบ่งรับแบ่งสู้ว่า ยังไม่ได้รับทราบความเห็นอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ตาม
หลังจากเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2567 ที่ผ่านมา ได้มีการนัดประชุมเพื่อพิจารณาคุณสมบัติของนายกิตติรัตน์ ผู้ได้รับการคัดเลือกเสนอชื่อให้เป็นประธานกรรมการ ธปท. (ประธานบอร์ด ธปท.) ว่า เคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เคยชี้ว่า หากรัฐบาลฝ่าฝืนชงชื่อเข้าครม.รัฐบาลแพทองธาร อาจเกิดประวัติศาสตร์ ซ้ำรอย “เศรษฐา ทวีสิน” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ต้องหลุดจากตำแหน่ง เหตุตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายก
อ่านข่าว “กิตติรัตน์ ณ ระนอง ” นั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ คนที่ 5
จึงทำให้ไม่มีการเสนชื่อ “กิตติรัตน์”เข้าสู่การพิจารณาของครม.ทั้ง ๆที่ผ่านการรับเลือก ให้เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติมาแล้ว 2-3 ครั้ง จนล่าสุด คณะกรรมการกฤษฎีกา ต้องจึงต้องจัดประชุมเพื่อให้ความเห็น โดยมี 2 แนวทาง คือ หากชี้ว่า ตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เป็นตำแหน่งทางการเมือง ก็จะทำให้ “กิตติรัตน์” คุณสมบัติไม่ผ่านที่จะนั่งเป็นประธานบอร์ด ธปท. และอาจต้องมีการสรรหาใหม่ เพื่อพิจารณาผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายคนถัดไป หรือกรณีที่ชี้ว่า ไม่ใช่ตำแหน่งทางการมือง “กิตติรัตน์”ก็จะได้เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนต่อไป
ผลการประชุมคณะกรรมการกฤษฎีการ่วม 3 คณะ มีมติด้วยเสียงข้างมากเห็นว่า “กิตติรัตน์” ขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ เนื่องจากตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับการแต่งตั้งในสมัยรัฐบาล เศรษฐา ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เนื่องจากมีส่วนไปเกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบาย
นอกจากนี้ พบว่า บันทึกของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง ลักษณะต้องห้ามของประธานกรรมการในคณะ กรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากการชี้แจงของผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทยว่า ก่อนการได้รับการเสนอชื่อให้เป็นบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย
อ่านข่าว "กิตติรัตน์" ไม่ผ่านคุณสมบัตินั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
นาย ก. เคยได้รับการแต่งตั้งและปฏิบัติหน้าที่เป็นรองประธานกรรมการในคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ ของพรรคการเมือง พ. และภายหลังจากที่ลาออกจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 นาย ก. ยังคงปฏิบัติภารกิจที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง พ. โดยการเยี่ยมชมภาคการเกษตรและโคนมในนามพรรคการเมือง พ.เมื่อวันที่ 1 ก.ย.2566
และภายหลังจากที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 234/2566 เรื่อง แต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 14 ก.ย. 2566 แล้ว นาย ก. ยังคงมีการปฏิบัติภารกิจและลงพื้นที่โดยสวมเสื้อที่มีสัญลักษณ์ของพรรคการเมือง พ. อยู่ เช่น การลงพื้นที่เพื่อติดตามภารกิจข้าวรักษ์โลก เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2566
และยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี นาย ก. มิได้มีหน้าที่และอำนาจเฉพาะแต่การให้คำปรึกษาเสนอความเห็น หรือข้อเสนอแนะตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายแต่เพียงอย่างเดียว แต่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในลักษณะควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบายสำคัญด้วย
ดังเช่น การที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายและแต่งตั้งให้นาย ก. ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 316/2566 ซึ่งนโยบายการแก้ไขหนี้สินของประชาชนเป็นนโยบายที่พรรคการเมือง พ. ใช้ในการหาเสียง ตลอดจนเป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นแถลงต่อรัฐสภาด้วย
ดังนั้น ผู้ดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 234/2566 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยจึงถือได้ว่าเป็น "ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" เพราะได้รับการแต่งตั้งมาโดยเหตุผลและความสัมพันธ์ทางการเมืองและมีหน้าที่ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบายสำคัญของพรรคการเมืองและของรัฐบาล
ดังนั้นจึงต้องจับตาดูว่า หาก “กิตติรัตน์” ชวดนั่งตำแหน่งนี้แล้ว ทีมเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยจะเสนอใคร? เข้าไปท้าชิง เพราะรัฐบาลก็คงไม่ปล่อยมือจากแบงก์ชาติ ให้มีอิสระจากฝ่ายการเมืองเหมือนในอดีตแน่ ๆ เนื่องจากมีหลายเรื่องสำคัญที่ต้องผลักดัน รวมทั้งการเข้าไปมีอำนาจ ในการแต่งตั้งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนต่อไป ที่จะเข้ารับตำแหน่งต่อจาก “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ซึ่งจะพ้นตำแหน่งผู้ว่าฯธปท.ในเดือนก.ย.2568 นี้
อย่างไรก็ตาม ในแวดวงเศรษฐกิจ มีการวิเคราะห์ว่า มีหลายประเด็นสำคัญที่พรรคเพื่อไทยต้องการส่งคนของตนเองเข้าไปนั่งในตำแหน่งประธานบอร์ดแบงค์ชาติ โดยเฉพาการผลักดันนโยบายเรื่องเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่จะถูกนำมาใช้ การจัดตั้งกองทุนความมั่นคั่งของรัฐ (Sovereign Wealth Fund หรือ SWF) การผลักดันให้มีการใช้สกุลเงินดิจิทัลหรือ บิทคอยด์ การจัดทำ Negative Income Tax
การแก้กฎหมายแบงก์ชาติ เพื่อโอนหนี้กองทุนฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ให้ไปอยู่บัญชีบริหารหนี้ของ ธปท.แทนที่จะอยู่ภายใต้กระทรวงการคลังเพื่อเอื้อให้รัฐบาลก่อหนี้ และทำนโยบายเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในระยะยาว ซึ่งจะทำให้รัฐบาลลดหนี้สาธารณะลงได้ราว 5% ต่อจีดีพี เพิ่มพื้นที่ในการทำนโยบายของรัฐบาลให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น
ส่วนขั้นหลังมีคำยืนยันอย่างเป็นทางการว่า “กิตติรัตน์”ไม่ได้ไปต่อ ทางกระทรวงการคลังจะต้องเสนอชื่อแคนดิเดตคนใหม่เข้าไปให้คณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ดำเนินการคัดเลือกตามขั้นตอนใหม่ เนื่องจากรายชื่อฝั่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเสนอ คือ “กุลิศ สมบัติศิริ” มีสถานะเดียวกับ “กิตติรัตน์” คือ นั่งเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลเศรษฐา ด้วยเช่นกัน จึงเหลือแค่ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์
และเชื่อว่ากระทรวงการคลังก็ต้องเสนอรายชื่อใหม่เข้าไปด้วย ดังนั้นจึงทำให้ “ปรเมธี วิมลศิริ” ประธานแบงก์ชาติคนเดิม ต้องนั่งในตำแหน่งรักษาการประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย( ธปท.) ยาวถึงกลางเดือน ม.ค.2568 หรือครบกำหนดตามกรอบ 120 วัน จนกว่าจะคัดเลือกประธานแบงก์ชาติคนใหม่จะแล้ว