ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วิเคราะห์เลือกตั้ง อบจ. นับแต้ม 3 ค่ายสี "ทักษิณ" กระแสตก?

การเมือง
3 ก.พ. 68
14:02
1
Logo Thai PBS
วิเคราะห์เลือกตั้ง อบจ. นับแต้ม 3 ค่ายสี "ทักษิณ" กระแสตก?

วันนี้ (3 ก.พ.2568) การเลือกตั้งนายก อบจ. และ สมาชิกสภา อบจ.เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา พรรคการเมืองใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยสามารถชิงเก้าอี้ไปได้ 10 ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทย 9 ที่นั่ง พรรครวมไทยสร้างชาติ 3 ที่นั่ง พรรคชาติไทยพัฒนา 2 ที่นั่ง พรรคประชาชาติ 2 ที่นั่ง พรรคกล้าธรรม 1 ที่นั่ง และพรรคประชาชน 1 ที่นั่ง 

รศ.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมือง และยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์  ได้กล่าวถึงภาพรวมสนามการเลือกตั้ง นายก อบจ. ว่ากำแพงของบ้านใหญ่ที่แน่นหนา เริ่มเกิดรอยรั่วรอยร้าว 1 จุด คือที่ จ.ลำพูน ถือว่าเป็นจุดที่อาจจะส่งผลกระทบต่อไปในอนาคตที่ทำให้กำแพงบ้านใหญ่ในจังหวัดอื่นๆ เกิดรอยร้าวขึ้นหนัก และขยายตัวในการเลือกตั้งครั้งต่อๆไป 

ซึ่งถือว่าเป็นจุดความสำเร็จและเป็นจุดเปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะเป็นจุดเล็กๆ และวิธีการบริหารของพรรคประชาชน ตั้งแต่มีการเลือกตั้งเสร็จได้ประกาศแนวทางการบริหาร ซึ่งเป็นแนวทางการบริหารที่เรียกได้ว่าทำลายประเพณีการบริหารแบบบ้านใหญ่ แบบเดิมโดยสิ้นเชิง คือเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน และให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ ซึ่งจะส่งผลสะเทือนต่อการบริหารของ นายก อบจ.กลุ่มบ้านใหญ่ทั้งหลาย

ถ้าเฉพาะเจาะจงที่พรรคประชาชน ครั้งนี้ถือว่าพรรคประชาชนไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ซึ่งจังหวัดเป้าหมายเป็นจังหวัดที่พรรคประชาชนแพ้การเลือกตั้งโดยคะแนนห่างกันไม่มากนัก ไม่ว่าจะเป็นตราด เชียงใหม่ สมุทรปราการ สมุทรสงคราม ซึ่งจังหวัดเหล่านี้พรรคประชาชนหมายมั่นปั้นมือ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

ส่วนหนึ่งที่ไม่ประสบความสำเร็จ เกิดจากปัจจัยวันเลือกตั้งที่เป็นวันเสาร์ ทำให้ผู้มาใช้สิทธิลดลงเฉลี่ย 10% จากครั้งก่อนหน้านี้เมื่อปี 2563 ประชาชนมาใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ. 65% ซึ่งครั้งนี้ประมาณ 55% สำหรับคะแนนที่หายไปเรียกได้ว่า เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พรรคประชาชนไม่สามารถที่จะเอาชนะได้

ประกอบกับพรรคประชาชนเองอาจยังไม่มีพลังมากเพียงพอในแง่ของทีม อบจ.ที่จะไปกระตุ้นให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิและเปลี่ยนใจเลือกพรรคประชาชนจนทำให้ชนะในพื้นที่เป้าหมายหลัก

อ่านข่าว : สรุปเลือกตั้ง อบจ.58.45% บัตรเสีย 5.69% เช็ก 5 จังหวัดใช้สิทธิมากสุด

"ทักษิณ" จุดกระแสไม่ติด

สำหรับเป้าหมายหลักของนายทักษิณ ชินวัตร คือการทวงคืนที่นั่งและทวงคืนความนิยมกลับคืนมาเหมือนในอดีต เพื่อก้าวไปสู่ 200 ที่นั่ง หรือมากกว่านั้นในการเลือกตั้งปี 2570 แต่การเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้ แพ้การเลือกตั้งอย่างน้อย 5 สนามใหญ่ที่เป็นสนามสำคัญ และเกือบแพ้ใน จ.เชียงใหม่

จ.เชียงราย พรรคเพื่อไทยแพ้ไปด้วยคะแนนที่ไม่ห่างกันมากนัก ซึ่งเป็นการต่อสู้ระหว่างกลยุทธ์บ้านใหญ่ของพรรคเพื่อไทย และค่ายสีน้ำเงิน ซึ่งพลังสีน้ำเงินก็ยังมีความเข้มแข็งมากกว่า

ส่วนตัวนายทักษิณเองไม่สามารถที่จะไปจุดกระแสให้คนออกมาใช้สิทธิเลือกพรรคเพื่อไทยได้จึงเกิดความพ่ายแพ้

กรณีของ จ.เชียงใหม่ ลำพูน นายทักษิณได้ลงพื้นที่หลายครั้งและคะแนนที่ได้มาอาจจะไม่ได้เท่ากับที่คาดหวัง ซึ่งได้คะแนนใกล้เคียงกับปี 2563 เป็นการตอกย้ำที่ชัดเจนว่านายทักษิณไม่สามารถสร้างกระแสเพิ่มขึ้นได้ อย่างมากแค่ตรึงสถานะเดิมเอาไว้

และกรณี จังหวัดเล็กๆ อย่างลำพูน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เขตเมือง จะเห็นได้ว่าประสบความล้มเหลวซึ่ง จ.เชียงใหม่ ยังมีพื้นที่ชนบทห่างไกลหลายพื้นที่ เครือข่ายเดิมยังมีพลังอยู่พอสมควรจึงชนะได้อย่างเฉียดฉิว

จ.ศรีสะเกษซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หลักที่นายทักษิณ หมายมั่นปั้นมือว่าจะช่วงชิงตำแหน่งคืน ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่า ไม่สามารถสู้เครือข่ายของค่ายสีน้ำเงินได้

ถ้าต่อสู้กันด้วยเครือข่าย ต่อสู้กันด้วยบ้านใหญ่ ต่อสู้ด้วยระบบหัวคะแนน ทางฝ่ายนายทักษิณ และพรรคเพื่อไทย เป็นฝ่ายเสียเปรียบทางค่ายสีน้ำเงิน

ส่วนในแง่ของกระแส และนโยบาย ก็เช่นเดียวกัน การเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนให้เห็นชัดว่า ทักษิณไม่สามารถปลุกกระแสผู้คนให้มาสนับสนุนได้ดั่งเดิมแล้ว

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย

พรรคการเมืองถอดบทเรียนเลือกตั้งท้องถิ่นสู่ระดับชาติ

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองว่าการเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้ไม่สามารถที่จะระบุได้ว่านายทักษิณ ชินวัตร สิ้นมนต์ขลัง หรือ ใครจะเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งครั้งหน้าไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่น หรือเลือกตั้งทั่วไป เพราะการเลือกตั้งในแต่ละครั้งมีปัจจัยที่แตกต่างกัน

ไม่ว่าจะเป็นกฎกติกาการเลือกตั้ง หรือการตัดสินใจเลือกผู้สมัครของประชาชน มองในมุมการเมืองท้องถิ่นกับระดับชาติแตกต่างกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไปเกี่ยวข้องกับบริบทสังคม และการเมืองในช่วงที่มีการเลือกตั้งด้วย จะเห็นได้ว่าหลายพื้นที่ เช่น จ.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทยมี สส.มากที่สุด ถึง 7 คน แต่ก็แพ้อย่างขาดลอยในสนามการเลือกตั้ง อบจ.

หรือ จ.นนทบุรี สมุทรปราการ พรรคประชาชนก็กวาดยกจังหวัดในการเลือกตั้งปี 2566 แต่ก็ไม่ได้นายก อบจ.เช่นเดียวกัน ซึ่งในแต่ละครั้งมีเกมการเล่น ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีที่ต่างกัน

จ.เชียงราย หลายคนคาดการณ์ว่าเพื่อไทยจะได้รับชัยชนะ แต่ในที่สุดก็พ่ายแพ้ ซึ่งก่อนหน้านี้บริบทใน จ.เชียงราย เกิดน้ำท่วมใหญ่ และกระทรวงที่ลงพื้นที่ไปดูแล ซึ่งกระทรวงมหาดไทยมีบทบาทที่โดดเด่น

หลังจากนี้แต่ละพรรคการเมือง มีโจทย์ที่ต้องกลับไปทำการบ้านกันต่อ เช่นเพื่อไทยต้องกลับไปทบทวนว่า หลายพื้นที่ที่เคยชนะ ว่ายุทธศาสตร์ที่ใช้นายทักษิณ ชินวัตร เป็นบทบาทนำในการหาเสียงจะต้องมีการไปปรับเช่นกัน

หรือกรณีของพรรคประชาชน วันนี้ประสบความสำเร็จมากแล้ว 1 พื้นที่ คือ จ.ลำพูน และต้องใช้ลำพูนเป็นแซนด์บ็อกซ์เพื่อจะทำให้เห็นว่ามีการลงมือทำตามนโยบายจริงๆ

ซึ่งจุดอ่อนของพรรคประชาชนที่ถูกตั้งคำถาม คือ ยังไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรม ซึ่งลำพูนจะเป็นโอกาสของพรรคประชาชน เพื่อเป็นบทพิสูจน์ เพื่อนำไปสู่ระดับชาติ

พรรคภูมิใจไทย ที่หลายคนมองว่า "มาเงียบ แต่กินเรียบหมด" จะเห็นได้ว่าพรรคภูมิใจไทยไม่ได้ส่งผู้สมัคร แต่เป็นพรรคเป็นพวกกัน แต่โจทย์ของพรรคภูมิใจไทยวันนี้จะทำงานการเมืองในสไตล์เครือข่ายในระดับพื้นที่อย่างเดียวไม่พอ ต้องไปสู่การเมืองระดับชาติ หรือการเปิดพื้นที่การเมืองใน กรุงเทพด้วย ถ้ามีความต้องการเป็นแกนนำรัฐบาลในอนาคต

ซึ่งหลายพรรคมีโจทย์กันทั้งสิ้น แต่หลายคนจะไปโฟกัสที่นายทักษิณ เพราะว่าสนามใน 29 จังหวัดก่อนหน้านี้ เพื่อไทยได้มา 11 ในขณะที่สนามเลือกตั้งครั้งนี้ เพื่อไทยได้มาประมาณ 10 ที่นั่ง ถือว่า 70%

โหวตโนพุ่งสะท้อนจุดเปลี่ยน

รศ.ดร.ยุทธพร มองว่าสนามเลือกตั้งนายก อบจ. บ้านใหญ่ยังเป็นแชมป์อยู่ ซึ่งสะท้อนว่าการเมืองระดับท้องถิ่น มีความสัมพันธ์ส่วนบุคคล เป็นเรื่องสำคัญ โจทย์ที่น่าสนใจประการหนึ่งคือหลายพื้นที่โหวตโนหรือไม่ประสงค์จะลงคะแนนเสียง และบัตรเสียสูงมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ใหญ่ๆ เช่น จ.นครราชสีมา นั่นเป็นเพราะว่าตัวเลือกทางการเมืองของประชาชนไม่ค่อยมีหรือไม่ ถึงแม้ว่าบ้านใหญ่ประสบความสำเร็จ แต่ก็มีจุดที่อยากจะเปลี่ยน ซึ่งสะท้อนออกมาจากบัตรโหวตโน และบัตรเสียเหล่านี้

สำหรับ ส.อบจ.บทบาทบ้านใหญ่ลดลงไปเยอะ หลายจังหวัดเลือกฝั่งตรงข้ามกับนายก อบจ. อาจจะเป็นเพราะเรื่องของกลไกถ่วงดุล

พรรคประชาชน เสนอการเลือกตั้งวันเสาร์ทำให้คนเลือกตั้งลดลงไปเยอะ เมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งสะท้อนว่า Saturday Effects มีผล แต่ก็ไม่สามารถตอบได้ว่ากลุ่มคนเหล่านั้นจะกาให้กับพรรคประชาชน ซึ่งเป็นสมมุติฐานว่าคนที่ไม่ไปใช้สิทธิอาจจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

กระจายอำนาจ-ปฏิรูประบบราชการ ทำการเมืองท้องถิ่นเข้มแข็ง

การเมืองท้องถิ่น กับระดับชาติมีความเกี่ยวพันกันอยู่แล้ว บางคนต้องการใช้ต่อยอดไปสู่การเมืองระดับชาติ หรือการเมืองระดับชาติลงสู่การเมืองท้องถิ่น ซึ่งไม่ได้เป็นผลพรรคการเมืองส่งผู้สมัครและจะเกิดการครอบงำ ถ้าจะสร้างความเข้มแข็งการเมืองท้องถิ่นนั้น การเลือกตั้งเป็นเพียงมิติหนึ่ง ทั้งนี้จะต้องพูดถึงการกระจายอำนาจ ปฏิรูประบบราชการ รวมไปถึงการสร้างความเข้มแข็งให้กับพี่น้องประชาชนในทางเศรษฐกิจทางวัฒนธรรม อัตลักษณ์ชุมชนท้องถิ่นด้วย

อ่านข่าว :

ถอดรหัส ผลเลือกตั้ง อบจ. สมรภูมิ " 2 พรรค 1 ค่ายสีน้ำเงิน"

ปชน.ชนะ ส.อบจ.132 คน เมินแดงกินส้ม จ่อร้องสอบปมบัตรเสียพุ่ง

เลือกตั้ง อบจ. พบบัตรเสีย-โหวตโนยอดพุ่ง โคราช 1.1 แสนใบ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง