วันนี้ (14 ก.พ.2568) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชน และพรรคเพื่อไทย ว่า จุดยืนพรรคภูมิใจไทยยังเหมือนเดิมและยึดมั่นในแนวความคิด โดยมาลงชื่อเข้าประชุม แต่จะไม่ร่วมเป็นองค์ประชุมหากมีการพิจารณาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่าการตีความเรื่องนี้มีความเสี่ยง
เมื่อถามว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์พรรคเพื่อไทยที่แสดงท่าทีอยากแก้รัฐธรรมนูญ แต่สุดท้ายได้ลงมติสนับสนุนญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. ที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าจะทำประชามติกี่ครั้ง มองเรื่องนี้อย่างไร โดยนายอนุทิน กล่าวว่า ตนมองเฉพาะแนวทางของพรรคภูมิใจไทย ไม่ก้าวล่วงแนวทางของพรรคอื่น ซึ่งแต่ละพรรคมีสิทธิตีความและมีแนวทางต่างกัน
ส่วนที่มี สส.ออกมากดดันว่าหากพรรคไหนไม่สนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญให้ถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาลนั้น ในทางปฏิบัตินี่คือพรรคร่วมรัฐบาล ผู้ที่จะพูดคุยกันคือหัวหน้าพรรคกับหัวหน้าพรรค หรืออย่างน้อยที่สุดคือพูดคุยกับเลขาธิการพรรค นอกเหนือจากนี้ไม่นับมาเป็นสาระ ซึ่งตนหารือกับนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทยอยู่ตลอด
ขณะที่การประชุมพรรคร่วมรัฐบาลในวันนี้ (14 ก.พ.) ไม่ได้เชิญพรรคภูมิใจไทยเข้าร่วม ก็เป็นเรื่องของสภา ในเมื่อพรรคภูมิใจไทยไม่ได้เข้าร่วมในวาระพิจารณา จะเชิญหรือไม่ก็ไม่ได้รู้สึกอะไร
อ่านข่าว : สภาล่ม! โชว์ตัวแค่ 175 ไม่ครบองค์ประชุมปมแก้รัฐธรรมนูญ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
นายอนุทิน ยังกล่าวถึงกรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลเสียงแตกเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ว่า สภาก็ส่วนของสภา รัฐบาลก็ส่วนของรัฐบาล เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญที่พรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทยเสนอเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ได้ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) และไม่ได้คุยกันมาก่อนกับพรรคร่วมรัฐบาล ขณะที่วันนี้ตนมาในฐานะ สส. ไม่ได้มาในฐานะรองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย
ส่วนจะมีทางออกอย่างไรหาก สส.ไม่กล้าประชุมเพื่อพิจารณาการแก้รัฐธรรมนูญและองค์ประชุมล่มซ้ำ นายอนุทิน ระบุว่า เป็นอำนาจของประธานรัฐสภาที่จะต้องวินิจฉัย โดยหากทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมายพรรคภูมิใจไทยก็พร้อมให้ความร่วมมือและต้องรอคำวินิจฉัยของศาล เพราะมองว่าการแก้ไขหมวด 15/1 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จึงไม่อยากเสี่ยง แต่ถ้าศาลระบุว่าหากมีการแก้โดยไม่ต้องทำประชามติและเป็นไปตามกฎหมาย ก็พร้อมปฏิบัติตามขั้นตอนตรงไปตรงมา
ผู้สื่อข่าวถามเพิ่มเติมว่า พรรคประชาชนเรียกร้องให้นายกฯ พูดคุยกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเกี่ยวกับการผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญ นายอนุทิน กล่าวว่า หากนายกฯ เรียกให้ประชุมหรือชี้แจงเรื่องนี้ก็พร้อมจะไป ไม่มีปัญหา แต่ขณะนี้ยังไม่ได้เรียก
พร้อมย้ำว่าหากมีการแก้ไขหมวด 15/1 พรรคภูมิใจไทยไม่สามารถร่วมพิจารณาได้ เรื่องนี้ไม่ใช่จุดยืน แต่เป็นแนวทางของพรรค เนื่องจากเห็นว่าสุ่มเสี่ยงต่อ สส. กรรมการบริหารพรรคและการดำรงอยู่ของพรรค จึงเห็นว่าเรื่องนี้ควรทำให้เกิดความชัดเจนก่อน อีกทั้งมีผู้เสนอจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก็ถือเป็นเรื่องดี
อ่านข่าว
รัฐธรรมนูญ 2560 แก้ได้ หรือ ห้ามแก้?