ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ถูกทอดทิ้ง ? สหรัฐฯ เร่งเจรจากับรัสเซีย ไม่รอยุโรป-ยูเครน

ต่างประเทศ
17 ก.พ. 68
12:39
383
Logo Thai PBS
ถูกทอดทิ้ง ? สหรัฐฯ เร่งเจรจากับรัสเซีย ไม่รอยุโรป-ยูเครน
อ่านให้ฟัง
07:03อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สหรัฐฯ เร่งจบสงครามยูเครน แต่ดูเหมือนจะละเลยบทบาทของยุโรป โดยผู้แทนพิเศษสหรัฐฯ ระบุว่าไม่ต้องการให้ยุโรปเข้ามายุ่งในการเจรจา ทำให้ยุโรปกังวลใจอย่างมาก เนื่องจากสงครามในยูเครนส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของยุโรปโดยตรง

อาจจะพูดได้ว่า ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา นักการทูตในยุโรปน่าจะหายใจกันไม่ทั่วท้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจาก โดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยว่า ได้ต่อสายพูดคุยกับ วลาดิเมียร์ ปูติน เกี่ยวกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน พร้อมทั้งประกาศว่า ทั้งคู่เห็นชอบร่วมกันที่จะให้เริ่มเปิดการเจรจาสันติภาพทันที ก่อนที่จะต่อสายหาผู้นำยูเครนหลังจากคุยกันเสร็จ

ดมิทรี เพสคอฟ โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซีย ให้สัมภาษณ์สื่อทางการรัสเซียว่า การหารือทางโทรศัพท์ระหว่างผู้นำรัสเซียกับสหรัฐฯ สำคัญมาก และส่งสัญญาณอันทรงพลัง ที่ชี้ว่า ตอนนี้ รัสเซียจะพยายามแก้ปัญหาผ่านการเจรจาพูดคุย ซึ่งการหารือดังกล่าวระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสันติภาพ ไม่ใช่สงคราม

นอกจากนี้ โฆษกรัสเซียยังระบุด้วยว่า มาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกจะไม่ขัดขวางการเจรจาระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ และมาตรการดังกล่าวอาจถูกยกเลิกได้เร็วพอ ๆ กับตอนที่ถูกประกาศใช้ก็เป็นได้

การพูดคุยของทรัมป์กับปูติน เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (12 ก.พ.) ถือเป็นครั้งแรกที่ผู้นำสหรัฐฯ พูดคุยกันโดยตรงกับผู้นำรัสเซีย นับตั้งแต่โจ ไบเดน ต่อสายหาปูติน ก่อนหน้าที่รัสเซียจะเปิดฉากบุกโจมตียูเครน เมื่อปี 2022

ขณะที่ในตอนนี้ เริ่มมีกระแสข่าวที่ยังไม่มีการยืนยัน ว่า ทรัมป์อาจเดินทางเยือนรัสเซียในช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งตรงกับวันแห่งชัยชนะ หรือวันที่กองทัพสหภาพโซเวียตเอาชนะนาซี เยอรมัน ได้เมื่อปี 1945 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ระบุว่า จะหารือกับปูตินครั้งแรกที่ซาอุดีอาระเบีย

แม้จะยังไม่รู้ว่า ทรัมป์จะไปเจอปูตินหรือไม่ และถ้าเจอจริง ๆ จะเจอกันที่ไหน

แต่ที่แน่ ๆ คือ ทรัมป์จะส่งทีมเจ้าหน้าที่ระดับสูงไปร่วมโต๊ะหารือกับทีมเจรจารัสเซียที่ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งก็มีทั้งมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศ ไมค์ วอลท์ซ ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ และ สตีฟ วิตคอฟฟ์ ผู้แทนด้านตะวันออกกลาง ซึ่งเพิ่งกลับจากการเยือนกรุงมอสโกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ส่วนยูเครน ปธน.โวโลดีมีร์ เซเลนสกี ระบุว่า ยูเครนไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการเจรจาดังกล่าว แม้เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ จะระบุว่า เชิญยูเครนไปแล้วก็ตาม ซึ่งฟังแบบนี้แล้ว ไม่แปลกใจว่า ทำไมยูเครน หรือแม้กระทั่งชาติยุโรป จะรู้สึกไม่สบายใจต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น โดยนี่ยังไม่นับรวมไปถึงท่าทีของเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลทรัมป์ด้วย

ในวันสุดท้ายของการประชุมความมั่นคงมิวนิกที่เยอรมนีเมื่อวานนี้ (16 ก.พ.) ปธน.ฟินแลนด์ เรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศติดอาวุธให้ยูเครน และยกระดับการกดดันรัสเซียขึ้นสู่ระดับสูงสุด ทั้งผ่านการใช้มาตรการคว่ำบาตรและอายัดทรัพย์สินรัสเซีย เพื่อให้ยูเครนมีแต้มต่อ ก่อนที่จะเริ่มเปิดการเจรจากับรัสเซีย

ท่าทีดังกล่าวมีขึ้น หลังนักการทูตยุโรปและผู้เชี่ยวชาญ มองว่า การหารือระหว่างทรัมป์กับปูติน และคำพูดของ พีท เฮกเซธ รมว.กลาโหม สหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กำลังบั่นทอนอำนาจของยูเครนในการต่อรองกับรัสเซีย ในขณะเดียวกันยุโรปก็ถูกกีดกันออกจากโต๊ะเจรจานี้ด้วย

ด้าน ปธน.ลัตเวีย ย้ำบนเวทีประชุมที่มิวนิกว่า ยุโรปจำเป็นที่จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาสันติภาพในยูเครน หลังจากคีธ เคลลอกก์ ผู้แทนพิเศษสหรัฐฯ ด้านยูเครน ระบุว่า ยุโรปจะไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเจรจาใด ๆ เพื่อยุติสงคราม

โดยเขาหยิบยกกรณีตัวอย่างความล้มเหลวของข้อตกลงกรุงมินสก์ เมื่อปี 2015 ที่มีเยอรมนีและฝรั่งเศสเป็นตัวกลางเจรจา แต่กลับล้มเหลว ซึ่งผู้แทนสหรัฐฯ ระบุว่า สาเหตุเป็นเพราะมีผู้เข้าร่วมการเจรจามากเกินไป แต่ผู้เข้าร่วมเหล่านั้นกลับไม่มีความสามารถในการทำให้กระบวนการสันติภาพเดินหน้าไปได้

สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สร้างแรงกระเพื่อมรุนแรงไปทั่วยุโรป ซึ่งนี่ไม่ใช่แค่ปัญหาสำหรับยูเครนเท่านั้น แต่เป็นเรื่องความมั่นคงของยุโรปทั้งภูมิภาค เนื่องจากนโยบาย America First ของทรัมป์ กำลังทำให้ยุโรปต้องหันมาพึ่งพาตนเอง

แต่คนที่อาจจะมาเป็นกาวใจประสานความสัมพันธ์ข้ามแอตแลนติก อาจจะเป็นคนนี้ ซึ่งก็คือ นายกฯ อังกฤษ เคียร์ สตาร์เมอร์ ซึ่งมีกำหนดเดินทางเยือนทำเนียบขาวในช่วงปลายเดือนนี้

รมว.ต่างประเทศ ฝรั่งเศส ออกมายืนยันว่า แอมานุแอล มาครง ปธน.ฝรั่งเศส จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฉุกเฉินร่วมกับผู้นำชาติยุโรปในกรุงปารีส วันนี้ (17 ก.พ.) เพื่อหารือเกี่ยวกับสงครามในยูเครนและความมั่นคงยุโรป

หลายฝ่าย คาดว่า ผู้นำยุโรปจะใช้โอกาสนี้ในการกำหนดจุดยืนร่วมกัน ก่อนที่สตาร์เมอร์จะเข้าพบกับทรัมป์ เพื่อส่งต่อความเห็นของยุโรป โดยภายหลังการเยือนสหรัฐฯ คาดว่า ผู้นำอังกฤษจะนัดผู้นำยุโรปชาติต่าง ๆ รวมถึงยูเครน เข้าร่วมหารือเพิ่มเติมด้วย

ปัจจุบัน จุดยืนต่อการเจรจาสันติภาพของยุโรปกับสหรัฐฯ สวนทางกันอย่างเห็นได้ชัดเจน เพราะด้านหนึ่งอยากเตรียมความพร้อมให้ยูเครนอยู่ในจุดที่แข็งแกร่ง ก่อนที่จะเปิดการเจรจา แต่เป้าหมายนี้ต้องใช้เวลาและไม่ทันใจผู้นำสหรัฐฯ ที่หมดความอดทนกับสงครามในครั้งนี้ คนที่ตกที่นั่งลำบากมากที่สุดในขณะนี้ หนีไม่พ้น ยูเครน

อ่านข่าวอื่น :

สอท.รับข้อมูลคลาดเคลื่อน ส่วนใหญ่เหยื่อคอลเซนเตอร์ สมัครใจแค่ 2-3 คน

"ภูมิธรรม" ปัดรอยร้าวรัฐบาล หลัง "อนุทิน" ถูกตรวจสอบสนามกอล์ฟเขาใหญ่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง