"ถึงเวลาเสี่ยงดวงของลูกผู้ชาย...ทบ. 2 จับขึ้นมา ใบแดงเต็ม ๆ ปานเข็ม เข้ามาแทงใจอ้าย" เนื้อเพลง "อ้ายรักษาการ เจ้ารักษาใจ" ท่อนหนึ่งที่ร้องโดย อี๊ด ศุภกร สะท้อนให้เห็นบรรยากาศการเกณฑ์ทหารที่กำลังจะกลับมาอีกรอบหนึ่ง ในเดือนเมษายน 2568 ที่กำลังจะมาถึง
ในปีนี้ กองทัพบก ได้ออกประกาศล่าสุด ชี้แจงการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำ การประจำปี 2568 จะทำการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ประจำปี 2568 ตั้งแต่วันที่ 1 - 12 เม.ย. 2568 ยกเว้นวันที่ 6 เม.ย. ซึ่งเป็นวันจักรี จนกว่าการตรวจเลือกฯ จะแล้วเสร็จ
กำหนดให้ชายไทย ผู้ที่เกิดในปี พ.ศ.2547 อายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ และผู้ที่เกิดในปี พ.ศ 2539-2546 อายุ 22-29 ปี ที่ยังไม่เคยเข้ารับการตรวจเลือก หรือผลตรวจเลือกยังไม่แล้วเสร็จ ไปแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่ ณ หน่วยเลือกทหารทั่วประเทศตามวันและเวลาที่กำหนดในหมายเรียกนั้น
หน้าที่ลูกผู้ชายไทย "เสี่ยงดวง- ลุ้นใบดำ"
ธันวา หนุ่มวัย 21 ปี กำลังเรียนระดับชั้นปวส.ที่โรงเรียนเทคนิคแห่งหนึ่ง ใน จ.ฉะเชิงเทรา ไม่ได้สมัครเรียนหลักสูตรนักศึกษาวิชาทหาร (นศท.)ตามหลักสูตรที่กระทรวงกลาโหมกำหนดให้เป็นกำลังพลสำรองของกองทัพไทย ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ. 2503 ภายใต้การควบคุมของหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ( รด.)
เด็กหนุ่ม และเพื่อนอีก 3 คน ไม่อยากทำเรื่องขอผ่อนผัน จึงตัดสินใจยอมเสี่ยงดวง เพื่อรอลุ้นจับ "ใบดำ-ใบแดง" ตามตารางที่ถูกกำหนดไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอใกล้ ๆ บ้าน แม้จะใช้เหตุผลติดภารกิจด้านการศึกษา สามารถขอผ่อนผันได้ จนถึงอายุ 26 ปี แต่อย่างไรก็ต้องกลับมาเกณฑ์ทหารเหมือนเดิม ดังนั้นทางเลือกเดียว คือ "ยืดอก ล้วงไห" แล้วรอคำขานว่า ได้ใบดำ หรือ ทบ.1 ผลัดสอง

ในขณะที่ครอบครัวของพวกเขามีความเห็นแตกต่างกันไป บ้างอยากให้ลูกเป็นทหาร เพื่อหวังต่อยอดให้มีสิทธิได้เข้าสอบเข้าโรงเรียนนายสิบทหารบก อีกครอบครัวพาลูกไปบนบานศาลกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้จับได้ใบแดง และอีกหลายครอบครัวที่ไม่อยากให้ลูกชายเป็นทหาร อาจใช้การวิ่งเต้น ติดสินบนเจ้าหน้าที่ โดยให้ทางการแทง "พิการ" สายตาสั้น ตาบอดสี หรือ มีร่างกายไม่สมประกอบ แต่มีความเสี่ยงสูงที่ทั้งเจ้าหน้าที่และผู้จ่ายส่วยจะถูกดำเนินคดี ซึ่งที่ผ่านไม่พบว่ามีสัสดีคนไหนกล้ากระทำความผิด
อย่างไรก็ตาม กองทัพบกปัจจุบันได้มีการออกประกาศว่า หากมีอาการป่วยด้วย 3 กลุ่มโรคไม่ต้องเกณฑ์ทหาร คือ โรคตุ่มน้ำพอง โรคลําไส้โป่งพองแต่กําเนิด , โรคของเอนไซม์บนเม็ดเลือดแดง ผิดปกติชนิด G-6-PD (Glucose-6-Phosphate Dehydrogenase) โดยผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าวจะถูกกําหนดให้เป็นคนจําพวกที่ 2 และให้คณะกรรมการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองเกินประจํา สามารถตรวจวินิจฉัย และกําหนดให้เป็นจําพวกได้ถูกต้องตามที่หลักเกณฑ์กําหนด

นอกนี้ ยังมีเพิ่มเติมอีก 15 โรคที่เป็นแล้วไม่ต้องเกณฑ์ทหารปี 2568 คือ โรคหรือความผิดปกติของตา , โรคหรือความผิดปกติของหู , โรคของหัวใจและหลอดเลือด , โรคเลือดและอวัยวะสร้างเลือด ,โรคของระบบหายใจ , โรคของระบบปัสสาวะ , โรคหรือความผิดปกติของกระดูก ข้อ และ กล้ามเนื้อ , โรคของต่อมไร้ท่อและภาวะผิดปกติของเมตาบอลิซึม , โรคทางประสาทวิทยา , โรคติดเชื้อ , โรคทางจิตเวช และโรคอื่น ๆ เช่น กะเทย, มะเร็ง, ตับอักเสบเรื้อรัง, ตับแข็ง, คนเผือก, โรคลูปัสอิธิมาโตซัส, กายแข็ง และรูปวิปริตต่าง ๆ
ส่วนผู้ที่สภาพร่างกายปกติ ไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไร สิ่งที่ "ธันวา" และเพื่อน ๆ หนีไม่พ้น คือ ต้องทำหน้าที่ของชายไทย หลังครบกำหนดอายุย่างเข้า 18 ปี (17 ปีบริบูรณ์) เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ทั้งหมดก็ได้ไปแสดงตนเพื่อลงบัญชีทหารกองเกินไว้ที่อำเภอท้องถิ่น ซึ่งเป็นภูมิลำเนาทหารของตนเอง
แม้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พรรคการเมืองทั้งพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทยจะมีความพยายามนำเสนอเป็นนโยบายในช่วงการเลือกตั้ง ให้มีการปฏิรูปกองทัพ เพื่อให้เป็นทหารมืออาชีพ เสนอให้ลดจำนวนนายพล และยกเลิกการเกณฑ์ทหาร แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเบ็ดเสร็จทันที
ลดทหารเกณฑ์ รอมชอม "เลิกเกณฑ์ทหาร"
ข้อเสนอหนึ่งคือ การแก้ไขกฎหมายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร แต่ให้ผู้ประสงค์เข้ารับราชการทหารโดยสมัครใจ แต่พรรคเพื่อไทยในยุครัฐบาล "เศรษฐา ทวีสิน" ก็ยังไม่ได้มีการประกาศยกเลิกการเกณฑ์ทหาร แต่พยายามหาทางรอมชอบโดยการลดจำนวนทหารเกณฑ์ และเปิดโอกาสให้ผู้สนใจสมัครเข้ามาเป็นทหารเกณฑ์ โดยจะได้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เมื่อเข้ามาเป็นทหารกองประจำการ
ในปี 2567 ยุคที่นายสุทิน คลังแสง เป็นรัฐมนตรีว่าการกลาโหม พบว่า กอง ทัพบกต้องการทหารกองเกิน จำนวน 85,000 คนและมีผู้ที่สนใจสมัครก่อนการตรวจเลือก (สมัครระบบออนไลน์) ในขณะนั้นประมาณ 15,000 คน เหลือยอดเรียกเกณฑ์ทหารประมาณ 70,000 คน ถือเป็นการลดจำนวนทหารเกณฑ์ลงในระดับหนึ่ง

ขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงกลาโหม เปิดเผยสถิติการสมัครใจเข้ารับราชการทหารว่า เพิ่มขึ้นทุกปี ตั้งแต่ปี 2564-2567 พบว่า ปี 2564 มีผู้สมัคร 28,572 คน ,ปี 2565 มีผู้สมัคร 29,997 คน, ปี 2566 มีผู้สมัคร 35,617 คน และปี 2567 มีผู้สมัคร 38,160 คน ซึ่งปีนี้ยังคงเปิดรับสมัครออนไลน์ถึงวันที่ 26 ม.ค. 2568 โดยมีโควตารับสมัครกว่า 41,790 คน
"ถามว่า ทหารเกณฑ์ ยังจำเป็นอยู่หรือไม่...จำเป็นมาก เพราะกองทัพจำเป็นต้องใช้กำลังพล ต้องการฝึกฝนกำลังพลไว้ช่วยเหลือประเทศ ยามเกิดภาวะ ฉุกเฉิน เราต้องเตรียมพร้อมตลอด เพราะไม่สามารถบอกได้ว่า จะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นเฉพาะหน้าหรือไม่ การสู้รบ การถือปืนป้องกันชายแดน เอาผู้ที่ไม่ได้ผ่านการฝึกฝนมาไม่ได้" แหล่งข่าวนายทหาร จากกองทัพภาคที่ 1 กล่าว
และย้ำว่า แม้ฝ่ายการเมืองจะรณรงค์ว่า ให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และให้เป็นไปตามความสมัครใจ แต่ข้อเท็จจริงคือ กำลังพลที่มีอยู่ในขณะนี้ไม่เพียงพอกับความต้องการ ในแต่ละปีแม้จะมีผู้สมัครเข้ามาแต่ก็ไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม หากมองอีกด้านหนึ่งการเกณฑ์ทหาร คือ การกระจายความยุติธรรมแล้วให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบประเทศ

ภาพ : ศูนย์การนักศึกษาวิชาทหาร
ภาพ : ศูนย์การนักศึกษาวิชาทหาร
"ถ้าไม่อยากเกณฑ์ทหาร เขาก็เปิดให้มีการเรียนรักษาดินแดน...การฝึกรด.ก็คือ การฝึกระเบียบวินัย ที่สำคัญจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ประเทศจะมีสงคราม หรือไม่มีสงคราม ความขัดแย้งระหว่างประเทศตามแนวชายแดน ทหารไม่ใช้ฝึก 10 ปี แล้วใช้งานในวันเดียว ถึงเวลาที่ต้องการใช้งาน ก็ต้องมีกองหนุน ทุกประเทศทั่วโลกเป็นแบบนี้...จะเห็นได้ว่า หากเพื่อนบ้านเห็นเราอ่อนแอ ก็จะถูกรุกคืบ ตัวอย่างก็มีเห็น ๆ ดังนั้น อย่ามาพูดว่า ทหารมีไว้ทำไม ตอนเกิดปัญหาภัยพิบัติ ทหารไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือหรืออย่างไร" นายทหารคนเดิม กล่าว
ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่ "ทหารเกณฑ์" รับใช้หน่วยและกองทัพอย่างเดียว ทหารใหม่ที่สมัครใจเข้ารับราชการจะได้รับเงินเดือน 11,000 บาท/เดือน พร้อมสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น เบี้ยเลี้ยงสำหรับปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยง เครื่องแต่งกาย แต่กองทัพบกยังเปิดโอกาสให้ทหารเกณฑ์อยู่ระหว่างประจำการ ได้เรียนหนังสือจนจบชั้นมัธยม และมีการฝึกอาชีพ และขณะที่กำลังจะปลดประจำการ สามารถได้ใช้สิทธิสอบเข้าโรงเรียนนายสิบทหารบกได้อีกด้วย

"หากคนไหนหน่วยก้านดี มีแวว ทางหน่วยก็จะแนะนำให้ไปสอบ ปัจจุบันไม่ได้แค่โรงเรียนนายสิบทหารบกอย่างเดียว แต่ทุกเหล่าทัพ ทั้ง กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และรร.นายสิบตำรวจก็เปิดรับที่ผ่านมาจะมีการให้โควต้าทหารที่ปลดจากกองประจำการ ได้เข้ามาสอบแข่งขันด้วย" แหล่งข่าวจากกองทัพภาคที่ 1 กล่าว
ส่วนปัญหาการถูกแดรก การถูกซ่อม และการธำรงวินัยนั้น ที่ผ่านมากองทัพฯได้กำชับให้ทุกหน่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวกับเหล่าทหารเกณฑ์และทหารกองประจำการ และถึงอย่างไร ทหารและกำลังพลก็ยังมีความจำเป็นสำหรับประเทศชาติ
นับจากนี้อีกประมาณ 2 สัปดาห์ ก็จะถึงวันเกณฑ์ทหารของ "ธันวา" และเพื่อน ๆ อีก 3 คน ซึ่งครอบครัวกำลังรอลุ้นใจจดจ่อว่า ลูกหลานของพวกเขาจะจับได้ใบดำ หรือ ใบแดง
ภาพและข้อมูล :บางส่วนจากเพจกองทัพบก
อ่านข่าว
เส้นทางเงิน"ป่วยทิพย์-ทุจริตยา" 2 ขรก.หญิง mastermind ตัวจริง
“แพะ-ถูกทรมาน-อุ้มหาย” บังคับยุติธรรมเยียวยา “ศักดิ์ศรีมนุษย์”