ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“สมุนไพร” ในบัญชียาหลัก “ไม่ใช่เรื่องใหม่”

สังคม
30 เม.ย. 68
13:51
2
Logo Thai PBS
“สมุนไพร” ในบัญชียาหลัก “ไม่ใช่เรื่องใหม่”

การเพิ่มสมุนไพรไทย ในบัญชียาหลักที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันในตอนนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ของวงการสาธารณสุขไทย และไม่ใช่เรื่องใหม่ที่หมอ และคนไข้ไม่รู้ อย่างน้อยที่เราเห็นหมอจ่ายยาให้ เมื่อครั้งเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ยาฟ้าทะลายโจร ก็เคยเป็นพระเอกมาแล้วเหมือนกัน

ยังไม่นับยาที่หมอแผนปัจจุบันแนะนำให้ใช้อยู่บ่อย ๆ เช่น ยาจำพวกแก้ไอ แก้หวัด ยาแก้ท้องเสีย (บางชนิด) เป็นต้น

ไทยพีบีเอสค้นข้อมูลย้อนกลับไป พบว่า กระทรวงสาธารณสุข ผลักดันสมุนไพรเข้าในบัญชียาหลักมาตั้งแต่ปี 2553 หรือประมาณ 15 ปีมาแล้ว

วันที่ 10 มี.ค.2552 นพ.นรา นาควัฒนานุกูล อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก (ในขณะนั้น) กล่าวว่า ในปี 2552 จะเสนอสมุนไพร 5 ตัว เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ ได้แก่ 1.เพชรสังฆาต แก้ริดสีดวงทวาร 2.สหัสธารา แก้ปวดเมื่อย 3.บัวบก (ยาเม็ด) แก้รักษาแผล ช่วยความจำในผู้สูงอายุ 4.เถาวัลย์เปรียง แก้ปวดเมื่อย 5.มะระขี้นก ลดน้ำตาลในเลือด

ซึ่งขณะนั้นในบัญชียาหลักแห่งชาติมีสมุนไพรบรรจุอยู่แล้ว 19 ตัว เช่น ฟ้าทลายโจร พญายอ และขมิ้นชัน เป็นต้น

นอกจากนี้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ยังตั้งเป้าว่า ในแต่ละปีจะต้องมีสมุนไพรเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ 5 ตัว ซึ่งนอกจากสมุนไพร 5 ตัวข้างต้น ที่จะเสนอในปี 2552 แล้ว ยังมีสมุนไพรอีก 5 ตัว ที่อยู่ระหว่างการศึกษา เพื่อเตรียมนำเสนอเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติในปีต่อไป ได้แก่ 1.รางจืด ขับสารพิษ แก้ร้อนใน 2.หญ้าหนวดแมว ขับปัสสาวะ ขับนิ่วในไตขนาดเล็ก 3.ยาธาตุอบเชย แก้อาหารไม่ย่อย 4.ยาตำรับริดสีดวงทวาร และ 5.ยาบำรุงโลหิต

วันที่ 21 ธ.ค.2553 ได้พิจารณาคัดเลือกรายการยาสมุนไพรเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ เพิ่มจากบัญชีเดิม 71 รายการ โดยเป็นยาแผนไทย จำนวน 50 รายการ และยาที่พัฒนาจากสมุนไพร จำนวน 21 รายการ

ต่อมา วันที่ 11 มี.ค.2556 หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน ระบุว่า “สธ.หนุนใช้สมุนไพรรักษา ดัน 15 ชนิดเข้าบัญชียาหลัก” มีเนื้อหาสรุปว่า กระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้า 3 ปี บรรจุสมุนไพรไทย 15 รายการ เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ เผยเล็งวิจัยต่อยอดสรรพคุณ “กวาว เครือขาว-บัวบก-ขมิ้นชัน” ก่อนส่งเสริมให้ใช้เป็นมาตรฐาน

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข (ขณะนั้น) เปิดเผยว่า สธ.มีเป้าหมายนำยาสมุนไพร บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ร้อยละ 10 ในอีก 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2556-2560 ซึ่งปัจจุบัน (2556) ในบัญชียาหลัก มียาสมุนไพร 71 รายการ จากยาทั้งหมด 878 รายการ คิดเป็น ร้อยละ 8.09

นอกจากนี้ ในปี 2558 ตั้งเป้าผลักดัน ให้มีการใช้ยาจากสมุนไพร เป็นมาตรฐานกับการรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น ไอ เจ็บคอ ปวดท้อง เป็นต้น ไม่ใช่ให้เป็นแค่ยาทางเลือกหรือยาสำรองเหมือนในอดีต ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายยาแผนปัจจุบันได้ เพราะทุกวันนี้ประเทศไทยนำเข้ายาแผนปัจจุบันมากถึงร้อยละ 75

ด้าน นพ.สมชัย นิจพานิช อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ ระบุว่า ข้อมูลในปี 2555 ระบุว่า มูลค่าการใช้ยาจากสมุนไพรในโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศอยู่ที่ 363 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.82 ของการใช้ยาทั้งหมด

โดยยาสมุนไพรที่ประชาชนนิยมใช้มากที่สุด 3 อันดับแรก คือ 1.ขมิ้นชัน รักษาอาการของระบบทางเดินอาหาร แน่นท้องจุกเสียด ท้องอืด ท้องเฟ้อ 2.ไพลใช้บรรเทาอาการปวดเมื่อย ลดบวม ฟกช้ำ เคล็ดขัดยอก และ 3.ฟ้าทลายโจรใช้รักษาอาการของระบบทางเดินหายใจ บรรเทาอาการหวัด เจ็บ (หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 13 มี.ค. 2556 (กรอบบ่าย)

ต่อมา วันที่ 23 ธ.ค.2563 กระทรวงสาธารณสุข ผลักดันนำยาจากสมุนไพร ที่มีหลักฐานสนับสนุนเพียงพอ เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ เพิ่มขึ้นอย่างน้อยปีละ 10 รายการ ขณะที่มียาจากสมุนไพร ที่บรรจุในบัญชียาหลักแล้ว 74 รายการ เช่น ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน กระเจี๊ยบแดง ไพล ว่านหางจระเข้ เป็นต้น

วันที่ 14 พ.ค.2564 ราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร โดยเพิ่มรายการบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร
แนบท้ายประกาศฉบับนี้ จำนวน 7 รายการ

วันที่ 4 มิ.ย.2564 ราชกิจจานุเบกษา ฉบับวันที่ 4 มิ.ย.2564 เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2564 โดยได้เพิ่มเติมรายการยาจากสมุนไพร จำนวน 5 รายการ เป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พ.ศ.2564

ประกอบด้วย 1.ยาทำลายพระสุเมรุ (คัมภีร์แพทย์ไทยแผนโบราณ ขุนโสภิตบรรณลักษณ์ เล่ม 2) 2.ยาบรรเทาริดสีดวงทวารหนัก (เภสัชตำรับโรงพยาบาล) 3.ยาสารสกัดผงฟ้าทะลายโจร ที่มี andrographolide ไม่น้อยกว่าร้อยละ 4

4.ยาสารสกัดจากฟ้าทะลายโจร รูปแบบยาแคปซูล และยาเม็ด ใช้กับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีความรุนแรงน้อย เพื่อลดการเกิดโรคที่รุนแรง 5.ยาจากผงฟ้าทะลายโจร รูปแบบยาแคปซูล และยาเม็ด ใช้กับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีความรุนแรงน้อย เพื่อลดการเกิดโรคที่รุนแรง

วันที่ 18 ก.พ.2565 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พ.ศ.2564 โดยให้ยกเลิกประกาศฯ ฉบับเก่า 2 ฉบับ ซึ่งลงวันที่ 31 มี.ค.2564 และ 2 มิ.ย.2564 และให้ใช้รายการยาจากสมุนไพรในบัญชีแนบท้ายประกาศนี้ เป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร ซึ่งรายการยาตามบัญชีแนบท้าย มีด้วยกัน 94 รายการ

วันที่ 10 พ.ค.2566 ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ ด้านสมุนไพร พ.ศ.2566 รวม 29 รายการ

วันที่ 21 พ.ย.2567 เว็บไซต์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดทำตำรามาตรฐานยาสมุนไพรไทย ฉบับเพิ่มเติม พ.ศ.2567 เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการขึ้นทะเบียนตำรับยา ส่งเสริมการส่งออกสมุนไพร

โดยเพิ่มมาตรฐานยาสมุนไพรใหม่ จำนวน 17 มอโนกราฟ ได้แก่ ยาแคปซูลบัวบก ยาชงบัวบก ช่อดอกกัญชงเพศเมีย ขันทองพยาบาท เปลือกต้นข่อย ยาแคปซูลกระชาย ยาชงกระชาย กวาวเครือ กวาวเครือแดง มะขามแขก ยาแคปซูลใบมะขามแขก ยาชงใบมะขามแขก ยาแคปซูลพริกไทยดำ ระย่อม ใบส้มป่อย ผักส้มป่อย ว่านร่อนทอง ในตำรามาตรฐานยาสมุนไพรไทย เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้ประกอบการใช้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ควบคุมคุณภาพยาสมุนไพร เพิ่มการพึ่งพาตนเอง และสนับสนุนการส่งออกสมุนไพร

ถึงวันนี้จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ที่กระทรวงสาธารณสุข จะผลักดันอยู่ตลอดเวลา ที่จะให้สมุนไพรเข้าไปอยู่ในบัญชียาหลัก

อ่านข่าว : เปิดชื่อ "สมุนไพร" ในบัญชียาหลักฯ รักษา 10 กลุ่มโรค

พบตัวแล้ว ทหารถือมีดประชิดช้างป่าเขาใหญ่ - เพื่อนเกลี้ยกล่อมพารักษา

ผู้ว่าการ สตง.เข้าชี้แจง กมธ.ป.ป.ช. ปมก่อสร้างตึก สตง.แห่งใหม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง