ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วันยุติการลงโทษทางร่างกายต่อเด็กสากล หยุดสร้างบาดแผลกาย-ใจเด็ก

ภูมิภาค
30 เม.ย. 68
13:53
4
Logo Thai PBS
วันยุติการลงโทษทางร่างกายต่อเด็กสากล หยุดสร้างบาดแผลกาย-ใจเด็ก
แม้ประเทศไทยจะบังคับใช้ “กฎหมายไม่ตีเด็ก” เป็นประเทศที่ 68 ของโลกจะถือเป็นก้าวสำคัญในการยุติความรุนแรงต่อเด็ก แต่ความท้าทายต่อจากนี้ คือ การยุติวัฒนธรรมการลงโทษเด็ก และ สร้างระบบสนับสนุนที่เป็นรูปธรรม

วันที่ 30 เมษายนของทุกปี เป็นวันยุติการลงโทษทางร่างกายต่อเด็กสากล โดยในปีนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยที่มีการประกาศใช้ “กฎหมายไม่ตีเด็ก”ผ่านพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 25) พ.ศ.2568 ซึ่งห้ามมิให้มีการลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงทุกรูปแบบ และ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา สาระสำคัญ คือ กำหนดให้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง มีสิทธิทำโทษบุตรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน หรือ ปรับพฤติกรรม โดยต้องไม่เป็นการกระทำทารุณกรรม หรือ ทำร้ายด้วยความรุนแรงต่อร่างกายหรือจิตใจ หรือ กระทำโดยมิชอบ

วงจรของ “ความรุนแรง” จากครอบครัวขยายสู่โรงเรียน และ สังคม

ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา ประธานกรรมการมูลนิธิศานติวัฒนธรรม บอกว่ามีงานวิจัย และ การศึกษาต่างๆมากมาย ที่ยืนยันว่าการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก ไม่เฉพาะการเฆี่ยนตี แต่รวมถึงการทำร้ายจิตใจจะมีผลต่อเด็กไปตลอดชีวิต ทำให้เด็กรู้สึกสูญเสียความรู้สึกการมีคุณค่าในตัวเอง สูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเอง ความรู้สึกที่ไม่ดีที่มันทับถมอยู่เรื่อยๆ สะสมไปนานๆ หลายๆปี มีผลต่อการเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ

ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา ประธานกรรมการมูลนิธิศานติวัฒนธรรม

ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา ประธานกรรมการมูลนิธิศานติวัฒนธรรม

ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา ประธานกรรมการมูลนิธิศานติวัฒนธรรม

หลักฐานเหล่านี้ทำให้มีพยายามจะเคลื่อนไหวเพื่อให้ยุติการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากคนรอบตัวที่ทำไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์คิดว่าเป็นแค่เรื่องสนุก เช่น ล้อเลียนเด็ก ด้อยค่าเด็ก แม้ยังไม่ถึงขั้นเฆี่ยนตี แต่ก็ทำให้เด็กเจ็บปวด นานๆเข้าก็อาจจะมีอาการซึมเศร้า วิตกกังวล สงสัยในคุณค่าตัวเอง หรือ อาจจะเป็นสะสมความโกรธ ความก้าวร้าว หรือ ความเกลียดชัง เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นก็จะเริ่มแสดงออกด้วยความรุนแรงต่างๆ เป็นเหมือนกันสืบทอดความรุนแรงต่อไปในสังคม

ปัญหาความรุนแรงในสังคมหากย้อนกลับดูต้นตอ ก็มักจะมาจากการเรียนรู้ในวัยเด็ก ที่เด็กเฝ้าดูผู้ใหญ่ที่อยู่รอบตัวเขา ปฏิบัติต่อเขา เมื่อผู้ใหญ่ใช้ความรุนแรงจนเห็นเป็นปกติ เด็กโตขึ้นมา ก็จะรู้สึกว่าเขาโอเคกับสิ่งเหล่านี้ และ ขยายออกไปสู่การใช้ความรุนแรงในรูปแบบอื่นๆ เช่น การกดขี่ข่มเหงกัน หรือ การบูลลี่ ที่เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ในโรงเรียนไปจนถึงในที่ทำงาน หรือ ในสังคมทั่วไป คนที่มีอำนาจ มีเงิน ก็ข่มเหงคนที่ด้อยกว่า ล้วนมีรากเหง้ามาจากการเรียนรู้ในวัยเด็กทั้งสิ้น

"เลี้ยงลูกไม่ต้องตี" แค่กฎหมายไม่พอ ต้องเปลี่ยนความเชื่อทั้งสังคม

แม้ว่าโลกจะตระหนักถึงผลกระทบร้ายแรงจากการใช้ความรุนแรงต่อเด็กมานานแล้ว แต่ประเทศไทยก็เพิ่งประกาศกฎหมายห้ามลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงเมื่อไม่นานมานี้ โดยเป็นประเทศที่ 68 ของโลก ขณะที่ประเทศแรกอย่างสวีเดนทำมาตั้งแต่เกือบ 40 ปีก่อน และแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว ก็ประกาศไปก่อนเรา

ประธานกรรมการมูลนิธิศานติวัฒนธรรม บอกว่าการบังคับใช้ “กฎหมายไม่ตีเด็ก” เป็นสิ่งที่ดี เพราะกฎหมายที่ชัดเจน เป็นลายลักษณ์อักษร ไม่มีความคลุมเครือ แม้ว่าอาจจะยังไม่มีบทลงโทษ แต่เมื่อเป็นกฎหมายคนก็จะรู้สึกว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ พยายามปฏิบัติตาม แต่การมีกฎหมายอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอ เราต้องให้ความรู้กับสาธารณชนด้วยว่าการเลี้ยงดูเด็กเชิงบวก ไม่ต้องใช้ความรุนแรง มีคุณประโยชน์ยังไง แล้วการใช้ความรุนแรงต่อเด็กทำให้เกิดผลร้ายยังไง

สิ่งที่สำคัญมาก คือ การให้ความรู้กับคนทั่วไป ผู้ดูแลเด็ก พ่อแม่ผู้ปกครอง ครู รวมทั้งตัวเด็กเอง ที่จะต้องมีความรู้และสามารถที่จะยืนยันในสิทธิ หรือ สิ่งที่ถูกต้องของตัวเองได้

ประธานกรรมการมูลนิธิศานติวัฒนธรรมยังให้ความเห็นถึงการแก้ปัญหาการใช้ความรุนแรงกับเด็กของหน่วยงานภาครัฐที่ยังอาจไม่ครอบคลุม อย่างเช่น กระทรวงศึกษาธิการ แม้จะออกระเบียบห้ามเฆี่ยนตีเด็กมานานร่วม 20 ปีแล้ว แต่เราก็ยังเห็นว่าครูก็ยังตีเด็กอยู่เรื่อยๆ แม้ว่าจะน้อยลง แต่ยังไม่หมด ยังมีข่าวเรื่องครูทำร้ายเด็กเกิดขึ้นที่นั่นที่นี่ รวมไปถึงเรื่องการทำร้ายจิตใจซึ่งยังพบได้ค่อนข้างเยอะ เหตุผลก็เพราะว่ากระทรวงศึกษาธิการออกระเบียบมา แต่ไม่ได้ทุ่มเทให้กับเรื่องการให้ความรู้กับครู และ ไม่มีเครื่องมือใหม่ๆ หลังถูกยึดไม้เรียวไป ครูที่ยังติดกับความเชื่อเดิมๆ ก็เลยยังแอบใช้ไม้เรียวอยู่

ขณะเดียวกันเรามีสถานพินิจสำหรับลงโทษเด็ก ควบคุมเด็กทั่วประเทศ แต่ขณะเดียวกันกลับไม่มีศูนย์ฝึกอบรมผู้ปกครอง เพราะส่วนใหญ่เด็กที่ไปเข้าสถานพินิจ ก็เพราะว่าการเลี้ยงดูที่บกพร่อง ทำให้เด็กเติบโตมาด้วยภาวะที่ไม่ปกติ แน่นอนว่าเด็กส่วนหนึ่งก็จะต้องใช้ความรุนแรงต่อไป สร้างปัญหาสังคมต่อไป ถ้าเราได้มีศูนย์อบรมผู้ปกครองอย่างเป็นหลักเป็นฐาน มีงบประมาณรองรับ ทำให้เป็นเหมือนบริการปกติ ของกระทรวงสาธารณสุข หรือ กระทรวงอื่นๆ เราก็จะป้องกันปัญหาสังคมได้ดีขึ้น

ที่ผ่านมา มูลนิธิศานติวัฒนธรรมได้พัฒนา หลักสูตรการเลี้ยงดูเชิงบวก ที่ไม่ใช้ความรุนแรง และมีงานวิจัยรองรับผลลัพธ์จริง ผู้ปกครองหลายพันคนใน 6-7 จังหวัดได้เข้าร่วมอบรม และพบว่าเมื่อลองใช้วิธีเหล่านี้แล้ว พวกเขาสามารถเลี้ยงดูลูกได้โดยไม่ใช้การลงโทษแบบเดิม

ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งมีคณะทำงานในเรื่องการป้องกันความรุนแรง และ การเลี้ยงดูเด็กเชิงบวก ก็แนะนำว่าเราควรจะร่วมมือกันในระดับภูมิภาคกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจริงๆแล้ว เราก็มีเครือข่าย และ เริ่มออกไปแลกเปลี่ยนกัน มีการฝึกอบรมให้กับประเทศเพื่อนบ้าน เราต้องทำสิ่งเหล่านี้ให้เยอะขึ้น จริงๆแล้วในประเทศไทยเรา ได้สร้างชุมชนผู้ปฏิบัติงานด้านการเลี้ยงดูเด็กเชิงบวก มีสมาชิกอยู่หลายร้อยคน มีสัมมนาออนไลน์กันทุกๆ 2 เดือน มีจดหมายข่าว เว็บไซต์แลกเปลี่ยนความรู้กัน ถ้าเราทำเป็นเครือข่ายที่เป็นระดับภูมิภาคอย่างเป็นทางการ สถานการณ์ก็น่าจะดียิ่งขึ้น

อย่าให้การลงโทษเด็กกลายเป็น "วัฒนธรรม"

ผศ.ดร.สมบัติ ยังแสดงความห่วงใย ความรุนแรงกลายเป็นวัฒนธรรม เพราะในสังคมไทย เราเติบโตมากับความเชื่อจำนวนมากที่เรียกว่า “วัฒนธรรม” ซึ่งบางเรื่องเป็นสิ่งดีงาม เช่น ความกตัญญู การเคารพผู้ใหญ่ การรู้จักเกรงใจ แต่ในขณะเดียวกันก็มีอีกหลายพฤติกรรมที่ถูกมองเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่ความจริงแล้ว มันไม่ควรจะเป็น นั้นคือ ความรุนแรงต่อเด็ก

ในอดีต การตีลูกถูกมองว่าเป็นการสั่งสอน “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” ซึ่งสำนวนที่คนท่องจำ และ เชื่อว่าการลงโทษทางกาย คือ การแสดงความรัก แต่ในความเป็นจริงแผลจากไม้อาจจะฝังลึกลงไปในใจของเด็กไปอีกนาน

ที่เราควรจะรู้อย่างยิ่ง ก็คือภัยร้ายของมันจะยาวนานขนาดไหน ลองไปถามใครหลายๆคน ถ้าให้เขานึกย้อนไปในวัยเด็ก มันก็จะมีความทรงจำที่เจ็บปวดเสมอ บางทีอาจจะไม่ใช่เป็นการเฆี่ยนตีอย่างเดียว แต่คำพูดบางคำที่เวลานึกจำนวนเมื่อไหร่ก็ยังเจ็บปวดอยู่ก็เป็นรอยแผลในใจ การให้ความรู้กับครูกับผู้ปกครองในเรื่องพวกนี้ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะว่าเราต้องไม่สร้างรอยแผล ไม่สร้างความทรงจำที่เจ็บปวดให้กับเด็ก ให้มีแต่ความทรงจำที่ดีๆ แล้วเวลาเขาทุกข์ยากลำบาก ความทรงจำเหล่านี้ มาเป็นพลังงานให้เขาจะอยากสู้ต่อ

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง