ห้องสมุด มธ.เปิดรับบริจาค “หนังสืออนุสรณ์งานศพ” บทเรียนความรู้จากผู้ล่วงลับ
ช่วงเวลาสำคัญในชีวิตของ “สมจิตต์ อมรทัต” ที่ได้รับเกียรติจากผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ “ปรีดี พนมยงค์” แนะนำให้ศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ก่อนเข้ารับราชการเป็นครูที่สถาบันแห่งนี้ คือส่วนหนึ่งของความทรงจำตลอด 95 ปี ที่ สินี อมรทัต ผู้เป็นทายาทบันทึกไว้เป็นครั้งสุดท้าย ในหนังสืออนุสรณ์งานศพของมารดา ช่วงชีวิตที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์การเมืองไทย และยังมีแง่มุมให้คติสอนใจเป็นประโยชน์กับคนรุ่นหลัง นับเป็นความภูมิใจของทายาท จึงนำหนังสืออนุสรณ์เล่มนี้มอบให้กับสำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังทราบข่าวการเปิดรับบริจาคหนังสืองานศพจากบุคคลทั่วไป
อย่างไรก็ดี การรวบรวมจัดเก็บหนังสืองานศพของสำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนังสือส่วนหนึ่งยังได้รับมาจากวัดบวรนิเวศวิหาร ที่มีหนังสืองานศพ 24,000 เล่ม ตั้งใจจะจัดเก็บไว้ในรูปแบบไฟล์ดิจิทัล ตอนนี้จึงมีการเริ่มการแสกนหนังสือแต่ละเล่มเก็บไว้แล้ว
ปัจจุบันการจัดเก็บหนังสืองานศพในห้องสมุดส่วนใหญ่ รวบรวมไว้ในประเภทหนังสือทั่วไปและหนังสือหายาก หากแนวคิดของสำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้องการจัดหมวดหมู่หนังสืองานศพโดยเฉพาะ ซึ่งนอกจากการเปิดรับบริจาคจากบุคคลทั่วไปแล้ว ทางหอสมุดยังสืบค้นหนังสืองานศพเล่มใหม่ ทำให้มีรวบรวมหนังสือต้นฉบับไว้กว่า 5000 เล่มในปัจจุบัน
การพิมพ์หนังสืออนุสรณ์แจกในงานศพเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเป็นการจัดพิมพ์หนังสือสวดมนต์อักษรไทยแทนอักษรขอมในใบลาน ก่อนจะแพร่หลายในหมู่เจ้านายชั้นสูงสมัยรัชกาลที่ 6 ที่เริ่มมีการบันทึกประวัติผู้วายชนม์ และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชนุภาพ ทรงนิพนธ์คำอธิบายประกอบ ทั้งยังมีการเพิ่มเติมเนื้อหาด้านประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารไว้ด้วย หนังสืออนุสรณ์งานศพจึงเป็นมากกว่าการแสดงความอาลัย หากยังได้บันทึกกาลเวลาของยุคสมัย ให้คุณค่าต่อผู้มีลมหายใจ