ประชุม 1-2 พ.ย. 2554 … คาดเฟดคงดอกเบี้ย พร้อมดำเนินมาตรการเพิ่มเติมหากจำเป็น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เฟดยังมีความจำเป็นที่จะต้องคงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่ระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง พร้อมรักษาจุดยืนการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมากด้วยการกดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ยังคงมีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจจะพิจารณาออกมาตรการผ่อนคลายสภาพคล่องเพิ่มเติมในระยะถัดไป ในภาวะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีปัจจัยหรืออีกหลายเหตุการณ์ที่รอท้าทายอยู่ข้างหน้า แม้ว่าพัฒนาการทางเศรษฐกิจในระยะหลังอาจจะช่วยผ่อนคลายความกังวลต่อการที่สหรัฐฯ จะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ก็ตาม
ช่วงที่ผ่านมา เครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเริ่มมีสัญญาณเชิงบวกของการฟื้นตัวที่ดีกว่าคาดเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้ความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเผชิญกับภาวะถดถอยอีกครั้งคลายตัวลง ประกอบกับการแก้ปัญหาวิกฤตหนี้ในยุโรปก็เริ่มเห็นพัฒนาการในเชิงบวกมากขึ้น อย่างไรก็ดี หากมองไปในระยะข้างหน้า ยังคงมีอีกหลายเหตุการณ์ทั้งในและต่างประเทศที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวอย่างมั่นคงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะการพิจารณาแผนการลดการขาดดุลการคลังและประเด็นความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางการเมืองของทางการสหรัฐฯ (ล่าสุดข้อเสนอแผนการสร้างงานของประธานาธิบดีโอบามาไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาสูง) อีกทั้งการฟื้นตัวของตลาดแรงงานและตลาดที่อยู่อาศัยที่เป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ต้องอาศัยเวลา นอกจากนี้ การแก้ปัญหาวิกฤตหนี้ในยุโรปที่ยังต้องติดตามอีกหลายประเด็นสำคัญ (ทั้งการปรับลดหนี้กรีซ ความชัดเจนในทางปฏิบัติของการขยายศักยภาพกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (EFSF) แผนการเพิ่มทุนธนาคาร แผนการรัดเข็มขัดการคลัง และความขัดแย้งทางการเมือง) อันทำให้ยากที่จะสามารถยุติลงอย่างเบ็ดเสร็จในเวลารวดเร็ว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด จะยังคงจุดยืนในการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมากต่อไปในการประชุมรอบที่เจ็ดของปีในวันที่ 1-2 พฤศจิกายน 2554 ทั้งการให้คำมั่นว่าจะยืนอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่ระดับต่ำจนถึงกลางปี 2556 รวมถึงการดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณด้วยการขายพันธบัตรระยะสั้นและซื้อพันธบัตรระยะยาวในวงเงินเดียวกันที่ 4 แสนล้านดอลลาร์ฯ (Operation Twist) และการนำเงินที่ได้รับจากการครบกำหนดของตราสารจำนองที่ถืออยู่ไปลงทุนอีก เพื่อให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในเส้นทางของการฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังคงมีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจจะพิจารณาดำเนินมาตรการเพิ่มเติมหากเฟดประเมินว่ามีความจำเป็นหรือพัฒนาการเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามที่คาด
เนื่องจากมติการประชุมเฟดในรอบนี้ น่าจะเป็นที่คาดการณ์และรับรู้แล้ว ดังนั้น ตลาดเงินและตลาดทุนโลกคงจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากปัจจัยนี้โดยลำพัง สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินของทางการไทยนั้น คงจะขึ้นอยู่กับการประเมินน้ำหนักความเสี่ยงหลักโดยเฉพาะความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจในประเทศที่มีมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากผลกระทบของอุทกภัยครั้งรุนแรงที่เกิดขึ้นและยังไม่ยุติลงในขณะนี้ โดยประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงจะติดตามสถานการณ์แวดล้อมรอบด้าน ทั้งผลกระทบและมาตรการเยียวยาจากภาคส่วนต่างๆ และตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมต่อไป