เอแบคโพลล์ชี้ปชช.ห่วงขัดแย้งคนในชาติ-ทุจริตถุงยังชีพกระทบเสถียรภาพรัฐบาล
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่องทัศนคติอันตรายว่าด้วยการยอมรับรัฐบาลทุจริตคอรัปชั่น กับความกังวลของสาธารณชนต่อเสถียรภาพของรัฐบาล จากกรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทั่วไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร น่าน พิษณุโลก เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชลบุรี หนองบัวลำภู มหาสารคาม ชัยภูมิ ศรีสะเกษ อุดรธานี ขอนแก่น สตูล ตรัง และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,176 ครัวเรือน ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 14 –19 พฤศจิกายน 2554 เมื่อสอบถามถึงสาเหตุหรือปัจจัยสำคัญอะไรบ้างที่ประชาชนกังวลว่าจะทำให้รัฐบาลไม่มั่นคง ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.4 ระบุเป็นเรื่องความขัดแย้งแตกแยกของคนในชาติ รองลงมาในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันคือ ร้อยละ 73.3 ระบุเป็นเรื่องข่าวการทุจริตคอรัปชั่นถุงยังชีพ และร้อยละ 73.2 ระบุเป็นเรื่องแนวคิดการตั้งบ่อนคาสิโน ขณะที่ร้อยละ 69.2 ระบุการเลือกปฏิบัติช่วยเหลือผู้ประสบภัย การนำเงินช่วยเหลือแจกจ่ายให้กับกลุ่มฐานเสียงของตนเพียงกลุ่มเดียว และร้อยละ 66.6 ระบุการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนกรณีปัญหาเขาพระวิหารมีอยู่ร้อยละ 55.9 และร้อยละ 33.3 ระบุเป็นเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วม ตามลำดับ
เมื่อทำการวิจัยเชิงคุณภาพสอบถามเชิงลึกถึงกรณีข่าวรัฐบาลชุดปัจจุบันยื่นขออภัยโทษให้นักโทษต่างๆ นั้น พบว่าส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการยื่นขออภัยโทษให้กับนักโทษในเรือนจำที่ประพฤติตนดีจะได้มีโอกาสรับอิสรภาพ และส่วนใหญ่ยังเห็นด้วยกับการยื่นขออภัยโทษในคดีทางการเมือง แต่คดีอาชญากรรมอื่นๆ นั้น ผู้ถูกศึกษาส่วนใหญ่ระบุว่าผู้ที่ถูกศาลตัดสินคดีความถึงที่สุดแล้วควรเข้าสู่กระบวนการรับโทษในเรือนจำเสียก่อน เพื่อรักษาสถาบันหลักของประเทศเอาไว้ แต่ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ ทัศนคติอันตรายต่อการยอมรับได้ถ้ารัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นแต่ทำให้ตนเองได้ประโยชน์ด้วย เปรียบเทียบผลสำรวจระหว่างช่วงเดือนมกราคม กับเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พบว่า แนวโน้มเหมือนเดิมคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.0 ในเดือนมกราคม และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.6 ในเดือนพฤศจิกายน ยังคงยอมรับได้ถ้ารัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นแต่ทำให้ตนเองได้ประโยชน์ด้วย
และเมื่อจำแนกตามช่วงอายุพบว่า ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีสัดส่วนสูงที่สุดคือ ร้อยละ 73.3 ในกลุ่มเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี และร้อยละ 73.7 ในกลุ่มอายุระหว่าง 20 – 29 ปี ที่มีทัศนคติอันตรายต่อการยอมรับรัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นแต่ขอให้ตนเองได้ประโยชน์ด้วย โดยผู้ตอบแบบสอบถามให้เหตุผลว่า ผู้ใหญ่ในสังคมหลายคนได้ดีมีหน้ามีตา ร่ำรวยมากมาย ก็มาจากการต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะ มีอำนาจทางการเมืองก็รับเงินซื้อขายตำแหน่ง จะก้าวหน้าได้เลื่อนชั้นยศเลื่อนตำแหน่งก็ต้องจ่ายเงินหรือเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ให้ผู้บังคับบัญชา และจะทำธุรกิจทำเลทองก็ต้องจ่ายให้เจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น นอกจากนี้ เมื่อจำแนกตามอาชีพ พบว่ากลุ่มนักเรียนนักศึกษาน่าเป็นห่วงที่สุด รองลงมาคือกลุ่มพนักงานบริษัทเอกชน และค้าขายส่วนตัว โดยมีสัดส่วนร้อยละ 72.8 ร้อยละ 68.1 และร้อยละ 64.7 ตามลำดับ ที่ยอมรับได้ถ้ารัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นแต่ขอให้ตนเองได้ประโยชน์ด้วย
ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้อาจยกคำโบราณมากล่าวให้เข้าใจสถานการณ์การเมืองและสังคมไทยว่ากำลังอยู่ในสภาวะ “ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก” เพราะในขณะที่รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำในสถานการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมและชาวบ้านจำนวนมากหลายจังหวัดของประเทศกำลังเป็นทุกข์เดือดร้อนจากภัยพิบัติดังกล่าว ก็มีเรื่องราวความขัดแย้งแตกแยกของคนในชาติซ้ำเติมสังคมไทยและความเจ็บปวดของสาธารณชนเข้าไปอีก จนอาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลสามารถอยู่ได้ถึงแม้จะมีข่าวบริหารจัดการภัยพิบัติน้ำท่วมล้มเหลว แต่ถ้าคนไทยแตกแยกรุนแรงย่อมจะส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลจนอาจอายุสั้นกว่าที่ควรจะเป็น โดยมีปัจจัยเร่งที่สำคัญคือข่าวทุจริตถุงยังชีพผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมและข่าวอื่นๆ ที่แยกประชาชนออกจากกันเป็นสองฝ่ายสามฝ่าย
ดร.นพดล กล่าวต่อว่า นี่คือต้นเหตุของ “ความหายนะ” ของรัฐบาล ประชาชนและประเทศไทย โดยเฉพาะทัศนคติอันตรายในเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นที่ดูเหมือนว่า การรณรงค์ต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นหลายโครงการจะเป็นเพียงแค่กระแสข่าวใหญ่โตและการรณรงค์ในสื่อแล้วก็ไม่มีอะไรที่เข้มข้น ไม่จริงจังไม่ต่อเนื่อง วิญญาณของบรรพบุรุษผู้ต่อต้านการโกงทุกรูปแบบคงอยู่ไม่เป็นสุข เพราะหน่วยงานของรัฐอาจตกอยู่ภายใต้อาณัติการบังคับบัญชาของฝ่ายการเมืองที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอเนื่องจาก “คุณภาพของคน” ที่ถูกจัดวางในหน่วยงานแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นทุกระดับชั้นยังไม่สามารถทำงานได้ตามอุดมการณ์ที่มุ่งมั่นไว้ และกลุ่มประชาชนอาจอ่อนแอเกินไปที่จะต่อต้านการโกงทุกรูปแบบได้
“ผลพวงของภัยพิบัติน้ำท่วมอาจทำให้ประชาชนจำนวนมากอยู่ในสภาพเงินขาดมือ คนยากจนเพิ่มมากขึ้น และเมื่อราษฎรประสบทุกข์ยากเดือดร้อนอย่างหนักขนาดนี้ก็มักจะต้องฉวยโอกาสหรือคว้าอะไรที่จะทำให้อยู่รอดได้เอาไว้ก่อน ทางออกคือ ผู้มีอำนาจ ผู้ใหญ่ในสังคมและประชาชนทั่วไปที่มีจิตอาสาต้องแสดงตนเป็นตัวอย่างให้สาธารณชนเห็นประจักษ์ในคุณธรรมสี่ประการ ได้แก่ ความรักความสามัคคีช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ความเสียสละ ความกตัญญูต่อแผ่นดิน และความซื่อสัตย์สุจริต โดยเริ่มตั้งแต่ในครอบครัว ชุมชน และออกมาปรากฏตัวต่อสังคมในวงกว้าง เพื่อประเทศชาติและประชาชนจะได้รับการพัฒนาก้าวต่อไปข้างหน้าได้ไม่ใช่เพื่อคนกลุ่มเดียวแต่เพื่อความสงบสุขของคนทั้งประเทศ” ดร.นพดล กล่าว
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่าตัวอย่างร้อยละ 52.7 เป็นหญิง ร้อยละ 47.3 เป็นชาย ตัวอย่างร้อยละ 3.7 อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 20.2 อายุระหว่าง 20 – 29 ปี ร้อยละ 20.0 อายุระหว่าง 30 – 39 ปี ร้อยละ 20.6 อายุระหว่าง 40 – 49 ปี และร้อยละ 35.5 อายุ 50 ขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 63.9 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 30.4 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 5.7 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 32.7 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 30.2 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 9.7 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 8.7 ระบุอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 8.5 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 6.4 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ในขณะที่ร้อยละ 3.8 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ