สสว.เสนอรัฐบาลช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. รายงานว่ามีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้จำนวน 557,600 ราย ครึ่งหนึ่งเป็นภาคการค้าและซ่อมบำรุง และกว่า 300,000 รายเป็นผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพฯ ขณะที่ความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อมคิดเป็นมูลค่า 71,000 ล้านบาท ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานกว่า 2,300,000 คน ทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีไตรมาส 4 ปีนี้ลดลงร้อยละ 1.5 และทั้งปีเหลือเพียงร้อยละ 1.8 - 2.0 จากที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 4 - 4.2
ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการ สสว. กล่าวว่าได้เสนอแนวทางการช่วยเหลือจากรัฐบาล 3 ด้าน คือด้านการเงินจะเป็นการขอสินเชื่อใหม่ และชดเชยอัตราดอกเบี้ย ด้านการสร้างผู้ประกอบการโดยขอให้สนับสนุนธุรกิจแฟรนด์ไชส์ และการเริ่มต้นธุรกิจครบวงจร และด้านพลิกฟื้นธุรกิจโดยมีโครงการคลินิกอุตสาหกรรมเคลื่อนที่เร็ว และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อรองรับภัยพิบัติในอนาคต
สำหรับที่จีดีพีของเอสเอ็มอีปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.8-4.2 ขณะที่นายมานะผล ภู่สมบุญ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าโรงงานอุตสาหกรรมทั้งในและนอกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 8 จังหวัด ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ครั้งนี้ 9,159 โรงงาน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 474,700 ล้านบาท ส่งผลให้อุตสาหกรรมหลักของไทยต้องชะลอตัวช่วงไตรมาสแรกปีหน้า โดยเฉพาะกลุ่มพลาสติก อาหาร เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็คทรอนิคส์และคอมพิวเตอร์
สำหรับภาคท่องเที่ยวนางพรทิพย์ หิรัญเกตุ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่าช่วงอุทกภัย ลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่จะเข้าประชุมงานสัมมนาระดับชาติในเขตกรุงเทพ ได้ย้ายไปจัดที่ประเทศเพื่อนบ้านแทน ทำให้เดือนที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงร้อยละ 30 ขณะที่จีนและรัสเซียลดลงร้อยละ 50 อาจมีผลให้นักท่องเที่ยวทั้งปีลดลงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และต้องสูญเสียโอกาสทางธุรกิจกว่า 50,000 ล้านบาท