รายงานพิเศษแผ่นดินทอง(คำ)ของใคร? ตอน1
ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา มีประชาชนรวมกลุ่มแสดงปฏิกิริยาต่อนโยบายสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ เช่น การล่ารายชื่อของประชาชน 20,000 รายชื่อที่ไม่เห็นด้วยกับร่างนโยบายดังกล่าว และส่งต่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กิจกรรมการปั่นจักรยานรณรงค์ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นต่อทางเลือกการพัฒนาบ้านเกิดของตนเองที่ อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก
ขณะที่การเสียชีวิตของนายสมคิด ธรรมพเวช ชาวบ้าน ต.วังโพรง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก และอดีตพนักงานเหมืองแร่ชาตรี จ.พิจิตร เมื่อวันที่ 10 ก.ย.2558 กลายเป็นประเด็นที่ถูกนำมาเรียกร้องให้เกิดการทบทวนร่างนโยบายนี้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าสาเหตุการเสียชีวิตของนายสมคิดจะเกี่ยวข้องกับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่หรือไม่ ส่วนประชาชนและพนักงาน จ.พิจิตร ที่สนับสนุนกิจการเหมืองแร่ ก็ได้รวมตัวทำกิจกรรมเช่นเดียวกัน
สำหรับนโยบายดังกล่าว เริ่มต้นเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติให้ชะลอการออกอาชญาบัตรสำรวจแหล่งแร่ทองคำ เพื่อให้มีการศึกษาข้อมูลด้านเศรษฐกิจ สังคมสิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุยชน ก่อนการตัดสินใจดำเนินโครงการ ต่อมาปี 2554 กระทรวงอุตสาหกรรม ออกประกาศนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ พร้อมจัดทำแผนการพัฒนาแหล่งแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากแร่ทองคำ 4 ด้าน ได้แก่ การนำเสนอนโยบายให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา การเร่งพิจาณาคำขออาชญาบัตรพิเศษและประทานบัตรที่ค้างไว้ การเปิดประมูลในพื้นที่ที่รัฐเป็นผู้ลงทุนสำรวจ และการเพิ่มมูลค่าเพิ่มด้วยการทำโลหะทองคำบริสุทธิ์ หากนโยบายนี้ผ่านขั้นตอนประชาพิจารณ์ ก็จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
ข้อมูลจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า มีคำขออาชบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ ค้างอยู่ 177 แปลง ในพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ 685,426 ไร่ พิษณุโลก 144,981 ไร่ พิจิตร 257,341 ไร่ นครสวรรค์ 46,840 ไร่ ลพบุรี 145,289 ไร่ สระบุรี 65,024 ไร่ ระยอง 131,270 ไร่ จันทบุรี 100,262 ไร่ สระแก้ว 18,250 ไร่ สุราษฎร์ธานี 19,506 ไร่ และสตูล 4,315 ไร่