ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ผาด พาสิกรณ์" ทายาทพนมเทียน กับตัวตนบนเส้นทางน้ำหมึก

Logo Thai PBS
"ผาด พาสิกรณ์" ทายาทพนมเทียน กับตัวตนบนเส้นทางน้ำหมึก

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นทายาทนักเขียนชั้นครู พนมเทียน หากวันนี้เส้นทางของ ผาด พาสิกรณ์ อดีตนักโฆษณา ที่หันมาเอาดีด้านวรรณกรรมด้วยงานเขียนที่กระทบใจคนเมือง ก็ทำให้เขาสามารถพิสูจน์ตัวเองจนเป็นที่ยอมรับ ติดตามในรายงานท่องโลกอักษร

"บางทีคนเราอาจเกิดมา ใช่เพื่อหาประโยชน์อันใด หากเพื่อระเลียดเล่นอยู่ในพรายเวลาอันหมดจดเหล่านั้น" สำนวนภาษาที่ลึกซึ้งด้วยห้วงอารมณ์ความรัก ความคิดถึง ในนิยาย "พริ้วไปในพรายเวลา" เรื่องราวของมาราดา หญิงสาวผู้หวนนึกถึงคนรักเก่าอีกครั้งเมื่อได้พบกับชายหนุ่มปริศนา โดยไม่รู้ว่าทั้งคู่คือพ่อลูกกัน ส่งให้งานเขียนที่ "วิษณุฉัตร วิเศษสุวรรณภูมิ" เจ้าของนามปากกา "ผาด พาสิกรณ์" ร่างโครงเรื่องต้นฉบับภาษาอังกฤษไว้ถึง 6 บท ภายในคืนเดียวเมื่อ 20 ปีก่อน คว้ารางวัลนวนิยายยอดเยี่ยมเซเว่นบุ๊ค อวอร์ดในปีนี้ (2558)

การบอกเล่าประเด็นความเหงาของชีวิตคนเมืองผ่านตัวละครสองวัฒนธรรม ยังเป็นเอกลักษณ์ที่นักเขียนหนุ่มได้มาจากประสบการณ์ทำงานด้านโฆษณาในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นที่มาของผลงานสร้างชื่ออย่าง "เสือ เพลิน กรง"

โดยจุดเริ่มต้นที่ทำให้วิษณุฉัตรเข้าสู่วงการขีดเขียน คือโคลงกลอนลายมือของคุณพนมเทียนผู้เป็นบิดาบนกระดาษเก่าอายุกว่า 30 ปี ที่สอนลูกชายเขียนหนังสือ

แม้เป็นบุตรชายของศิลปินแห่งชาติ อย่างพนมเทียน หากเมื่อ ผาด พาสิกรณ์ เบนเข็มสู่ทางวรรณกรรมเมื่อ 11 ปีก่อน ก็ยืนหยัดในแวดวงน้ำหมึกด้วยตัวเอง ผลิตผลงานเรื่องสั้น นิยาย และงานแปล ถึงจะมีอุปสรรคด้านการใช้ภาษาเพราะอยู่ต่างประเทศมานาน หากการเลือกใช้ถ้อยคำเข้าใจง่าย กลับเป็นจุดเด่นที่สอดคล้องกับความต้องการให้งานวรรณกรรมเข้าถึงคนในวงกว้าง เป็นเสน่ห์ในงานของ ผาด พาสิกรณ์ ที่เลือกเส้นทางตามรอยนักเขียนรุ่นพ่อ

ข้อจำกัดวงการหนังสือที่พิมพ์งานวรรณกรรมน้อยลงเพราะเชื่อว่าขายได้ยากขึ้น ก็ทำให้นักเขียนหนุ่มก่อตั้งสำนักพิมพ์ คเณศบุรี สำหรับเผยแพร่ผลงานตัวเองและงานเขียนของผู้เป็นพ่อ โดยหลีกเลี่ยงการใช้กลยุทธ์การตลาด เพราะมองว่าวรรณกรรมมีคุณค่าลึกซึ้งในตัวเอง เกินกว่าจะถูกสร้างมูลค่าผ่านช่องทางธุรกิจ
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง