คาดอีก 10 ปีข้างหน้ารัฐใช้งบดูแลผู้สูงอายุ 8.7 แสนล้านบาท
งานสัมมนากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเรื่อง "เงินใช้หลังเกษียณ : ความรับผิดชอบของใคร ทำอย่างไรให้พอเพียง" นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการคณะกรรมการ กบข. กล่าวว่า ระบบบำเหน็จบำนาญของประเทศไทยยังไม่ครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยเฉพาะแรงงานในภาคเอกชนและแรงงานนอกระบบ แม้ว่าบางจุดจะมีสวัสดิการอยู่แล้ว เช่น ประกันสังคม แต่จำนวนเงินที่ได้ไม่เพียงพอ ดังนั้นประเทศไทยควรมีหน่วยงานกลางทำหน้าที่กำกับและพัฒนาระบบหลักประกันการเงินหลังเกษียณของคนไทย โดยเชื่อมโยงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวกับการเงินหลังเกษียณไว้ด้วยกัน
รศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา นักวิชาการด้านประชากรศาสตร์ กล่าวว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยมีระบบบำเหน็จบำนาญรวมกัน 11 ระบบ แต่เป็นระบบแยกส่วนกัน ทำให้การตัดสินใจในเชิงนโยบายไม่เป็นระบบ ดังนั้นจึงเห็นควรให้มีกลไกที่ทำให้ระบบต่างๆคุยกัน คือการตั้งคณะกรรมการนโยบายบำนาญแห่งชาติที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึง ภาระงบประมาณในการดูแลผู้เกษียณอายุและดูแลคนชรา ล่าสุดตกปีละ 300,000 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ2 ของจีดีพี และประมาณการว่าอีก 10 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 8.7 แสนล้านบาท หรือร้อยละ3
อย่างไรก็ตาม ภาระที่เพิ่มขึ้นไม่มีปัญหากับการเงินการคลัง เพราะมูลค่าทางเศรษฐกิจจะขยายตัวตามและภาระที่ดูแลผ่านระบบประกันต่างๆ ช่วยลดภาระการคลัง ซึ่งจะต้องดึงประชาชนให้เข้าสู่ระบบประกันชราภาพ ทั้งภาคบังคับและสมัครใจให้มากที่สุด เพื่อลดภาระปลายทางของงบประมาณ
ปัจจุบันรัฐบาลมีภาระจ่ายดูแลทั้งระบบบำนาญข้าราชการ 2.2 ล้านคน คิดเป็นภาระงบประมาณถึงร้อยละ60 เบี้ยคนชรา 7.7 ล้านคน คิดเป็นภาระงบประมาณร้อยละ 20 ภาระส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 20 เป็นการจ่ายสมทบให้กองทุนประกันสังคมและกองทุนต่างๆ