นายปีติพงศ์ยืนยันด้วยว่า กรณีอียูยื่นใบเหลืองยังไม่กระทบอุตสาหกรรมประมงไทยในขณะนี้
คณะกรรมาธิการยุโรปประกาศการตัดสินใจให้ใบเหลืองประเทศไทยเมื่อวานนี้ (21 เม.ย.) ให้เหตุผลว่าจากการส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบการทำประมงในประเทศไทยเมื่อเดือนตุลาคม 2557 พบว่า ประเทศไทยดำเนินการยังไม่เพียงพอในการป้องกัน ขจัด และยับยั้งการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ IUU Fishing หลังจากคณะกรรมาธิการยุโรปเผยแพร่ประกาศดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศได้ออกแถลงการณ์แสดงความผิดหวังและยืนยันว่าไทยได้มุ่งมั่นแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเต็มที่ในช่วงที่ผ่านมา
ขณะที่นายปีติพงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งดูแลกรมประมงที่เป็นหน่วยงานหลักในการแก้ปัญหา IUU กล่าววันนี้ว่า กระทรวงฯ จะเร่งรัดดำเนินการตามแผนที่ทางอียูได้ให้คำแนะนำมาเกี่ยวกับการป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย เป็นสิ่งที่กระทรวงเกษตรฯ ยังคงต้องเร่งรัดดำเนินการอย่างต่อเนื่องให้เกิดความเข้มข้น คือ
1.การเร่งรัดแก้ไขกฎหมายประมงให้สอดคล้องกับหลักปฏิบัติสากล ซึ่งในช่วงที่การปรับปรุง พ.ร.บ.ประมง พ.ศ.2490 ที่ได้ผ่านสภาแล้วอยู่ในระหว่างทรงลงพระปรมาภิไธย ยังไม่มีผลบังคับใช้ ภายใน 1 สัปดาห์กระทรวงเกษตรฯ จะเสนอ คสช.พิจารณาออกเป็นพระราชกำหนด หรือมาตรา 44 มาบังคับใช้เพื่ออุดช่องว่างทางกฎหมายก่อน โดยบทลงโทษจะยังคงยึดหลักตามกฎหมายประมงฉบับไปเก่าพลางก่อน ซึ่งน่าจะมีความชัดเจนก่อนที่คณะอียูจะเข้ามาติดตามความคืบหน้าในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้
2. การปรับปรุงแผนระดับชาติในการป้องกัน ขจัด และยับยั้งการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ NPOA-IUU พ.ศ.2558 – 2562 ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการ ชาวประมงและแพปลา โดยเร็วๆ นี้อธิบดีกรมประมงจะประชุมหารือร่วมกับชาวประมงด้วย
3. การติดตั้งอุปกรณ์ติดตามตำแหน่งเรือ หรือ VMS และปรับปรุงระบบตรวจสอบย้อนกลับในสายการผลิตสินค้าประมง หรือ Traceability
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อแนะนำใน 3 มาตรการหลักของอียูนั้น ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯโดยกรมประมง ได้ดำเนินการในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย 6 กิจกรรม ได้แก่
1. การจดทะเบียนเรือประมงและออกใบอนุญาตทำการประมง: จดทะเบียนเรือประมงเพิ่มเติมจำนวน 4,243 ลำ และออกใบอนุญาตทำการประมง จำนวน 12,455 ลำ
2. การควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมงกรมประมง: จัดตั้งศูนย์บัญชาการควบคุมเฝ้าระวังการทำประมง (MCS) ที่ส่วนกลาง และในภูมิภาค จำนวน 18 ศูนย์ เพิ่มชั่วโมงในการปฏิบัติงานควบคุมเฝ้าระวังการทำประมงให้เข้มงวดมากขึ้น และจัดตั้งศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกของเรือประมง (Portin - Portout) จำนวน 26 ศูนย์ เพื่อรับแจ้งและตรวจสอบเรือประมงขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไปที่เข้าและออกจากท่าเทียบเรือ
3. การจัดทำระบบติดตามตำแหน่งเรือ (VMS): ขณะนี้มีระเบียบข้อบังคับให้เรือประมงขนาดตั้งแต่ 60 ตันกรอสขึ้นไปติดตั้ง VMSส่วนเรือประมงขนาด 30-60 ตันกรอสคาดว่าจะประกาศให้ติดตั้งVMS ในภายหลังเมื่อ พ.ร.บ. การประมง ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้
4. การปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability): กรมประมงได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบย้อนกลับตลอดสายการผลิตจากเรือประมง แพปลา โรงงานแปรรูป และผู้ส่งออก ให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับโดยการอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการประมง และผู้ควบคุมเรือประมง ในส่วนของเจ้าหน้าที่กรมประมงได้มีการฝึกอบรมการดำเนินงานตามมาตรการรัฐเจ้าของท่า (Port State Measures) และเน้นให้ความสำคัญกับด่านตรวจสัตว์น้ำที่มีเรือประมงต่างชาติเข้าเทียบท่าขนถ่ายสัตว์น้ำจำนวน 7 แห่ง ใน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี สมุทรสาคร สงขลา ระนอง และภูเก็ต
5. การปรับปรุงพระราชบัญญัติการประมงและกฎหมายลำดับรอง: ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ. การประมง ได้ผ่านการประชุมพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคม 2558นอกจากนี้ยังได้ร่างกฎหมายลำดับรองรวมทั้งสิ้นประมาณ 70 ฉบับโดยเฉพาะกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมง IUU จำนวน 11 ฉบับ
6. การจัดทำแผนระดับชาติในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (NPOA – IUU) กรมประมงได้ปรับปรุงร่าง NPOA-IUU ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยได้ร่างสุดท้ายแล้ว คาดว่าจะได้ฉบับสมบูรณ์ภายในเดือนเมษายนนี้
“การประกาศให้ใบเหลืองกับประเทศไทยในครั้งนี้ ยังไม่มีสัญญาณใดๆ ที่แสดงถึงผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าประมงแต่อย่างใด แต่กระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจจะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมายตามข้อแนะนำของ EU เป็นเวลา 6 เดือน หลังจากนั้น EU จะประเมินผลอีกครั้งหนึ่งในช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งหากประเทศไทยดำเนินการอย่างเข้มงวดในการป้องกันการทำประมง IUU มีผลสำเร็จเป็นรูปธรรม EU ก็จะประกาศยกเลิกใบเหลือง หรือถ้ามีความพยายามในการแก้ไขปัญหา แต่ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ EU อาจประกาศการให้ใบเหลืองต่อไปอีก 6 เดือนแต่ถ้าหากว่าประเทศไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหาตามที่ EU เสนอให้ปรับปรุง รวมทั้งไม่แสดงท่าทีในการตั้งใจจะแก้ไขการประมงIUUEU ก็จะประกาศให้ใบแดง ซึ่งหมายถึงประเทศไทยจะไม่สามารถส่งออกสินค้าประมงที่ใช้วัตถุดิบจากการจับจากทะเลไปยังสหภาพยุโรป ที่มีมูลค่าประมาณ 3 หมื่นล้านบาท/ปี แต่ก็เชื่อมั่นว่าทั้ง 3 มาตรการหลักที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจะทำให้ไทยสามารถปลดล็อกใบเหลืองจากอียูได้” นายปีติพงศ์ กล่าว
ด้านนายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประกาศของอียูในครั้งนี้ได้มีการปลดล็อกประเทศเกาหลี และฟิลิปปินส์ ซึ่งเกาหลีได้ใบเหลืองเป็นระยะเวลา 2 ปี ขณะนี้ฟิลิปปินส์ได้ใบเหลืองเป็นระยะเวลา 11 เดือน ซึ่งจะเห็นว่าปัจจัยสำคัญที่ทั้งสองประเทศได้ถูกประกาศยกเลิกให้ใบเหลืองเนื่องจากการปรับปรุงกฎหมายที่สามารถป้องกัน และควบคุมการทำประมงผิดกฎหมายได้ ดังนั้น ในส่วนมาตรการที่ไทยกำลังดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในครั้งนี้ ก็น่าจะทำให้อียูพิจารณายกเลิกใบเหลืองของไทย