ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รัสเซียเตรียมคว่ำบาตรตุรกีแค่ปาหี่เรียกคะแนนนิยม ปชช.-พบมีผลประโยชน์ร่วมด้านพลังงานมหาศาล

ต่างประเทศ
26 พ.ย. 58
16:08
613
Logo Thai PBS
รัสเซียเตรียมคว่ำบาตรตุรกีแค่ปาหี่เรียกคะแนนนิยม ปชช.-พบมีผลประโยชน์ร่วมด้านพลังงานมหาศาล

รัสเซียเตรียมใช้มาตรการทางเศรษฐกิจและทหารกดดันตุรกี หลังเหตุกองทัพตุรกียิงเครื่องบินขับไล่ของรัสเซียตกเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2558 ด้านกองทัพตุรกีเผยแพร่เทปบันทึกหลักฐานแจ้งเตือนนักบินรัสเซีย 10 ครั้ง ก่อนยิงตามกฎความมั่นคง ขณะที่การวิเคราะห์การเกินสงครามของ 2 ประเทศ พบการทะเลาะเป็นแค่ปาหี่เรียกคะแนนนิยมจากประชาชน ชี้มีผลประโยชน์ร่วมทางด้านพลังงานมูลค่ามหาศาล

จากกรณี กองทัพของประเทศตุรกียิงเครื่องบินขับไล่ของกองทัพรัสเซียตก บริเวณพรมแดนตุรกีที่ติดกับประเทศซีเรีย ขณะทำการปราบปรามกลุ่มไอเอสเมื่อเร็ว ๆ นี้

วันนี้ (26 พ.ย. 2558) สำนักนักข่าวต่างประเทศรายงานความคืบหน้าล่าสุดว่า กองทัพตุรกีได้เผยแพร่หลักฐานเป็นเสียงจากเทปบันทึกของกองทัพอากาศยาว 1.40 นาที ยืนยันว่าทางกองทัพได้เตือนเครื่องบินขับไล่ของรัสเซียที่บินเข้าในน่านฟ้าของตุรกีถึง 10 ครั้ง ในระยะเวลา 5 นาที โดยข้อความระบุว่า นี่คือกองทัพอากาศตุรกี คุณกำลังเข้าสู่น่านฟ้าตุรกี ขอให้เปลี่ยนทิศทางบินไปทางใต้ทันที แต่ไม่มีการตอบกลับ ดังนั้น กองทัพตุรกีต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่วางไว้ นอกจากนี้ ขณะตัดสินใจยิงเครื่องบินที่รุกล้ำน่านฟ้า กองทัพตุรกีไม่ทราบว่าเครื่องบินลำดังกล่าวเป็นของรัสเซีย

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ข้อมูลดังกล่าวขัดแย้งกับสัมภาษณ์ของ น.อ.คอนสแตนติน มูรัคติน นักบินรัสเซียที่รอดชีวิตจากเครื่องบินถูกยิงตกที่ ซึ่งเขาระบุว่าไม่ได้รับการแจ้งเตือนหรือติดต่อใด ๆ นอกจากนี้เครื่องบินของรัสเซียไม่ได้รุกล้ำน่านฟ้าของตุรกี

นายอเล็กซานเดอร์ คาชเชฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรรัสเซีย กล่าวว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว สำนักงานความปลอดภัยด้านอาหารของรัสเซียจะเพิ่มการตรวจสอบผลิตภัณฑ์การเกษตรและอาหารที่นำเข้าจากตุรกี รวมถึงสินค้าแถบชายแดน และแหล่งผลิตในตุรกี

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานด้วยว่า รัฐบาลรัสเซียได้แจ้งเตือนพลเมืองให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปตุรกีเพื่อความปลอดภัย และสั่งให้แต่ละกระทรวง รายงานโครงการต่างที่เกี่ยวข้องกับตุรกี เพื่อรัฐบาลจะตัดสินใจดำเนินมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อตุรกี นอกจากนี้ เรียกร้องให้สายการบินของรัสเซียระงับเที่ยวบินไปยังตุรกี

นายเซอร์กีร์ ชอยกู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรัสเซีย เผยว่า ทางกองทัพเตรียมติดตั้งระบบยิงขีปนาวุธ เอส 400 ซึ่งเป็นระบบที่ทันสมัยที่สุด ในฐานทัพอากาศของรัสเซียที่เมืองลาตาเกีย ประเทศซีเรีย ซึ่งขีปนาวุธดังกล่าวมีพิสัยทำการ 250 กิโลเมตร ในขณะที่ชายแดนตุรกีอยู่ห่างจากจุดที่ติดตั้งระบบขีปนาวุธไม่ถึง 45 กิโลเมตร

ด้านผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเผชิญหน้าทางทหารระหว่างตุรกีกับรัสเซีย สิ่งหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ คือทั้งสองประเทศต่างพึ่งพาและมีผลประโยชน์ด้านพลังงานร่วมกันเนื่องจากขณะนี้ ประเทศตุรกีกลายเป็นหุ้นส่วนสำคัญที่สุดของรัสเซีย ในโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ “เซาธ์ สตรีม” มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากเดิมรัสเซียต้องวางท่อส่งข้ามทะเลดำไปยังประเทศบัลแกเรีย เพื่อขายให้กับหลายประเทศในยุโรป

แต่ช่วงต้นปี 2558 สหภาพยุโรป (อียู) ได้คว่ำบาตรรัสเซีย เพราะเข้ายึดครองแคว้นไครเมียของยูเครน และให้การสนับสนุนกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนที่อยู่ทางภาคตะวันออกของยูเครน ขณะที่รัฐบาลบัลแกเรียถูกอียูกดดัน ไม่ให้ออกใบอนุญาตแก่ประเทศรัสเซีย โดยอ้างว่าเป็นโครงการละเมิดกฎหมายการแข่งขันและนโยบายการสร้างความหลากหลายของแหล่งพลังงาน

ในที่สุด นายปวลาดิเมียร์ ปูติน ระธานาธิบดีของรัสเซีย ได้ประกาศยกเลิกโครงการดังกล่าวในช่วงปลายปี 2557 ทำให้ประเทศตุรกีทวีความสำคัญมากขึ้น เพราะรัสเซียหันมาเชื่อมต่อการส่งก๊าซที่ตุรกีแทน โดยตั้งเป้าร่วมกับประเทศตุรกี สร้างศูนย์กลางส่งก๊าซธรรมชาติบริเวณพรมแดนติดกับประเทศกรีซที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นตุรกีที่ได้พลังงานทั้งก๊าซและน้ำมันจากรัสเซีย มาเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ด้านรัสเซียก็สามารถขายก๊าซธรรมชาติให้ลูกค้าได้มากขึ้น เพราะมีเส้นทางขนส่งพลังงานที่หลากหลาย ที่สำคัญยังรักษาบทบาด้านพลังงานในภูมิภาคด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มอีกว่า แม้ไม่มีโครงการท่อส่งก๊าซร่วมกัน แต่ตุรกีก็สำคัญต่อรัสเซียไม่น้อยในฐานะประเทศที่นำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียมากเป็นอันดับ 2 รองจากเยอรมนี และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตุรกีนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว โดยพลังงานในตุรกีที่ใช้อยู่ในปัจจุบันร้อยละ 57 มาจากก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย

ฉะนั้น เมื่อมองจากผลประโยชน์มหาศาลที่รัสเซียและตุรกีจะได้รับร่วมกัน จากความร่วมมือทางด้านพลังงาน ทำให้หลายฝ่ายมั่นใจว่าไม่น่าเกิดสงครามระหว่างสองประเทศนี้ แต่ท่าทีที่แข็งกร้าวของผู้นำทั้งสองฝ่ายที่ประชาคมโลกได้เห็นนั้น เป็นการแสดงบทบาททางการเมืองเพื่อเอาใจประชาชนและรักษาฐานเสียงของตัวเอง มากกว่าการมุ่งเน้นทำสงครามอย่างจริงจัง
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง