ปรับเพดานค่าจ้างตามฝีมือแรงงาน 6 กลุ่ม 22 อาชีพ เริ่ม 1 เม.ย.
นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลาง มีมติเห็นชอบ ให้ปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติใน 6 กลุ่ม 22 สาขาอาชีพ ตามที่คณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือนำเสนอตัวเลขผลการศึกษา เนื่องจากอัตราเดิมในบางสาขา มีอัตราค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่คณะกรรมการค่าจ้างได้มีมติปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่ม ร้อยละ 40 ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทำให้ 7 จังหวัด ค่าจ้างขั้นต่ำปรับเพิ่มเป็นวันละ 300 บาท ซึ่งมีผลในวันที่ 1 เม.ย.นี้
การปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ยึดหลักการให้ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งจะต้องสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ และการจ่ายค่าจ้างตามาตรฐานฝีมือจะต้องเป็นไปตามสภาพการจ้างงานของแต่ละสาขาอาชีพ และความสามารถในการจ่ายของนายจ้างในตลาดแรงงาน โดยอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 6 กลุ่มใน 22 สาขาอาชีพ ที่คณะกรรมการค่าจ้างเห็นชอบให้ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่
1. กลุ่มช่างเครื่องกล ให้ปรับเพิ่มขึ้น 85 บาท ในทุกสาขา/ทุกระดับ เช่น ช่างสีรถยนต์ ค่าจ้างใหม่ 400-530 บาทต่อวัน ,ช่างเคาะตัวถังรถยนต์ 420-590 บาทต่อวัน, ช่างซ่อมรถยนต์ เพิ่มเป็นวันละ 360 -530 บาทต่อวัน
2. กลุ่มภาคบริการ ปรับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 39.5 ทุกสาขา/ทุกระดับ เช่น ผู้ประกอบอาหารไทย เพิ่มเป็นวันละ 400-510 บาทต่อวัน , พนักงานนวดไทย เพิ่มเป็นวันละ 440 -720 บาทต่อวัน และนักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม สปาตะวันออก หรือ หัตถบำบัด เพิ่มเป็นวันละ 490 - 650 บาทต่อวัน
3. กลุ่มช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ ให้ปรับเพิ่มขึ้น 100 บาท ทุกสาขา/ทุกระดับ แยกเป็น ช่างซ่อมไมโครคอมพิวเตอร์ , ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร , ช่างไฟฟ้าอุตสาหกรรม , ช่างเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก และช่างอิเล็กทรอนิกส์ ซ่อมโทรทัศน์ เพิ่มเป็นวันละ 400 บาท ระดับ 2 เดิมได้วันละ 400 - 600 บาท
4. กลุ่มช่างอุตสาหการ ปรับค่าจ้างแตกต่างกันตามความสามารถในการจ่ายของนายจ้างและตลาดแรงงาน แยกเป็น ช่างเขียนแบบเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์ เพิ่มเป็นวันละ 460-670 บาท, ช่างแม็ก เพิ่มเป็นวันละ 400-600 บาท และ ช่างเชื่อมทิก เพิ่มเป็นวันละ 455-775 บาทต่อวัน
5. กลุ่มช่างก่อสร้างให้ปรับเพิ่ม 85 บาท ทุกสาขา/ทุกระดับ เช่น ช่างไม้ก่อสร้าง เพิ่มเป็นวันละ 385 - 605 บาท ,ช่างก่ออิฐ เพิ่มเป็นวันละ 345-585 บาท ,ช่างฉาบปูน เพิ่มเป็นวันละ 385-605 บาทต่อวัน และช่างอะลูมิเนียมก่อสร้าง เพิ่มเป็นวันละ 365-585 บาท
6. กลุ่มช่างอุตสาหกรรมศิลป์ ให้ปรับเพิ่มตามสภาพการจ้างงานของแต่ละสาขาอาชีพ แยกเป็น ช่างเย็บเพิ่มเป็นวันละ 320-500 บาท ,ช่างเครื่องประดับ หรือช่างเครื่องประดับอัญมณี เพิ่มเป็นวันละ 400-750 บาท , ช่างเครื่องเรือนไม้ เพิ่มเป็นวันละ 335 - 435 บาท และช่างบุครุภัณฑ์ เพิ่มเป็นวันละ 320-420 บาทต่อวัน
ทั้งนี้ การปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือในครั้งนี้ สาขาที่ปรับเพิ่มต่ำสุดคือ สาขาช่างเครื่องเรือนไม้ ระดับ 1 เดิมได้วันละ 300 บาท เพิ่มเป็นวันละ 335 บาท คิดเป็นร้อยละ 11.7 ส่วนสาขาที่ได้ปรับสูงสุดคือ ผู้ประกอบอาหารไทย ระดับ 1 เดิมได้วันละ 280 บาท เพิ่มเป็นวันละ 400 บาท คิดเป็นร้อยละ 42.9 การปรับครั้งนี้เพื่อให้ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ได้รับการขยับเพดานเพิ่มสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย.นี้ พร้อมการปรับค่าแรงขั้นต่ำ
ส่วนกรณีที่เครือข่ายแรงงานเสนอให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ในที่ประชุมไม่ได้มีการพูดคุยในเรื่องนี้ แต่เข้าใจว่า ในประเด็นนี้ได้มีความชัดเจนพอสมควร ซึ่งทุกฝ่ายเข้าใจดี และ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ไปชี้แจงและทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ใช้แรงงานซึ่งทุกฝ่ายเข้าใจดีแล้ว