ร.พ.รามาธิบดีตั้งเป้าปีนี้ปลูกถ่ายตับจากพ่อแม่สู่ลูกให้ได้ 24 คน
ในงานครบรอบ 10 ปี "รามาธิบดี ปลูกถ่ายตับจากพ่อแม่สู่ลูก" มีการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปลูกถ่ายตับในเด็ก และการดูแลผู้ป่วยเด็กในระยะยาวให้กับพ่อแม่ ผู้ปกครอง หลังพบว่า แต่ละปีมีเด็กป่วยเป็นโรคท่อน้ำดีผิดปกติ ตับแข็งระยะสุดท้าย ตับวายเฉียบพลัน โรคตับพันธุกรรม และมะเร็งตับ ที่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาโดยการปลูกถ่ายตับ 200 - 300 คน แต่สามารถเข้าถึงบริการการรักษาเพียงปีละ 10 คนเท่านั้น เนื่องจากเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง การผ่าตัดแต่ละครั้งใช้เงิน 7 แสนถึง 1 ล้านบาท และบางกรณีที่มีความซับซ้อนต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษามากกว่า 3 ล้านบาท
ขณะที่ตับจากผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตายขาดแคลน ทำให้ผู้ป่วยเด็กจำนวนไม่น้อยที่รอการปลูกถ่ายตับ ต้องเสียชีวิตไปก่อน ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงนำร่องโครงการฯดังกล่าว เมื่อ 10 ปีก่อน โดยทำการปลูกถ่ายตับให้แก่เด็กไปแล้ว 52 คน และตั้งเป้าว่าภายในปีนี้จะปลูกถ่ายตับให้ได้อีก 24 คน
นพ.สุทัศน์ ศรีพจนารถ ประธานโครงการปลูกถ่ายตับจากพ่อแม่สู่ลูก กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบปัญหาแทรกซ้อนกับผู้รับบริจาคตับค่อนข้างน้อย และไม่ถึงขั้นอันตราย โดยภายใน 1 - 2 เดือน ตับข้างซายที่บริจาคให้เด็กจะงอกขึ้นมาใหม่เหมือนเดิม ใช้งานได้ตามปกติ
ขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ขยายสิทธิประโยชน์ครอบคลุมการปลูกถ่ายตับในเด็กตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว ให้ครอบคลุมค่าปลูกถ่ายตับให้เด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ที่มีภาวะตับวายจากสาเหตุต่างๆ ตลอดจนค่ายา "กดภูมิคุ้มกัน" หลังการผ่าตัด และค่ารักษาพยายบาลอื่นๆ ในระยะยาว รวมถึงค่าตรวจและค่าผ่าตัดของผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตอีกด้วย