ทุ่งข้าวสมบูรณ์รอการเก็บเกี่ยวราว 40 ไร่ หรือ 12 ปุระ ที่เจ้าโกเมธ น้ำชุ่ม หนุ่มไทคำตี่ เมืองน้ำทราย รัฐอรุณาจัล ประเทศอินเดีย สืบทอดจากบรรพบุรุษ ให้ผลผลิตดีเหมือนเช่นทุกปี นอกจากพื้นที่จะอุดมด้วยดินดีและน้ำท่าบริบูรณ์ นาทุกผืนของชาวไทคำตี่ยังงอกงามด้วยระบบการทำนาทดน้ำ ซึ่งไม่ต่างจากระบบเหมืองฝาย โดยอาศัยคลองผันน้ำจากแม่น้ำใหญ่ และขุดดินให้เป็นร่องเพื่อชักน้ำเข้านา โดยมีประตูเปิด-ปิดตามเวลาที่ต้องการ เป็นการจัดสรรน้ำที่ดูแลจัดการโดยชุมชน
เจ้าโกเมธบอกว่า ที่เห็นคือคลองแบบดั้งเดิม ขุดขึ้นมาเพื่อผันน้ำที่อยู่ไกลออกไป โดยชาวนาใช้วิธีผันน้ำจากแม่น้ำด้วยระบบคลองแบบนี้ไปยังนาข้าวมายาวนาน นอกจากนี้ น้ำที่ผันมาจะไหลไปยังแม่น้ำสายหลักด้วยเช่นกัน
เจ้า เนเป็ง โลงเก็ง ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไทคำตี่ เล่าว่า ในอดีตคนไทคำตี่ตั้งถิ่นฐานใกล้กับแม่น้ำ โดยสร้างฝายเหนือแม่น้ำ แล้วขุดคลองประมาณ 1-10 กม. และยังสร้างคลองย่อยเพื่อให้น้ำไหลผ่านไปยังหมู่บ้านและที่นาอย่างทั่วถึง
ทุ่งนาไกลสุดตายังมีพืชพันธุ์อีกนานาชนิด ทั้งหมดงอกงามด้วยภูมิปัญญาการจัดการน้ำแบบดั้งเดิม ผสมผสานกับประตูน้ำสมัยใหม่ ซึ่งชาวบ้านร่วมกันทำหน้าที่ดูแลจัดการระบบ โดยเวลาเปิดประตูจะประกาศให้รู้ทั่วกัน ว่าจะดึงน้ำจากแม่น้ำตีแองไปใช้ ทั้งการกินใช้ ไร่ชา นาข้าว ก็ดึงน้ำจากตรงนี้
ฝายคอนกรีตสมัยใหม่ตามแบบชลประทานหลวง สร้างขึ้นมาเพื่อช่วยให้การจัดการน้ำบนพื้นที่เกษตรขนาดใหญ่ทั่วถึงมากขึ้น แต่ยังคงระบบการจัดการน้ำตามภูมิปัญญาชาวบ้านแบบดั้งเดิม
กล่าวได้ว่า วิถีเกษตรแบบใหม่และเก่าดำรงอยู่อย่างสอดคล้องกลมกลืน ทำให้ข้าวและพืชไร่ของไทคำตี่ไม่เคยขาดน้ำ ชาวบ้านในพื้นที่แห่งนี้ทำนาปีละครั้ง และการทำนาบนพื้นที่ลุ่มก็เป็นอีกเอกลักษณ์ของไทคำตี่
ไทคำตี่ เป็นหนึ่งในกลุ่มชนเผ่าไทที่อพยพจากเมียนมาเมื่อ 200 กว่าปีก่อน มาอาศัยอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ใช้พื้นที่สมบูรณ์ลุ่มน้ำพรหมบุตรเพาะปลูกพืช และมีระบบจัดการน้ำที่สืบทอดกันมาตามวัฒนธรรมทำนาแบบข้าวนาดำ ซึ่งภูมิปัญญาจัดการน้ำแบบดั้งเดิม ยังคงถูกใช้อย่างสอดคล้องกับระบบชลประทานสมัยใหม่ เป็นอีกพื้นที่เกษตรกรรมสมบูรณ์อู่ข้าวอู่น้ำของอินเดีย