ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“วีลแชร์แดนซ์” ร.ร.ศรีสังวาลย์ ก้าวข้ามความพิการและอุปสรรค ด้วยหัวใจของนักสู้

สังคม
30 ม.ค. 59
08:21
1,113
Logo Thai PBS
“วีลแชร์แดนซ์” ร.ร.ศรีสังวาลย์ ก้าวข้ามความพิการและอุปสรรค ด้วยหัวใจของนักสู้

ลีลาพริ้วไหวบนรถเข็นสำหรับผู้พิการประกอบกับแขนที่ทรงพลัง เป็นการแสดงของนักเรียนโรงเรียนศรีสังวาลย์ จ.นนทบุรี ในชื่อ "วีลแชร์แดนซ์" ที่ได้รับเชิญไปแสดงในพิธีปิดการแข่งขันกีฬาคนพิการแห่งชาติครั้งที่ 34 “บางน้ำโพเกมส์” ที่ จ.นครสวรรค์ เมื่อวันที่ 17 ม.ค.2559 ซึ่งพวกเขาทำให้สังคมได้ประจักษ์ถึงความสามารถของผู้พิการทางร่างกาย จนสร้างรอยยิ้มและเสียงปรบมือจากผู้ชมภายในงาน

นายอิทธิพล พิมพ์ชัย หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนสุขศึกษา ซึ่งเป็นครูผู้ฝึกสอนทีมวีลแชร์แดนซ์ โรงเรียนศรีสังวาลย์ หรือที่เด็กๆ เรียกว่า “ครูลี” เล่าถึงจุดเริ่มต้นของทีมวีลแชร์แดนซ์กับ “ไทยพีบีเอสออนไลน์” ว่า เริ่มจากการแข่งขันกีฬาสีประจำปีของโรงเรียน โดยการเต้นวีลแชร์แอโรบิค ก่อนจะพัฒนาไปเรื่อยๆ และเริ่มออกงานครั้งแรกในปี 2549 ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกรมพลศึกษา

ครูลีเล่าถึงการรวมตัวของนักแสดงวีลแชร์แดนซ์ว่า เด็กส่วนใหญ่จะมาขอเต้นเอง สมัครใจเข้ามาร่วมทีมเพราะความชื่นชอบ เด็กส่วนมากจะเป็นนักกีฬาอยู่แล้วจึงมีความแข็งแรงเป็นทุนเดิมและในการฝึก ครูจะให้ออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เช่น การเล่นเวท เป็นต้น จากนั้นพวกเขาจะเลือกเพลงที่ชอบและช่วยกันคิดท่าเต้น โดยใช้ทักษะในชีวิตประจำวันอย่างการเดินหน้า ถอยหลัง หมุนล้อ ตะแคงข้าง ยกตัวสูงและยกล้อหน้า ขณะที่ครูผู้ฝึกสอนซึ่งเป็นครูพละจะช่วยในเรื่องของการฝึกซ้อม การแปรรูปขบวนและดูแลความปลอดภัยให้เด็ก

 

"น้องๆ เหล่านี้หัวใจเขาเป็นนักสู้ ถึงจะเหนื่อยก็อดทน เพราะรถวีลแชร์มีน้ำหนักมาก การยกรถหรือต่อตัวจะต้องใช้กำลังมาก ยิ่งยกค้างไว้ก็ต้องเกร็งแขน ยิ่งต้องอดทน" ครูลี กล่าว

ครูลียังบอกอีกว่า กิจกรรมเหล่านี้เป็นการเติมพรสวรรค์ให้เด็กและมักจะสอนเด็กอยู่เสมอว่า ถึงแม้เราจะเป็นผู้พิการ แต่ก็ไม่ได้เป็นผู้ที่ต้องรอรับเพียงอย่างเดียว ต้องเป็นผู้คว่ำมือยื่นให้คนอื่นบ้าง นั่นก็คือการให้ความสุข ขณะเดียวกันก็ไม่อยากให้ใครมาสงสารคนพิการ แต่ควรเป็นการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้มีพื้นที่ในสังคม

"เราไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าพวกเขาจะต้องไปถึงระดับไหน เราแค่อยากให้เด็กๆ แข็งแรงมากขึ้น เราพยายามพัฒนาสิ่งที่เขามีอยู่ให้เกิดศักยภาพสูงสุดและเด็กเหล่านี้ต่างก็มีวิถีชีวิตของตนเอง บางคนมาเต้นกับเราปีนี้ ปีหน้าอาจจะเบื่อหรือไปสนใจอย่างอื่นก็ได้ เราไม่ได้บังคับว่าเขาจะต้องแสดงกับเราทุกปี" ครูลี ระบุ

 

โรงเรียนศรีสังวาลย์เป็นโรงเรียนเอกชนสำหรับเด็กพิการ เป็นของมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการ ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เด็กนักเรียนมีอายุตั้งแต่ 4-18 ปี มีตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปัจจุบันมีนักเรียนทั้งหมด 247 คน การเรียนการสอนแบ่งเป็น 8 กลุ่มสาระเหมือนโรงเรียนทั่วไป แต่จะเน้นเรื่องการทำกายภาพบำบัดด้วยเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อ นอกจากนี้ยังส่งเสริมด้านกีฬาอีกด้วย นักเรียนของโรงเรียนศรีสังวาลย์จำนวนไม่น้อยจึงเป็นนักกีฬาคนพิการที่ไปแข่งขันทั้งในระดับจังหวัด ระดับชาติและนานาชาติ

หนึ่งในครูผู้ฝึกสอนอย่าง น.ส.กลอยใจ เทพประกอบ หรือครูแจ๋ม เปิดเผยความรู้สึกกับ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ว่า ก่อนหน้านี้เคยสอนแต่เด็กที่ร่างกายปกติ แต่เมื่อมีโอกาสเข้ามาช่วยดูแลทีมจึงทำให้เป็นกังวลอยู่บ้าง เนื่องจากไม่เคยดูแลเด็กพิการมาก่อน แต่ก็เป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับตนว่าจะต้องทำอย่างไรทั้งในเรื่องการฝึกซ้อมและการดูแลเด็ก ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็เป็นเวลา 4 ปีแล้วที่ได้ร่วมเป็นผู้ฝึกสอนทีมวีลแชร์แดนซ์ของโรงเรียนศรีสังวาลย์

ในเรื่องของการฝึกซ้อม ครูแจ๋มเผยว่า จะใช้ช่วงเวลาหลังเลิกเรียนเพื่อไม่ให้กระทบกับเวลาเรียน ขณะเดียวกันเด็กก็ได้พักผ่อนด้วย ระหว่างการฝึกซ้อมครูจะต้องคอยดูแลหรือเตือนเด็กบางคนที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากบางคนมีปัญหาสุขภาวะส่วนตัว เช่น ต้องสวนปัสสาวะทุก 2 ชั่วโมง ขณะที่การฝึกซ้อมก็ขึ้นอยู่กับลักษณะความพิการของเด็กแต่ละคน เนื่องจากเด็กมีความพิการทางร่างกายแตกต่างกันไป จึงต้องปรับการแสดงตามสภาพร่างกายของเด็ก

 

"ทีมวีลแชร์แดนซ์" มีสมาชิก 8-10 คนและหลายระดับชั้น ตั้งแต่ชั้นประถมถึงมัธยม แต่ละคนก็มีความพิการทางร่างกายแตกต่างกันไป แต่นั่นไม่ได้เป็นอุปสรรคในการแสดงศักยภาพของพวกเขาผ่านกิจกรรมที่ต้องใช้ทั้งทักษะและความสามารถในการแสดงบนวีลแชร์

ด.ช.ภูชิต อิงชัยภูมิ หรือ "ทัก" อายุ 14 ปี ซึ่งมีความพิการในส่วนของแขนและขา เป็นหนึ่งในสมาชิกทีมวีลแชร์แดนซ์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมว่า เขามานั่งดูรุ่นพี่ฝึกซ้อมเป็นประจำ จนคุณครูเข้ามาชักชวนและได้ร่วมทีม การฝึกซ้อมในระยะแรกๆ ก็ติดขัดอยู่บ้างเนื่องจากยังไม่คุ้นชินและในใจก็นึกกลัว แต่ก็บอกกับตัวเองว่าต้องฝึกให้ได้เพื่อให้ร่างกายเกิดความแข็งแรง เพื่อนำไปต่อยอดในอนาคตเพราะอยากเป็นนักกีฬาทีมชาติ

ส่วนเรื่องการใช้ชีวิตในสังคม "ทัก" บอกว่า ไม่มีปัญหาอะไรและตนก็ไม่ได้นั่งวีลแชร์ตลอดเวลา บางครั้งเมื่อต้องออกไปข้างนอกก็จะใส่ขาเทียม ทำให้การเดินทางสะดวกขึ้น แต่ก็อยากให้สังคมสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการในด้านต่างๆ เช่น การทำทางลาด หรือเพิ่มห้องน้ำสำหรับคนพิการ

สมประสงค์ ศรีวรรณคำ อายุ 14 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ผู้พิการทางขา เป็นสมาชิกทีมวีลแชร์แดนซ์อีกคนหนึ่งที่มักเรียกเสียงปรบมือจากผู้ชมด้วยลีลาการเต้นฮิปฮอปบนพื้น รวมทั้งเป็นผู้ที่ต่อตัวขึ้นไปหกสูงบนรถวีลแชร์ในตอนจบของการแสดง

สมประสงค์หรือ "โชค" เล่าว่า เขากลัวการฝึกซ้อมในช่วงแรกๆ แต่เขาคิดว่าต้องทำให้ได้จึงฝึกมาเรื่อยๆ โชคบอกว่าวีลแชร์แดนซ์เป็นอะไรที่ "เหนื่อยแต่สนุก" และฝึกให้เขาเป็นคนที่กล้าแสดงออก

โชคบอกว่าการแสดงวีลแชร์แดนซ์ของเด็กพิการเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าคนพิการมีความสามารถที่จะทำอะไรได้หลายอย่าง ส่วนอนาคตนั้นเขาอยากจะเป็นช่างไฟฟ้า

 

อีกหนึ่งสมาชิกในทีมวีลแชร์แดนซ์ที่มีอายุน้อยที่สุดอย่าง "มิกกี้" ด.ช.ทศวร ทวีทรัพย์ อายุ 9 ปี ที่มีความพิการตั้งแต่กำเนิด เล่าว่า คุณครูเป็นผู้ชักชวนให้เข้ามาร่วมทีม จึงตอบตกลงเพราะเห็นว่าน่าสนุกและตัวเองก็ชอบเต้น ยังจำได้ว่าการฝึกซ้อมยกล้อหน้าวีลแชร์ในครั้งแรกก็ทำให้เขาหงายหลังลงไปนอนกับพื้น แต่ก็ไม่กลัวและไม่ท้อ เพราะมีคุณครูคอยช่วยเหลือ อีกทั้งยังได้รับกำลังใจจากครอบครัว แต่ด้วยความที่อายุน้อยที่สุดในทีม จึงมักถูกพี่ๆ หยอกล้อด้วยความเอ็นดู

ในการแสดงมิกกี้รับบทบาทเด่นและเล่นท่ายากด้วยการทำหกสูงบนวีลแชร์ โชว์พลังแขนแข็งแกร่งบวกกับหัวใจที่กล้าหาญ ไม่กลัวเจ็บ

"ไม่กลัว ไม่ท้อ สนุกดีเพราะผมชอบเต้น บางทีก็โดนพี่แกล้งบ้าง แต่ผมก็สู้นะ" มิกกี้กล่าว

เมื่อกำลังใจจากครอบครัวและคนรอบข้างเป็นสิ่งสำคัญ การให้ความรัก การดูแล รวมถึงการอยู่เคียงข้างในช่วงเวลาวิกฤตของชีวิต จึงเป็นแรงผลักดันให้เด็กที่มีความพิการทางร่างกายได้กล้าแสดงออก เผยศักยภาพและความสามารถอย่างเต็มที่

นายสาคร ทวีทรัพย์ คุณพ่อของมิ้กกี้ ซึ่งมารับลูกชายที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ เป็นประจำทุกวัน กล่าวว่า มิ้กกี้มีความสุขกับการเต้นวีลแชร์แดนซ์มากและทุ่มเทกับการฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งทุกครั้งที่มีการซ้อมในช่วงเย็นคุณพ่อก็จะมารอตลอด เพราะบ้านอยู่ไกลถึงพระประแดง จ.สมุทรปราการ แม้ว่าร่างกายของมิ้กกี้จะมีปัญหาหลายอย่าง เมื่อตอน 6 ขวบมิ้กกี้เพิ่งผ่านการผ่าตัดรักษาหัวใจรั่วที่ รพ.จุฬา และเมื่อไม่นานมานี้เพิ่งไปใส่เครื่องช่วยฟังที่ รพ.รามาธิบดี

"การเต้นวีลแชร์แดนซ์ทำให้มิ้กกี้ดีขึ้นในทุกทาง ทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ จริงๆ เขาชอบการออกกำลังกายหลายอย่าง นอกจากวีลแชร์แดนซ์แล้วก็ยังว่ายน้ำและการแข่งวีลแชร์ (wheelchair racing) ด้วย กิจกรรมทุกอย่างมีครูคอยดูแลอย่างใกล้ชิด เมื่อถึงเวลาที่ต้องพักเพื่อสวนปัสสาวะก็หยุดพักมาจัดการให้เรียบร้อย" นายสาครกล่าว

“ทีมวีลแชร์แดนซ์” ของโรงเรียนศรีสังวาลย์ ยังคงเดินหน้าสร้างสีสัน รอยยิ้มและความประทับใจให้กับผู้ชม อีกทั้งยังเป็นแรงผลักดันให้กับผู้พิการในการดำเนินชีวิต หรือแม้แต่ผู้ที่มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงด้วยเช่นกัน

 

ดวงกมล เจนจบ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง