ยึดแนวพระราชดำริ “สร้างป่าเปียกป้องกันไฟป่า”
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึง สถานการณ์ควันไฟและปัญหาหมอกควันที่เกิดจากการเผาป่าและพื้นที่การเกษตรในเขตพื้นที่ภาคเหนือว่าเป็นผลกระทบด้านลบที่มีผลเฉียบพลันต่อสุขภาพอนามัยและคุณภาพของอากาศที่ส่งผลยาวถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทุกประเทศให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ เพราะควันไฟมีสัดส่วนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด และเป็นก๊าซเรือนกระจกที่เป็นบ่อเกิดของปัญหาโลกร้อน ซึ่งต้นเหตุสำคัญของปัญหาดังกล่าวล้วนมาจากมนุษย์ทั้งสิ้น
เลขาธิการ วช. กล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้ให้ทุนวิจัยนวมินทร์ประจำปี 2555 แก่ ผศ.ดร.กอบศักดิ์ วันธงไชย และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการวิจัยเรื่อง การศึกษาศักยภาพของพื้นที่ในการป้องกันไฟป่าบริเวณแนวรอยต่อป่า เพื่อการประยุกต์สำหรับเป็นแนวกันไฟเปียก ตามแนวพระราชดำริป่าเปียกป้องกันไฟป่า ซึ่งการสร้างแนวกันไฟเปียก (wet fire break) ป้องกันไฟป่านี้ เป็นการขยายผลแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ เพื่อให้เป็นแนวกันไฟตามธรรมชาติอย่างถาวร และอาจใช้ระบบชลประทานช่วยเพื่อให้พื้นที่แนวกันไฟเกิดความชุ่มชื้น แต่พื้นที่ป่าส่วนใหญ่มีน้ำไม่พอโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง จึงต้องดัดแปลงพื้นที่แนวกันไฟ โดยการปลูกพืชที่มีลำต้นอวบน้ำ และกำจัดพืชที่เป็นเชื้อเพลิงได้ดีออกไป
ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยจะทำการศึกษาวิจัยนำร่องในบริเวณพื้นที่สวนป่าสนบ้านวัดจันทร์ อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และบริเวณศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ของมูลนิธิโครงการหลวง หากการวิจัยนี้สำเร็จจะใช้เป็นโครงการต้นแบบขยายผลสู่พื้นที่อื่น ๆ เพื่อทำให้แนวพระราชดำริ “ป่าเปียกป้องกันไฟป่า” เกิดเป็นรูปธรรมและทำให้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันของประเทศไทยทุเลาเบาบางลง