ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เอ็นจีโอ ค้านเขื่อนแม่วงก์ ทำผลาญงบฯ และทำลายแห่งดูดซับโลกร้อน

สิ่งแวดล้อม
11 เม.ย. 55
09:44
22
Logo Thai PBS
เอ็นจีโอ ค้านเขื่อนแม่วงก์ ทำผลาญงบฯ และทำลายแห่งดูดซับโลกร้อน

แถลงการณ์สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนเรื่อง คัดค้านเขื่อนแม่วงก์ที่มุ่งผลาญงบประมาณ-ทำลายแหล่งดูดซับโลกร้อน  โดย นายศรีสุวรรณ  จรรยานา ยกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยถึงการคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ ทำลายแหล่งดูดซับโลกร้อนว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 เห็นชอบข้อเสนอของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในโครงการเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์-กำแพงเพชร ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ซึ่งติดต่อกับผืนป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร พื้นที่ป่ามรดกโลกทางธรรมชาติ โดยมีข้ออ้างที่เป็นสูตรสำเร็จ คือ การป้องกันน้ำท่วม และช่วยเหลือเกษตรกรให้มีน้ำใช้เพื่อการเกษตร ทั้ง ๆ ที่ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคเหนือตอนล่างมีเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางมากกว่า 10 เขื่อนแล้ว แต่ก็มิสามารถป้องกันปัญหาน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ได้

อีกทั้งโครงการดังกล่าวคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติไม่เห็นชอบในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ไปแล้วตั้งแต่ปี 2545 และยังเสนอให้กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กลับไปศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ ในลักษณะบูรณาการมากกว่าที่จะเสนอให้มีการสร้างเขื่อนเป็นทางเลือกเดียวเท่านั้น แต่รัฐบาลยุคนี้กลับใช้ข้ออ้างปัญหาน้ำท่วมเมื่อปี 2554 มาเป็นตัวประกันเพื่อสร้างความชอบธรรมในการเร่งรีบการสร้างเขื่อนดังกล่าว โดยมิได้พิจารณาเลยว่าน้ำท่วมที่ผ่านมาเป็นความผิดพลาดล้มเหลวของรัฐบาลและหน่วยงานราชการทั้งระบบมากกว่าการไม่มีเขื่อนต่างหาก

การก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์จะทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ไปมากกว่า 13,000 ไร่ ต้องสูญเสียผืนป่าแหล่งดูดซับก๊าซที่ก่อปัญหาโลกร้อน โดยมีไม้สักหนาแน่นเป็นอันดับสองของประเทศไทยรองจากอุทยานแห่งชาติแม่ยม จ.แพร่ ซึ่งจะถูกนำมาเป็นช่องทางหาผลประโยชน์ในการทำสัมปทานไม้ที่มีมูลค่านับหมื่นล้านบาท ชักลากไม้ออกจากป่า 4-5 ปีก็ยังไม่หมด

นอกจากนั้นลักษณะเด่นของผืนป่าแม่วงก์คือ มีสภาพเป็นป่าลุ่ม ซึ่งแตกต่างจากป่าในบริเวณที่สูงกว่า เพราะเป็นที่อยู่อาศัย แหล่งน้ำ และแหล่งหากินของสัตว์ป่า โดยเฉพาะในหน้าแล้ง สัตว์ป่าบางชนิดจะอาศัยอยู่เฉพาะที่ลุ่มหรือใกล้แม่น้ำเท่านั้น ป่าที่ลุ่มในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ก็เหลืออยู่น้อยมาก หากถูกน้ำท่วมอ่างเก็บน้ำจะเป็นตัวกีดขวางทางเดินของสัตว์ป่าและแบ่งพื้นที่ป่าออกเป็นสองส่วนจึงนับว่าเป็นการสูญเสียในด้านระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพที่ประเมินค่าไม่ได้

นอกจากนั้นมีข้อที่น่าสังเกต คือ เมื่อมีการเสนอโครงการนี้ใหม่ ๆ ในปี 2528 กรมชลประทานเสนอใช้งบประมาณในการก่อสร้างเพียง 3,187 ล้านบาทเท่านั้น โดยมีความจุของน้ำเหนือเขื่อน 380 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่พอมาเดือนสิงหาคม 2554 กรมชลประทานเพิ่มงบประมาณเป็น 9,629 ล้านบาท โดยลดความจุของน้ำเหนือเขื่อนเหลือ 258 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่เพียงชั่วระยะเวลาไม่ถึง 8 เดือน กลับมีการเพิ่มงบประมาณในการก่อสร้างไปถึง 13,000 ล้านบาท

อันเป็นข้อน่าสงสัยว่าจะเป็นโครงการผลาญงบประมาณของชาติอีกโครงการหนึ่งจากเงินกู้ 3.5 แสนล้านหรือไม่ที่สำคัญโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง ซึ่งรัฐบาลต้องดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเสียก่อนโดยเฉพาะในมาตรา 57 มาตรา 58 มาตรา 66 มาตรา 85 และมาตรา 87 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่หากรัฐบาลรวบรัดดำเนินการ และใช้เทคนิคเลี่ยงขั้นตอนตามกฎหมาย สมาคมฯและชาวบ้านก็พร้อมจะใช้กระบวนการยุติธรรมตามมาตรา 60 และมาตรา 67 วรรคสาม เพื่อยับยั้งและเพิกถอนโครงการดังกล่าวแน่นอนประกาศมา ณ วันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2555


ข่าวที่เกี่ยวข้อง